รายงานหน้า2 : ส่องสเปก‘200ส.ส.ร.’ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการหลังพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเสนอโครงสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งระดับจังหวัด 150 คน และอีก 50 คน มาจากสัดส่วนของ ส.ส. 10 คน และ ส.ว. 10 คน ที่ประชุมอธิการบดีคัดเลือกจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จำนวน 20 คน และตัวแทนนิสิต นักศึกษา 10 คน

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560

ส.ส.ร.ควรมีอย่างน้อย 2 ส่วน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและไม่เห็นด้วยหากเลือกทางอ้อมโดยให้ผู้สมัครเลือกกันเอง ควรเลือกตั้ง ส.ส.ร.จังหวัดละ 2 คน เพื่อให้เพียงพอกับการทำภารกิจประชุมในส่วนกลาง และมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนในจังหวัด ดังนั้น ควรมี ส.ส.ร.จากทุกจังหวัด 154 คน สำหรับ ส.ส.ร.ส่วนที่ 2 มาจากบุคคลที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการร่างกฎหมาย ที่ผ่านมาจะมีนักวิชาการ หรือตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา หากให้เหมาะสมควรให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเสนอตัวบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายละ 10 คน ดังนั้น ทั้ง 2 ส่วนรวมกันมี 174 คน ถือว่าเพียงพอในการยกร่างให้เสร็จได้ภายใน 4 เดือน

Advertisement

จากนั้นใช้เวลาอีก 2 เดือน ส.ส.ร.ควรมีบทบาทหน้าที่ในการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเปิดเวทีก่อนมีการทำประชามติ หรือมีการดีเบต ส.ส.ร.ก็ต้องพร้อมที่จะไปชี้แจงทุกมาตรา ทุกเหตุผลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างที่ ส.ส.ร.นำเสนอ และส่วนตัวไม่ต้องการให้เป็นเหมือนการร่างครั้งที่ผ่านมา เพราะกรรมการยกร่างหลบทุกเวที ไม่ยอมดีเบตกับฝ่ายที่เห็นต่าง เพราะถือว่ามีความได้เปรียบ จากแนวโน้มของประชาชนเสียงส่วนใหญ่จะลงมติรับร่าง

สำหรับคู่ขัดแย้งจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่จัดแฟลชม็อบ หากจะเข้ามาทำหน้าที่ร่างก็ไม่ต้องกำหนดกรอบหรือคุณสมบัติด้านอาชีพ แต่มีคุณสมบัติขั้นต้นของ ส.ส.ร.ควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเหมือนที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอ ดังนั้น นักศึกษาสามารถสมัครได้ โดยผู้สมัครไม่ต้องหาเสียงเพื่อลดต้นทุนและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ให้ กกต.มีหน้าที่เผยแพร่วิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละรายให้ประชาชนรับทราบเพื่อตัดสินใจเลือก และไม่ควรปิดกั้นการสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลทางตรงจากผู้สมัคร

ภายใต้กติกานี้ทำให้มีตัวแทนของนักศึกษาเข้ามาเป็นตัวแทนของ ส.ส.ร.ได้ในจำนวนหนึ่ง ส่วนคุณสมบัติอื่นไม่ควรเขียนอะไรที่เลอเลิศเกินไป ไม่ต้องนำสเปกหรือลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.มาใช้ แต่ต้องเปิดกว้างเพื่อให้ทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมาสมัครก็พอ จะมีอาชีพหรือภูมิหลังอย่างไรได้หมด แต่ถ้าเป็นข้าราชการประจำก็ไม่ควรไปสมัคร

Advertisement

การสมัครโดยไม่ต้องหาเสียงอาจจะได้เปรียบจากพวกที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในวงสังคมหรือพวก ดี เด่น ดัง เพราะฉะนั้น ผู้สมัครก็จะต้องมีการสร้างผลงานที่ทำให้ประชาชนรู้จักในระดับหนึ่ง ทุกคนต้องประเมินตนเองได้ และ กกต.ต้องหาวิธีการเผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุด ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถทำได้ สำหรับค่าสมัครก็ควรกำหนดไว้รายละ 5,000 บาท แต่อาจเป็นภาระสำหรับนักศึกษาบ้าง เพื่อนำไปให้ กกต.ใช้เป็นต้นทุนในการช่วยหาเสียง โดยมีข้อห้าม ส.ส. ส.ว.ห้ามไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.ร. อีกข้อเสนอใครก็ตามที่เป็น ส.ส.ร.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว และผ่านการทำประชามติจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทุกรูปแบบอย่างน้อย 2 ปี เพราะผู้ร่างกฎเกณฑ์กติกาในการบริหารบ้านเมืองไม่ควรเข้ามามีผลประโยชน์ทับซ้อนจากสิ่งที่ตัวเองร่างไว้

 

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ส.ส.ร.ใหม่จะต้องมีลักษณะพิเศษกว่า ส.ส.ร.ชุดอื่น ในฐานะที่เป็น ส.ส.ร.ผู้สื่อสาร เพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดการยอมรับร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และการยอมรับจะเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีของการร่าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญร่วมกัน ดังนั้น แนวคิดจะต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสารกับสังคม และป้องกันไม่ให้ ส.ส.ร.กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองหรือบุคคลที่มีฐานการเมืองเดียวกันเข้าไปร่าง

ส.ส.ร.ผู้สื่อสารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ไม่ให้เกินไปกว่าการจัดทำร่างใหม่ และการสื่อสารกับสังคมในการเก็บเกี่ยวประเด็นต่างๆ สำหรับใน 3 ส่วนที่จะต้องออกแบบให้สมดุล ประการแรก การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่เพื่อร่วมออกแบบกติกาที่นำไปสู่ชีวิตที่ดี หรือสังคมที่ดี มีความเป็นธรรมในสังคม ทำให้ฝ่ายบริหารที่ทำงานตอบสนองต่อประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นของประชาชน ฝ่ายตุลาการและบรรดาอำนาจขององค์กรอิสระที่มีอำนาจในการควบคุมกำกับสถาบันทางการเมืองได้

ประการต่อมา จะต้องมีส่วนร่วมจากสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากกลไกในมาตรา 256 รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยฉันทามติร่วมกันทั้ง ส.ส. ส.ว. ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ เช่น อาจมีกลไกที่จะให้สมาชิกรัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้สมาชิกรัฐสภาร่วมให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประการสุดท้าย จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาจจะเป็นนักวิชาการสายกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และตัวแทนจากภาคประชาสังคม ช่วยให้การร่างอยู่ในหลักการที่ถูกต้อง ไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นกรอบแห่งความฝัน

สิ่งสำคัญในการร่างคือการนำหลักการเข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญ โดยมีหลักการคล้ายกับ ส.ส.ร.ปี 2540 อาจจะมีเพียง 100 คน ก็น่าจะเพียงพอ โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัด 1 คน มีสัดส่วนของ
ผู้เชี่ยวชาญ รวม 100 คน ส่วนกระบวนการในการเลือกตั้งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจากองค์กรที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชนหรือยึดโยงเพียงบางส่วน ทำให้ผลผลิตที่ออกมาทั้งในปี 2534 หรือปี 2560 ล้วนแต่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหานำไปสู่ทางตันทางการเมือง

สำหรับ ส.ส.ร.ที่มีการยึดโยงกับประชาชนบางส่วน หรือไม่ยึดโยงไม่ได้ตอบโจทย์ทางการเมือง ดังนั้น ส.ส.ร.ชุดใหม่ควรให้ประชาชนเลือกโดยตรง เข้าทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่กรอบการทำงานไม่ควรเกิน 1 ปี โดยมีการรับฟังความเห็นประชาชน และระหว่างดำเนินการก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองหรือระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่มีข้อยุติได้ แต่ถ้านานกว่านี้ก็อาจจะเห็นการชุมนุมที่ขยายวงกว้าง ที่สำคัญผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องให้ปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ภายในเดือนกันยายน 2563 แต่ในสภาพเป็นจริงคงทำได้ยาก แต่ถ้ามีการแสดงออกด้วยความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาด้วยการร่างใหม่ เชื่อว่าระยะเวลา 1 ปี การชุมนุมต่างๆ จะคลี่คลายลง เพราะเชื่อว่าใช้เวลาไม่นานมากนัก

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ส.ส.ร.ต้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองอย่างน้อย 1 ปี ไม่เคยเป็น ส.ส. ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหลังจากพ้นตำแหน่งแล้วไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 2 ปีเป็นอย่างน้อย ผู้สมัครอาจหาเสียงได้ในระดับหนึ่งเพื่อพูดถึงกรอบกว้างๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ส่วนกรอบอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ร.ควรจะต้องเป็น ส.ส.ร.ผู้สื่อสาร ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ลงมติเพียงฝ่ายเดียวในการประกาศใช้ แต่ ส.ส.ร.เป็นเพียงผู้ยกร่างแล้วให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องมีอีก 2 ส่วนผสมที่ร่วมให้ความเห็นขอบ คือเสียงของสมาชิกรัฐสภาและเสียงของประชาชน โดยให้เสียงที่ผ่านการทำประชามติมีน้ำหนักมากกว่าอีก 2 ส่วน ซึ่งทำให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองไม่จำเป็นต้องไปครอบงำหรือกำกับในการเลือก ส.ส.ร.เพราะท้ายที่สุดก็ต้องโยนร่างกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง

ในอนาคตการทำประชามติจะต้องไม่ทำในหลักการหรือพื้นฐานของความว่างเปล่า เหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพราะไม่มีการให้ความรู้กับประชาชนอย่างแท้จริงและประชาชนที่ทราบเนื้อแท้ของร่างรัฐธรรมนูญก็มีไม่มาก ในเวลานั้นมีการจำกัดการเสนอความเห็นต่าง เพราะร่างในช่วงที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย และสิ่งสำคัญในการร่างฉบับใหม่คือรัฐธรรมนูญต้องเป็นเครื่องมือในการจัดวางหลักความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ลงตัวในสังคม ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในรัฐธรรมนูญ ส่งผลถึงระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงในอนาคตก็จะเกิดขึ้นได้

 

อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

โครงสร้างเดิมๆ ที่เคยทำกันมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งอาจจะได้ผลลัพธ์เดิมกลับคืนมาอีก ดังนั้น หากอยากจะได้ผลลัพธ์ใหม่ ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะไม่กลับมาสู่วังวนเดิมๆ ก็ควรที่จะเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เสีย โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะถูกแทรกแซงจากการเมือง และได้คนของนักการเมืองเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตัวแทนประชาชน
จริงๆ แทบจะไม่มีโอกาสเข้ามาได้เลย เพราะระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบมาสำหรับนักการเมืองนั่นเอง หากอยากจะได้ตัวแทนของประชาชนจริงๆ ควรที่จะใช้ระบบการสรรหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยแบ่งสัดส่วนของ ส.ส.ร.ตามประชากรของอาชีพนั้นๆ แทน และใช้กลไกการสรรหาของกลุ่มแต่ละอาชีพที่ช่วยกันโหวตตัวแทนเข้ามา ขณะเดียวกันก็ขอให้นับนักเรียน นักศึกษา เข้าไปเป็นกลุ่มอาชีพด้วย เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตื่นตัวในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการด้านกฎหมาย ก็ยังมีความจำเป็น เพราะจะเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องข้อกฎหมาย ที่จะมาช่วยคัดกรองสาระสำคัญ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ที่สุดได้

ส่วนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องยึดเอาคะแนนเสียงประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาเลือกตั้ง

 

ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

รัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือการร่างผ่านทางสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงว่าองค์ประกอบและการได้มาของ ส.ส.ร.นั้นควรเป็นเช่นไร ส่วนตัวอยากให้ย้อนมองไปที่หลักการการมีส่วนร่วมและการสร้างความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ให้เป็นหัวใจหลักของการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนั้นกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเพื่อเคารพในหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่เพื่อให้เนื้อหาสาระมีความครอบคลุมทั้งในเชิงความต้องการของพื้นที่ ความถูกต้องตามหลักวิชา และสามารถสะท้อนบริบทของแต่ละกลุ่มทางสังคม องค์ประกอบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความหลากหลาย

หากให้เสนอองค์ประกอบนั้น ตนเองมองว่าควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในระดับจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดอาจมีสมาชิกตามสัดส่วนประชากร และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละจังหวัดจะรวบรวมข้อคิดเห็นภายในพื้นที่ของตนเพื่อเป็นผู้แทนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในระดับชาติ แนวทางดังกล่าวจะสามารถรวบรวมข้อเสนอความต้องการเชิงพื้นที่ของทั้ง 76 จังหวัด ในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักวิชาและสะท้อนความหลากหลายทางสังคม สภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทยสภา สภาวิศวกร หรือคุรุสภา เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคม อาทิ กลุ่มแรงงาน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มศาสนา ก็จะต้องดำเนินการเลือกผู้แทนกลุ่มของตนเองเช่นกัน เพื่อนำเอาข้อคิดเห็นจากมุมมองเฉพาะไปปรับใช้ ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวควรมีไม่เกิน 150 คน นอกเหนือจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญข้างต้นแล้ว ควรมีการตั้งคณะทำงานจากข้าราชการรัฐสภา นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแง่ของกฎหมายและหลักการทางการปกครองให้ถูกต้องครอบคลุม แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มีอำนาจในการลงมติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

แม้กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจมีความซับซ้อน และสาระที่จะได้จะมีความหลากหลาย เนื่องจากความต้องการของแต่ละกลุ่มทางสังคมย่อมไม่เหมือนกัน อีกทั้งอาจจะใช้เวลายาวนานในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองต่อทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเท่าเทียม และที่สำคัญป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนหรือคณะใดคณะหนึ่งนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image