บทนำวันศุกร์ที่11กันยายน2563 : ข่าวลือปฏิวัติ

ประเทศไทยหลังโควิด-19 มีความอ่อนไหวหลายเรื่อง คือ การชุมนุมประท้วงของนักเรียน นักศึกษา ท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลได้แปรเปลี่ยนไป และสภาพเศรษฐกิจที่รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยวมีปัญหา ส่งผลไปถึงการทำอาชีพของประชาชน ปัจจัยเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดกระแสเล่าลือถึงการรัฐประหาร ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่า “เลอะเทอะ” และถามว่า ใครจะเป็นคนทำ ส่วน ผบ.ทบ.ซึ่งเป็นผู้คุมกำลังหลัก ไม่แสดงความคิดเห็น

มีข้อสรุปมานานแล้วว่า รัฐประหารแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ เห็นได้จากการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเรื่อยๆ ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งคณะทหารระบุว่า ต้องทำเพื่อระงับสถานการณ์ที่บานปลายออกไป จากการชุมนุมของกลุ่มการเมืองในขณะนั้น และจะได้ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง แต่เป็นที่ทราบกันว่า ความยุ่งยากเมื่อปี 2557 ระงับได้ด้วยการเมือง ได้แก่ เลือกตั้งทั่วไป เพียงแต่จะยอมรับผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ ส่วนการปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า รัฐประหารไม่หมดประเทศ เกิดได้ตลอด แต่ยุคนี้มีโซเชียล คณะรัฐประหารต้องคิดว่าไม่ง่ายเหมือนเดิม ทุกคนมีทีวีเป็นของตัวเอง แม้ยึดได้ แต่อยู่ไม่ได้ รักษาอำนาจไม่ได้ เชื่อว่าจุดเปลี่ยนจะอยู่ที่การชุมนุม 19 กันยายน ความรับผิดชอบทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลซึ่งต้องรักษาความปลอดภัย ต้องอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ รถพยาบาล การตรวจตราต้องพร้อม หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องรักษาชาติให้รอด ไม่ใช่รักษาตัวเองให้รอด ส่วนผู้ชุมนุมก็ต้องระวัง ผู้ชุมนุมต้องลดเหตุที่จะถูกหยิบเหตุฉวยมาใช้ ถ้าทะลุเพดาน จะถูกหยิบมาใช้ในการรัฐประหาร

การรัฐประหารแต่ละครั้ง ทำให้ประเทศหยุดชะงัก ยังดีที่การรัฐประหารที่ผ่านมา มีการคืนอำนาจ แม้บางครั้งประชาชนต้องลงมือทวงก็ตาม แต่ครั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การคืนอำนาจเป็นไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ ล็อกอำนาจเอาไว้ให้เฉพาะกลุ่มบุคคล ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เมื่อการบริหารล้มเหลว เป็นความย้อนแย้ง ที่เป็นเงื่อนไขของการต่อต้าน ปัญหาของประเทศอยู่ตรงนี้ การรัฐประหารนอกจากไม่แก้ปัญหา ยังจะยิ่งเพิ่มความยุ่งยาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image