รายงานหน้า2 : 10ปีข้างหน้าของไทย ประเทศเดินไปทางไหน

หมายเหตุเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ในหัวข้อ “ประเทศไทยในทศวรรษหน้า” ดำเนินรายการ โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ความฝันของผม อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 10 ปี ข้างหน้า ในด้าน “การเมือง” ผมอยากเห็นประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ และเป็นกติกาที่มีการถ่วงดุลกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่าง บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผมอยากเห็นประเทศไทยทีมี่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะรวยหรือจน มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม
ในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ อยากเห็นประเทศไทยที่ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง พร้อมรับการแข่งขัน ทรัพยากรของประเทศถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ใช่ผูกขาดไว้เพียงไม่กี่ตระกูล อยากเห็นการคมนาคมสาธารณะที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงเสรีในการเดินทางด้วยต้นทุนต่ำ บริการที่ดี อยากเห็นการเอางบประมาณของรัฐมาสร้างรัฐสวัสดิการ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานมีทางเลือกในชีวิต สามารถเลือกเดิน ไขว่คว้า ตามฝันในเส้นทางที่เขาเลือกเองได้ ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ก็จะมีสวัสดิการรองรับ ทำให้คนเกษียณอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยเป็นภาระลูกหลาน อยากเห็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะนำมาสู่การจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่สร้างด้วยเทคโนโลยีของประเทศไทยเอง ให้ประเทศทะยานไปข้างหน้าโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างชาติ มีผลิตภัณฑ์ สินค้า ที่แข่งขันในระดับโลก ด้วยแบรนด์ของคนไทย
ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ผมอยากเห็นการสร้างวัฒนธรรมที่โอบรับไว้ซึ่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะด้าน วิถี เพศสภาพ วัย วุฒิการศึกษา ชาติพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งสังคมที่โอบรับได้คือสังคมที่ตระหนักว่าทุกคนมีความแตกต่าง สวยงาม และมีศักยภาพในการเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาประเทศในแบบฉบับของเขาเอง
ผมอยากเห็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความเชื่อใจ ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่า นักเรียน อาจารย์ สถาบันการศึกษา มากกว่าที่จะตั้งอยู่บนกฎระเบียบและการลงโทษ อยากเห็นการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ ศึกษาได้ด้วยตัวเองในเรื่องที่สนใจ มากกว่าเน้นการท่องจำโดยไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม อยากเห็นระบบการศึกษาที่เสริมสร้างคนให้มีความเชื่อมั่น มั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะสามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ มากกว่าการศึกษาที่ตั้งอยู่บนระบบอาวุโส ระบบเจ้ายศ เจ้าอย่าง
ผมอยากเห็นการพัฒนาประเทศ โดยตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยและของโลก มีจำกัด ต้องไม่ดึงอนาคตของลูกหลานมาใช้ แต่จะต้องพัฒนาประเทศด้วยการตระหนักว่า เรามีหน้าที่ส่งต่อโลกที่ดี ที่สวยงาม ที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป การพัฒนาที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราสามารถต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยากเห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างสมดุล อยากเห็นสวนสาธารณะที่เพียงพอสำหรับทุกคน ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย อยากเห็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีอากาศที่ดีให้ทุกคนหายใจ
ในด้านการต่างประเทศผมอยากเห็นประเทศไทยที่ยืนสง่าอยู่ในอาเซียน ไทยที่เป็นความหวังต้นแบบของประชาธิปไตย ของสิทธิมนุษยชน ของการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม อยากเห็นประเทศไทยที่มีส่วนอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาของมนุษยชาติที่การใช้พรมแดนแบบปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างชาติต่างๆ ไม่ว่าจะปัญหาผู้อพยพ โรฮีนจา ปัญหาการเสื่อมโทรมและกำลังจะพังทลายของแม่น้ำโขง ปัญหาเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลก เชื่อว่าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้ มีบทบาทอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาของโลกได้ และนั่นคือประเทศไทยที่ยืนอยู่ในสังคมนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ
แต่เมื่อพูดถึงความฝันแบบนี้ ที่อยากเห็นในประเทศนี้ เวลานี้ ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชังชาติ ทั้งที่ทั้งหมดที่เราพูดหรือทำ ไม่ใช่ความฝันของผมคนเดียว แต่เป็นความฝันของคนอีกหลายล้าน และเชื่อว่าเรามีศักยภาพพาประเทศไทย จากจุดนี้ไปจุดนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า การทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้มั่นใจ เพราะผมได้มีโอกาสทำงานในคณะกรรมาธิการ เห็นงบปี 63 และ 64 ซึ่งเห็นว่า เราจัดสรรงบอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากจัดสรรงบประมาณใหม่ จะไม่ใช่ความฝัน แต่คือความจริง เพราะเรามีทุกศักยภาพที่จะสามารถพาประเทศไทยไปสู่จุดนั้นได้ แต่แน่นอนว่า เราไปไม่ได้ หากไม่แก้โจทย์ปัญหาทางการเมือง
14 ปี จากการทำรัฐประหาร กันยายน 2549 เราเห็นการปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบิน สถานีโทรทัศน์ สี่แยกเศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวง การปิดคูหาเลือกตั้ง บอยคอตเลือกตั้ง การชุมนุมและการล้อมปราบ นำมาซึ่งการบาดเจ็บล้มตายเป็นร้อยเป็นพัน เราเห็นการยุบพรรคการเมือง เราเห็นการรัฐประหาร 2 ครั้ง เห็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ 2 ครั้ง เห็นการเอาภาษีประชาชนมาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ใกล้ชิด เพื่อเป็นเสาค้ำยันอำนาจตัวเอง เชื่อว่า 14 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่อนาคตที่ทุกคนอยากเห็น ถ้ายังปล่อยให้อนาคตเราเป็นอย่าง 14 ปีที่ผ่านมา อนาคตที่อยากเห็นจะไม่มีทางเป็นไปได้
19 กันยา 14 ปีคือโอกาสที่เราจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้น เราทำอะไรลงไปบ้าง ทุกฝักทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะกองทัพ องค์กรตุลาการ ตำรวจ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง พี่น้องสื่อมวลชน นักวิชาการ บทบาทที่พวกเราทำมาในรอบ 14 ปี ทำให้เรามาถึงทางตัน และไม่สายเกินไปที่จะตั้งต้นใหม่ ยอมรับความจริงพาสังคมไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา
ประตูแห่งโอกาสกำลังจะถูกปิดและเปิดกว้างออกในเวลาเดียวกัน ถ้าจะทำเช่นนี้ได้ ขั้นแรกสุด ต้องหยุดระบอบประยุทธ์ที่อยู่ในรูปรัฐธรรมนูญ ปี 60 ให้ได้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ ซึ่งจะหยุดได้ต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 แต่ต่อให้แก้ได้ก็เป็นเพียงบันไดก้าวแรก ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อไม่ให้ย้อนประวัติศาสตร์ 88 ปี ประชาธิปไตยไทย คือ 1.ปฏิรูประบบราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ คืนอำนาจและงบประมาณให้ต่างจังหวัด ให้เขามีอนาคตของตัวเอง 2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 3.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 4.ยกเลิกการผูกขาด ระบบเศรษฐกิจในประเทศและเปิดโอกาสให้กว้างให้ผู้ประกอบการได้แข่งขันกัน

 

Advertisement

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตนายกรัฐมนตรี

10ปีข้างหน้า จะเป็น 10 ปีที่ปะทะกันในเชิงความคิดอย่างรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่มีคนจำนวนมากมองเห็นว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยน ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมีมาก ซึ่งไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลหลายประการ
ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ 1.เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น 2.ปัญหาโลกร้อน 3.ความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าระเบียบของโลกกำลังถูกรื้อ การเติบโตของจีนที่เป็นมหาอำนาจก็เป็นการพัฒนารูปแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อหลายประเทศ ขณะที่โลกเสรีกลับกลายเป็นมีปัญหาภายในเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากผู้นำอำนาจนิยม ประชานิยม ชาตินิยม
อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำ ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อย ความจริงแล้วความเหลื่อมล้ำระหว่างและภายในประเทศ เป็นแนวโน้มที่น่ากลัวมาก กรณีประเทศไทยดูได้จากตัวเลขการถือครองที่ดิน บัญชีเงินฝาก สินทรัพย์ แม้กระทั่งปัญหาความไม่เสมอภาคในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและอื่นๆ การสำรวจรายได้ครัวเรือน 2 ครั้ง ปี 58 และ 60 เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสูงขึ้นโดยไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ เรากลับเห็นความยากจนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขรวมและเฉลี่ยเป็นภาวะปกติ ท้ายที่สุด เราเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเป็นประเทศแก่ก่อนรวย ไม่เหมือนหลายประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยก่อนหน้าเรา ที่ส่วนใหญ่จะรวยก่อนแก่ แปลว่าเราจะมีปัญหาในการดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ และระบบสวัสดิการที่ยังไม่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้
รูปธรมของการปะทะเชิงความคิด ในสังคมไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏชัดในลักษณะช่องว่างระหว่างรุ่น ดูเหมือนคนรุ่นใหม่มีความไวต่อทิศทางกระแส แนวโน้มที่เห็นและไม่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นอนาคตของพวกเขา จึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยที่สังคมและการเมืองไทยเป็นสังคมที่มีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรงมากว่า 10 ปี การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เมื่อวางทับซ้อนบนการแบ่งขั้วที่ผ่านมาจึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ ต่อต้าน ในขณะที่การเมืองไทย รอบ 6-7 ปีที่ผ่านมากลับเป็นการเมืองที่ผู้มีอำนาจยังคิดว่าจะย้อนประเทศไทยไปได้ 30 ปี เพราะรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนฉบับปี 21 และรูปแบบของการสืบทอดอำนาจ หรือการจะให้รัฐราชการเติบโตขึ้นเป็นผู้ชี้นำในการพัฒนา ย้อนกลับไปยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปะทะความคิดระหว่างรุ่นอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ซึ่งจะเป็นกรอบสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะจบลง
อย่างไร
อนาคตไม่ได้ถูกเขียนไว้ให้เรา เราจะต้องเป็นผู้เขียนอนาคต ดังนั้น การปะทะทางความคิดนี้ จะไปได้ 3 ทาง คือ 1.จะนำไปสู่การแตกหัก อาจปรากฏในแง่ความรุนแรง สูญเสีย และคงไม่มีใครตอบได้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด 2.ทางที่ต่างชาติยอมรับว่าประเทศไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญ ความหมายคือ เรามั่วๆ กันไป แล้วก็ผ่านไปได้ เป็นวัฏจักรอย่างที่เราทำกันมาหลายสิบปี อาจมีรัฐประหาร เขียนรัฐธรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่วนไปวนมา เป็นอีกทางที่มีความเป็นไปได้ และ 3.ทางที่คนส่วนใหญ่อยากเห็น คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะยอมรับความแตกต่าง ที่จะต้องหาช่องทาง วิธีการ รูปแบบที่ทำให้คนทุกฝ่ายในสังคม หาจุดร่วมเสียใหม่แล้วเดินไปด้วยกัน ถามว่าเราจะไปทางไหน

 

Advertisement

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรองนายกรัฐมนตรี

ประเทศไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา เราจะพบการพัฒนาหลายด้านหยุดชะงัก เป็นไปอย่างเชื่องช้า การเติบโตทางเศรษฐกิจเราอยู่อันดับท้ายๆ ของอาเซียน เมื่อเจอกับโควิด-19 ยิ่งถดถอยอย่างมาก สิ่งที่ประเทศไทยเคยพึ่งพาอาศัยมาตลอด คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว จะขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรังและจะถูกซ้ำเติมด้วยโควิด คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำที่เราเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และใน 10 ปีมานี้ ปัญหาคือ ความขัดแย้งต่อเนื่อง เป็นการชักเย่อเพื่อดึงประเทศถอยหลังและไปข้างหน้า ถามว่าเราอยากเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะได้ในสิ่งที่อยากเห็น หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงสถานการณ์โควิด-19 เพราะองค์การอนามัยโลกบอกว่า เราอาจจะต้องอยู่กับโควิดไปอีก 3-4 ปี แล้วจะรับมืออย่างไร
เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากระบบการเมือง การปกครองเป็นอยู่อย่างนี้ เราบอกว่าต้องการขจัดการผูกขาด รัฐบาลมีความใกล้ชิดกับทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดอยู่ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เราต้องการแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค กฎหมายที่ออกมาเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เวลานี้รัฐสภาโดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้ ตลอดอายุของสภาอาจจะออกฎหมายได้ไม่กี่ฉบับ แล้วจะแก้กฎหมายได้อย่างไร เราอยู่กับรัฐบาลที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เราต้องการการบริหารที่คิดยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่เรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มันขัดแย้งกันอย่างมาก นำไปสู่ปัญหาว่า ถ้าจะเปลี่ยนรัฐบาล ก็ไม่ได้ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นเช่นนี้อยู่ เปลี่ยนอย่างไร ยุบสภา เลือกตั้ง 250 คนก็เลือกอย่างเดิม คืออุปสรรคมาตลอดและเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่ประเทศจะปรับตัว คือสิ่งเดียวกันกับที่นักเรียน นักศึกษาเสนออยู่ เขาเห็นว่าปัญหาจากในสถานศึกษาและระบบการศึกษามีปัญหา เขาเกิดการตื่นรู้ เห็นปัญหาบ้านเมืองว่าประเทศหากเป็นอยู่เช่นนี้จะไม่มีอนาคตสำหรับเขา และสำหรับประเทศ เราอยู่ในทางสองแพร่งว่าประเทศนี้จะเดินอย่างไร อาจจะอยู่กับการไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรืออยู่กับการกด ปราบการเคลื่อนไหวต่างๆ หรือทำรัฐประหาร ซึ่งจะยิ่งถอยหลังไปกันใหญ่ สิ่งที่เสนอนี้ก็จะทำไม่ได้ และประเทศจะจมปลักอยู่กับความล้าหลัง ประชาชนเดือดร้อน เสียหาย กลับมาสู่วังวนความขัดแย้ง ยืดเยื้อต่อไปอีก 10 ปี
10 ปีข้างหน้าควรเป็น 10 ปีที่มีการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการหารือของหลายฝ่าย ให้การเมืองไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา การเมืองเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา และเป็น 10 ปี ของการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย ให้ระบบที่ดีส่งเสริมประเทศให้พ้นจากวิกฤตใหญ่หลวง สู่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image