รายงาน : วิกฤต การเมือง วิกฤต ตุลาคม 2563 จาก รัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่เคยมี “กรรมาธิการ” เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาแล้ว
ชุดหนึ่งซึ่งมี นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน

พรรคพลังประชารัฐก็ยังดัน “กรรมาธิการ” แบบเดียวกันนี้ขึ้นมาอีก

ในเบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ทำท่าว่าจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อผ่านการหารือระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์ก็กลับลำ

Advertisement

จะเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่จำเป็นต้องย้อนไปยังยุคของ นายควงอภัยวงศ์ ที่เด้งรับเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

ขอให้ดูจากกรณีของ “มาตรา 272”

ตอนแรกมี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากถึง 17 คน มาร่วมลงชื่อกับพรรคก้าวไกล แต่คล้อยหลังจากนั้นกลับถอนชื่อ

Advertisement

ต่อกรณี “รัฐธรรมนูญ” นี้ก็เช่นเดียวกัน

กระบวนท่าจัดตั้ง “กรรมาธิการ” เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 6 ฉบับอันผลักดันโดยพรรคพลังประชารัฐและส.ว.มีความเด่นชัด

เด่นชัดในความเป็น “หนึ่งเดียว”

นั่นก็คือ การดำรงอยู่ของ 250 ส.ว.
มีเป้าหมายเพื่ออะไร นั่นก็คือ การจัดตั้งและการดำรงอยู่ของพรรคพลังประชารัฐมีเป้าหมายเพื่ออะไร

คำตอบย่อมเป็น “ระบอบประยุทธ์”

เป็น “ระบอบประยุทธ์” อันยึดโยงอยู่กับกระบวนการ “รัฐประหาร” เป็น “ระบอบประยุทธ์” อันมี “รัฐธรรมนูญ” เป็นกลไกและเครื่องมือ

เครื่องมือในการสืบทอดและเผด็จ การ “อำนาจ”

คำถามอยู่ที่ว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบ”

ระบอบอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ยึดกุม

เหมือนกับกระบวนท่าที่ผลักดัน “กรรมาธิการ” จะเป็นกลยุทธ์อันนำไปสู่ชัยชนะ เพียงแต่ชัยชนะนั้นมี
เป้าหมายอยู่ที่การเตะถ่วง ซื้อเวลา

กลยุทธ์นี้มิได้เป็นของใหม่อย่างชนิดถอดด้าม

ตรงกันข้าม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะสมกระทั่งกลายเป็นความจัดเจนต่อเนื่องมาจากในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และนำมาใช้ในห้วงหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

เพียงแต่ในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อำนาจยังอยู่ในกำมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

แต่หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ไม่ใช่แล้ว

อย่างน้อยก็ได้เกิดปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ได้เกิดปรากฏการณ์ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”

การประท้วงในวันที่ 24 กันยายน จึงเกิดขึ้นอย่างคึกคัก หนักแน่น

กระบวนท่า “ซื้อเวลา” การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านกรรมาธิการอาจทอดเวลาเนิ่นนานไปได้อีก
1 เดือน แต่ภายใน 1 เดือนนี้จะยิ่งมากด้วยวิกฤต

เป็นวิกฤตจาก “เยาวชนปลดแอก”

เป็นวิกฤตที่ภายในระบบรัฐสภาจะพบกับการรุกไล่ของฝ่ายค้าน ขณะที่บนท้องถนนจะอื้ออึงด้วยการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน

นี่ย่อมเป็นวิกฤตเดือนตุลาคม 2563 อย่างเด่นชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image