รายงานหน้า2 : มุมมองนักวิชาการ‘เพื่อไทย’จัดทัพใหม่ แนะชูสู้ศก.-อุดมการณ์ž

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ปรับโครงสร้างและทีมกรรมการบริหารพรรคใหม่ ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการเมืองในอนาคต

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พรรคเพื่อไทยวันนี้เหมือนเหล้าเก่าที่เอามาบรรจุขวดใหม่ เพราะมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างทีมเดิมกับทีมใหม่ และส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเก่า จึงไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นพรรคการเมืองที่พยายามแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ชูธงในเรื่องของอุดมการณ์
ขณะที่พรรคก้าวไกลจะมีแนวทางการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่ชัดเจนกว่าพรรคเพื่อไทย ขณะนี้มีพรรคอื่นที่ชูแนวทางการต่อสู้อุดมการณ์ล้ำหน้าไปแล้ว และได้ใจมวลชนไปมากพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ วันนี้กระแสในการชูธงเรื่องอุดมการณ์เพื่อแสวงหาแนวร่วมใหม่ สูงกว่าการพูดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่มีพลังเหนือกว่าฝ่ายค้านพรรคอื่นแทบทุกด้าน ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ในสภาดูเหมือนเป็นพระรอง เพราะถูกมองว่าอาจชกไม่เต็มหมัด มีอาการเครื่องหลวม ช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการต่อสู้นอกสภา
ต้องจับตามองว่าการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคมนี้ บทบาทพรรคเพื่อไทยจะแสดงสถานะหรือจุดยืนอย่างไร เพราะประเมินดูแล้วหลายฝ่ายมองว่าพรรคอาจจะแยกตัวออกมาจากการชุมนุม ไม่ต้องการทำให้เห็นว่าจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน หรืออาจจะกลัวโดนยุบพรรค
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค มักจะมีการพูดถึงชื่อของคุณหญิงอ้อ (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ) ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคมีความจงรักภักดี ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับบางเรื่อง ทั้งที่คุณหญิงอ้ออาจอยู่ในสถานะของผู้สนับสนุนเท่านั้น คงไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องมานั่งประกบใคร
ในระยะสั้นหลังปรับปรุงพรรค จะต้องมีความชัดเจนในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรปล่อยให้พรรคก้าวไกลมีวิธีคิดที่ล้ำหน้าไปมากกว่า แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะทำเรื่องรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการเสนอแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจ ด้วยแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีความแตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ
ต้องยอมรับความจริงว่าหากรัฐธรรมนูญยังเหมือนเดิม ฉบับเดิม พรรคเพื่อไทยก็ยังทำได้เพียงเท่านี้ การปรับปรุงพรรคก็ทำเพื่อหวังลดกระแสความขัดแย้งในพรรค ขณะที่กลุ่มแคร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงของพรรค ที่เคยถอยห่างออกไปก็ควรกลับมาทำงานร่วมกัน และอย่าพยายามสร้างปมขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีก ปรับแล้วควรทำให้เห็นว่ามีเอกภาพ
อย่าลืมว่าเร็วๆ จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น อย่ามองไปไกลว่าพรรคเพื่อไทยจะมีแตกแบงก์พันก่อนเลือกตั้งใหญ่อีกหรือไม่ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะมีการแตกแบงก์ย่อยแน่นอน
กรณีพรรคเพื่อไทยจะไปร่วมรัฐบาลเร็วๆ นี้คงไม่มี ยกเว้นมียุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะถ้าหากไปร่วมตอนนี้จะเข้าข่ายถูกกล่าวหาว่าจะทรยศกับประชาชน ไม่รักษาอุดมการณ์ แต่หลังมีการเลือกตั้งใหม่ หากพรรคเพื่อไทยได้เข้าร่วมจริง ในเงื่อนไขที่อาจมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯด้วย ก็มีความเป็นไปได้

 

Advertisement

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังเปลี่ยนโครงสร้างพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าจะตั้งเป้าทำงานทั้งด้านการเมืองและในแง่อุดมการณ์ เพราะความโดดเด่นของพรรคในอดีต จะเห็นการทำงานด้านเศรษฐกิจ การผลิตชุดนโยบายที่น่าสนใจ ดังนั้น ขณะนี้พรรคจะต้องชูจุดเด่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องส่องไฟให้ชัดเจน มีประเด็นที่แม่นยำยิ่งขึ้น
ขณะที่การขับเคลื่อนในเชิงอุดมการณ์ยอมรับว่า มีหลายพรรคที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจพรรคอื่นยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
สำหรับพรรคเพื่อไทยยังสามารถดึงบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้ แม้ว่ากติกาในรัฐธรรมนูญยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ที่ผ่านมาไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ดังนั้นพรรคต้องปรับแนวทางต่อไปในอนาคต หากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ พรรคจะทำอย่างไรให้คนที่มีความสามารถเข้าไปทำงานในสภาให้ได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต้องดึงบุคคลที่มีศักยภาพและทำให้พรรคโดดเด่นมาทำงานเป็นทีม กำหนดประเด็นที่ชัดเจนไปสู่สังคมให้มากขึ้น
ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยค่อนข้างเสียเปรียบพรรคก้าวไกลในเรื่องข้อมูล และการสื่อสารในรูปแบบใหม่ จึงเป็นโจทย์ให้พรรคเพื่อไทยต้องจัดวางตัวบุคคล การทำหน้าที่ เพื่อจัดทำศูนย์การผลิตนโยบายที่จริงจัง หรือมีศูนย์วิจัยเพื่อเก็บข้อมูลจาก ส.ส.เขต ที่เป็นปัญหากลับขึ้นมากำหนดแนวทางการทำงาน เพื่อแสดงให้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากโควิด หรือสงครามการค้าทั้งหมด สามารถปรับปรุงเพื่อให้มีศักยภาพได้
นอกจากนั้นพรรคควรจัดวางดุลอำนาจให้เหมาะสมระหว่าง ส.ส.เขตกับบุคคลชั้นนำภายในพรรคที่ทำงานนอกสภา แต่ควบคุมยุทธศาสตร์และนโยบายพรรค เรื่องนี้จำเป็นมาก ดังนั้น ส.ส.เขตจึงมีหน้าที่สะท้อนปัญหา ส่งกลับเข้ามาเพื่อแก้ไขในทีมที่มีหน้าที่พัฒนานโยบาย อาจตั้งกลุ่ม ส.ส.ระดับภูมิภาค พยายามเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
รวมทั้งพรรคควรเปิดพื้นที่กับคนรุ่นใหม่มากขึ้นเพื่อทำงานผสมผสานกับผู้ใหญ่ในพรรค แม้ที่ผ่านมาเคยทำในบางเรื่อง แต่ประเด็นไม่แหลมคมเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจุบันการตื่นตัวทางการเมืองไม่ได้มีเฉพาะระดับรากหญ้าที่เป็นฐานสำคัญของพรรค แต่ยังมีเยาวชน คนชั้นกลางตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีความสนใจทางการเมือง พรรคควรขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้คนกลุ่มนี้ร่วมทำงานมากกว่าในอดีต
การปรับพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ หากระบบดีก็จะดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถให้เข้ามาอยู่ในพรรคเพื่อให้มีบทบาทมากขึ้น แต่เชื่อว่าพรรคจะจัดทัพใหม่อีกรอบจะมีก่อนการเลือกตั้งเพื่อวางตัวบุคคลระดับนำให้ชัดเจน แต่ต้องทำอย่างรัดกุมและมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันให้มากที่สุด

 

Advertisement

ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การรีโนเวตพรรคเพื่อไทย ไม่ได้สะท้อนปัญหาหรือการถดถอยของพรรคแต่อย่างใด ภาพการลาออกจากตำแหน่งในพรรคของตัวแสดงสำคัญหลายคนพร้อมกัน สะท้อนให้เห็นทิศทางที่ถูกวางแผนและรับลูกระหว่างกันเป็นอย่างดี หากมองในอีกมุมหนึ่ง คือการส่งสัญญาณกระชับพื้นที่และการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคเพื่อไทยมากขึ้น
กระแสข่าวการเข้ามามีบทบาทคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของพรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับครอบครัวการเมืองนี้ การเข้ามาแสดงตัวของคุณหญิงพจมานเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย เพื่อตอกย้ำถึงอิทธิพลและการคงอยู่ของกลุ่มการเมืองหลักของพรรคเพื่อไทย นัยนี้เป็นการสะท้อนพละกำลังในการควบคุมกลุ่มก้อนภายในพรรคได้เป็นอย่างดี เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคไปในตัวด้วย
เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากการปรับกระบวนทัพใหม่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พรรคดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารภายในพรรค นับตั้งแต่การย้ายของสมาชิกบางส่วนไปสู่พรรคการเมืองใหม่ การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการขยายบทบาทตัวแสดงภายในพรรคที่จะร่วมกับการเมืองภาคประชาชน
ขณะเดียวกันกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเป็นตัวแสดงหลักในการเตรียมการสู้ศึกสำหรับการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและหากเกิดการยุบสภากะทันหัน
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือการสร้างจุดยืนและกำหนดเป้าหมายทางการเมืองให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยค่อนข้างดำเนินการในลักษณะระมัดระวัง พยายามประสานประโยชน์มากจนเกินไป อาจยิ่งทำให้มวลชนหลักที่สนับสนุนพรรคลดความเชื่อมั่นลงจนไม่สามารถรักษาฐานเสียงของตนไว้ได้ เพราะฉะนั้น การเน้นจุดยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นเพียงหมุดหมายเดียวที่ทำให้พรรคเพื่อไทยยืนอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์

 

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เมื่อพรรคเพื่อไทยปรับโครงสร้างใหม่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ สร้างจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ต้องปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์พรรค เนื่องจากปัจจุบันการเมืองไม่เหมือนในอดีต บริบท กติกา สภาพแวดล้อม รวมทั้งภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยประสบความสำเร็จในอดีตโดยใช้การตลาดทางการเมือง ปัจจุบันอาจจะไม่สามารถเดินต่อไปได้ ความสำเร็จทางการเมืองในยุคนี้จึงเป็นเรื่องการเมืองเชิงอุดมการณ์ และการเมืองในเชิงอัตลักษณ์เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่มเข้ามาสัมผัสกับพรรค เพราะฉะนั้นพรรคควรปรับโครงสร้างให้สอดรับการปรับเปลี่ยน กรรมการบริหารพรรคมีการกระจายตัวไปทุกกลุ่ม เน้นการมี ส.ส.เขตและทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาชัดเจน และมีแคมเปญผนึกกำลังเพื่อไทยอีกครั้ง ถือว่ามาถูกทาง
แต่หลังจากนี้ต้องสร้างกลไกให้ผู้คนเข้ามาร่วมกับพรรคเพื่อขยายฐานมวลชนมากขึ้น ทำให้พรรคมีความเป็นสถาบันทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถูกผูกติดอยู่กับตัวบุคคลเป็นหลัก เมื่อไม่มีบุคคลที่มีภาวะผู้นำสูง ทำให้พรรคเดินต่อได้ยาก วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือการวางระบบที่ดี ต้องมีสภานโยบายพรรค เหมือนพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ให้กับประชาชนทุกระดับ สมาชิกพรรค ผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยมีระบบที่ดี สามารถขับเคลื่อนได้ ไม่ต้องอิงกับตัวบุคคล
สำหรับภาพของพรรคที่ถูกมองว่ามีเจ้าของ อาจคิดไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร หรือคนในตระกูลชินวัตร เป็นภาพลักษณ์ที่ติดกับพรรคมาตลอด 20 ปี ไม่สามารถสลัดภาพของคุณทักษิณ หรือคนในตระกูลได้ ดังนั้นวันนี้ถึงเวลาที่พรรคต้องสร้างกลไกและระบบที่ดีจะทำให้ภาพเลือนหายไป เช่น ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของคุณหญิงพจมาน ถูกสังคมหยิบโยงไปเกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องพยายามสร้างกลไกมาทดแทนตัวบุคคล
การที่พรรคเพื่อไทยชูประเด็นเศรษฐกิจขึ้นมาส่งสัญญาณว่าพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง ขณะเดียวกันพรรคไม่ได้ทิ้ง ส.ส.เขต จึงมอบสัดส่วนตำแหน่งในพรรคให้กับ ส.ส.เขต เชื่อว่าหากจะมีการเลือกตั้งจริงจะต้องปรับทัพครั้งใหญ่และกำหนดยุทธศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกับระบบเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image