รายงานหน้า2 : เอกชนมองศก.โค้งสุดท้ายปี’63 รบ.จัดโปรฯยังไม่แรงพอ ลุ้นเลือก‘อบจ.’ช่วยกระตุ้น

หมายเหตุความเห็นจากภาคเอกชนถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ประกอบกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนธันวาคมนี้ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 ที่รัฐบาลออกมาตรการ อาทิ เพิ่มเงินสวัสดิการคนจน 500 บาทต่อสิทธิ ช้อปดีมีคืน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่งนั้น ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่ในระดับหนึ่ง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น จากปี 2562 ที่ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น อย่างน้อยๆ รัฐบาลจะต้องกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศใกล้เคียงกับรายได้ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ มองว่ามาตรการของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นในระยะสั้น หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องออกมาตรการให้ตรงกับพฤติกรรมของประชาชนที่มีความเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น เพราะถึงแม้จะออกมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่ายออกมาแต่ถ้าไม่มีการลดราคา หรือลดแลกแจกแถมผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน แต่มองว่ารัฐบาลเริ่มมาถูกทางแล้ว
สำหรับข้อเสนอแนะในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐยังต้องทำอย่างต่อเนื่องคือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ต้องงัดทุกมาตรการที่มีหรือหามาตรการใหม่ๆ มาประคองให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง อาทิ การช่วยเหลือให้เกิดการสร้างกลุ่มธุรกิจในแต่ละพื้นที่ และทำให้เกิดการจ้างงานกลุ่มคนตกงานที่กลับภูมิลำเนา
ส่วนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น มองว่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องมีการหาเสียงประชาสัมพันธ์ โฆษณานโยบายต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงต้องคนที่จะมาเป็นผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ จะต้องดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริหารงาน และส่งผลให้เกิดการสร้างโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่มากขึ้นอีกด้วย
ส่วนกรณีม็อบในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกจับตาดูการทำงานของรัฐบาลอยู่ รวมทั้งมองว่าผู้เข้าชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความรู้ ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างแต่เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นแน่นอน จากการคาดเดาสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ภาคเอกชนยังไม่มีความกังวล และเชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจัยลบส่วนใหญ่ที่กังวลคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2

Advertisement

 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง หอการค้าไทย

ช่วงไตรมาสสุดท้าย รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ 1.เพิ่มวงเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท 14 ล้านคน ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 งบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท 2.โครงการคนละครึ่ง 10 ล้านคน ภาครัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน ไม่เกิน 3,000 บาท/คน ที่จะเริ่มกลางเดือนตุลาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคมวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท และอีก 30,000 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมโครงการจ่าย รวมเม็ดเงินเข้าระบบ 60,000 ล้านบาท
3.โครงการช้อปดีมีคืน โดยให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงหนังสือ และสินค้าโอท็อป ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท เริ่ม
วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม คาดว่ารัฐบาลจะจ่ายชดเชยภาษีประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท แต่มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.2 แสนล้านบาท จากการใช้จ่ายของประชาชน 4 ล้านคน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี
ส่วนการจัดให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรทำเป็นอันดับแรก เพราะการเลือกตั้งทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดภายในพื้นที่อย่างแท้จริง ควรจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ระยะแรกๆ ด้วยซ้ำ เนื่องจากภาครัฐแทบไม่ต้องใช้งบประมาณมากนัก และการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นมานาน 6-7 ปีแล้ว
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะเกิดการใช้จ่ายในการซื้อรถใหม่ จ้างรถหาเสียง ติดตั้งป้ายหาเสียง การลงพื้นที่หาเสียง ซึ่งเป็นการสร้างเม็ดเงินสะพัดในรูปแบบที่รัฐบาลแทบไม่ต้องลงทุนอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่หาโอกาสในการกำหนดว่าจะเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐ แต่มองว่าควรต้องเร่งให้เกิดขึ้น
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 มองว่าอาจไม่ได้ดีกว่าปี 2563 มากนัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือว่ากินสัดส่วนค่อนข้างมากในจีดีพีรวม
จากสถานการณ์ขณะนี้ การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล อาจไม่เพียงพอในการรับมือกับวิกฤตผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่สามารถรู้ได้ว่า จะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศหรือไม่ เพราะประเทศเพื่อนบ้านติดโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาตามชายแดนไทย หากเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในรูปแบบการกักตัวเพียง 7 วัน น่าเป็นห่วงมาก เพราะที่ผ่านมามีผู้กักตัวบางรายพบเชื้อในวันที่ 14 หรือพบเชื้อในช่วงหลังๆ จึงน่าเป็นกังวลมาก ไม่ได้ต้องการให้ตื่นตระหนกมากเกินไป แต่ควรระวังไว้ให้มากที่สุด

Advertisement

 

อาร์ม วงศ์อำไพพิสิฐ
เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี

มาตรการของภาครัฐ ทั้งโครงการจ่ายคนละครึ่ง 3 พันบาท เพิ่มเงินสวัสดิการคนจนอีก 500 บาท เป็นการเติมเงินลงมาช่วยฐานรากให้มีการใช้สอยได้มากขึ้น แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานให้ประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องการพักชำระหนี้ และกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพื้นที่ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพราะแม้จะมีเงินซอฟต์โลน แต่เข้าถึงได้ยากมาก รัฐควรคำนึงว่าเงินให้ลงไปควรมีการวางแผนจะมีผลมาอย่างไร หรือเกิดรายได้กลับมาได้อย่างไร เงินจะได้หมุนเวียนเข้ามาในระบบทั้งหมด
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเงินที่ออกจากภาครัฐ ควรให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วและควรสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เช่น จัดประชุมสัมมนาที่เกาะสมุย จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการแบกดอกเบี้ย สามารถอยู่ได้และไปต่อยอดกระตุ้นการซื้อวัตถุดิบ เกิดการเงินหมุนเวียนในจังหวัด
ส่วนการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้ น่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะผู้จัดชุมนุมไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ขณะนี้คนสนใจเรื่องปากท้องมากกว่า

 

สมชาย สินมา
นักธุรกิจและคณะทำงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการจ่ายคนละครึ่ง 3 พันบาท เพิ่มเงินสวัสดิการคนจนอีก 500 บาท ถือเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายระดับรากหญ้า กลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ อย่างน้อยที่ไม่เคยมีรายได้ในช่วงนี้ก็ได้เงินจากรัฐมาเติม
ส่วนการช้อปดีมีคืน ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เคลื่อนไหลเฉพาะกลุ่มเพื่อนำเงินมาใช้ ยังดีที่ภาคใต้ราคายาง ราคาปาล์มน้ำมันที่ขยับราคาขึ้นได้มาต่อลมหายใจได้ ซึ่งล่าสุดราคาปาล์มกิโลกรัมละกว่า 4 บาท
สิ่งที่อยากให้ทางรัฐบาลทำคือจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมได้มาก เพราะเป็นการให้ผู้สมัครเลือกตั้งได้นำเงินออกมาใช้จ่าย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับพร้อมกันทีเดียว ถ้าจัดได้น่าจะลองทำดูเชื่อว่าน่าจะทำได้ให้ประชาชนออกมาเลือก ออกมาใช้สิทธิกันมาก

 

วีระยุทธ สุขวัฑฒโก
ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ

มาตรการของรัฐบาลหลายต่อหลายโครงการ ทั้งเที่ยวด้วยกัน โครงการจ่ายคนละครึ่ง 3,000 บาท เพิ่มเงินสวัสดิการคนจนอีก 500 บาท หรือช้อปดีมีคืน ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลต้องทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังให้คนไทยเที่ยวไทยให้ได้ แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง เท่าที่ติดตามก็กระตุ้นขึ้นมาได้เล็กน้อย ไม่เต็มที่ตามเป้าที่รัฐบาลมุ่งหวังหรือต้องการ เพราะเงินในกระเป๋าซ้ายไม่มี ต่อให้จ่ายครึ่งเดียว แต่ความรู้สึกคนไม่อยากไปเที่ยว
ถามว่ามาตรการที่ออกมาได้ผลหรือไม่ ก็ได้นะ แต่ได้ครึ่งเดียว ก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นไตรมาสที่ 4 ก็ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับได้ 100% ได้มาครึ่งเดียวจากที่หวัง เพราะกระเป๋าซ้ายยังไม่มีดึงมาใช้ ช่วงนี้เศรษฐกิจปัญหาเยอะมาก เพราะคนรายได้น้อยลง ถูกลดวันทำงาน ทำให้ไม่มีแรงจูงใจจะออกไปเที่ยว ยกเว้นคนระดับบนที่มีกำลังพอที่จะไปได้เท่านั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายปลายปียังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเหนื่อย
ส่วนการเลือกตั้ง อบจ.สิ้นปีนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ก็ต้องซื้อเสียงกันเยอะ อาจจะ 500-1,000 บาท จึงจะทำให้เศรษฐกิจกระจายไปได้ เพราะในแง่ของป้ายหาเสียง หรือจัดเวทีตามพื้นที่ต่างๆ ก็จะเป็นเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และเป็นเม็ดเงินเล็กน้อย ไม่มาก แต่ก็เชื่อว่านักการเมืองไม่กล้าจ่าย ที่จะหวังได้คือการได้นักการเมืองรุ่นใหม่มาแทนที่คนเก่า
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้ คือ การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา เพราะกำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่ว หลังเงินเยียวยาหมด แต่ต้องมาดูมาตรการให้รัดกุม จะมากักตัว 7-14 วันไม่ได้ ใครจะมาแล้วนอนอยู่ในที่พักเฉยๆ แบบนั้น
ทางที่ดีคือเราต้องทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเร็วๆ แต่ต้องเลือกประเทศ คือ คัดกรองแล้วว่าปลอดภัย มาแล้วไม่เสี่ยง มีใบรับรองแพทย์แนบมาด้วยว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 แน่นอน หลังการกักตัวที่ประเทศนั้นๆ 14 วัน หรือ 21 วันแล้ว เมื่อขึ้นเครื่องตรวจไม่มีไข้ก็อนุญาตให้มาได้ ลงเครื่องแล้วเราก็มีมาตรการคัดกรองซ้ำว่า มีไข้ก็ต้องกักตัว แต่ถ้าไม่มีไข้ก็ปล่อยผ่านออกไปได้เลย น่าจะดีกว่าให้มากักตัวในบ้านเรา
ส่วนประเด็นการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ไม่น่า
จะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะเท่าที่ตามดูเป้าหมายไม่ชัดเจน และไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image