ส่อง ‘รบ.-ฝ่ายค้าน’ ศึกชิง ‘76นายกอบจ.’

ศึกชิงนายก อบจ. – หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหนังสือแจ้งมติ ครม.เห็นชอบให้มี การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มายังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นลำดับแรกของการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

จะเริ่มจากสนามเลือกตั้ง อบจ.ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 นี้ หลังจากสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561

แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

โดย กกต.วางไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไว้เบื้องต้น โดยความเป็นไปได้มากที่สุด คือ วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.

Advertisement

ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.ทั่วประเทศในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนและตัวชี้วัดในคะแนนนิยม ความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของประชาชน

ผู้สมัครอิสระ ผู้สมัครสังกัดพรรค การเมือง รวมทั้งผู้สมัครจากกลุ่มการเมือง จะต้องพลิกกลยุทธ์สุดเหวี่ยง เพื่อคว้าชัยในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้

การชิงชัยสนาม อบจ.ในครั้งนี้ ยังเป็นดัชนีกระแสความนิยมของพรรคการเมือง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่มี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำ

กับพรรคที่มิใช่รัฐบาล ที่มี พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นหัวหอก รวมทั้งกลุ่มการเมือง อย่าง “คณะก้าวหน้า” ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล 2 เพื่อนซี้ ที่ปลุกกระแสอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) คว้าชัยในศึกเลือกตั้ง ส.ส. มาได้ถึง 81 เสียง มากเป็นพรรคอันดับ 3 เป็นรองเพียงแค่ พรรค พท.และพรรค พปชร.

โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่ง ธนาธร” ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ชิงประกาศความพร้อมลงพื้นที่ เฟ้นตัวผู้สมัครสู้ศึก อบจ.มาก่อนใครเพื่อน

พร้อมประกาศตัวผู้สมัครชิงนายก อบจ.ทั้ง 32 จังหวัด ในเบื้องต้นก่อน

โดย ธนาธร” บอกว่า ตอนนี้คัดเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ได้ 32 จังหวัดแล้ว เหลืออีก 7 จังหวัด กำลังอยู่ในการพิจารณา จังหวัดอื่นๆ ยังไม่ได้ปิดรับสมัคร จึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนประชาชนที่รักประชาธิปไตย และต้องการเห็นท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงให้เข้ามาร่วมทางกับพวกเราโดยลงสมัครนายก อบจ.ในนามของคณะก้าวหน้า ท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าไม่มีใครกล้าลงมือทำ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตระกูลการเมืองที่ผูกขาดการเมืองท้องถิ่นมาตลอด

อยากให้พี่น้องประชาชนให้กำลังใจพวกเรา และช่วยให้พวกเราเข้าไปบริหาร อบจ.ต่างๆ เหล่านี้ พวกเราสัญญาว่าจะนำความไว้วางใจที่มอบให้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับท้องถิ่น

“สำหรับนโยบายทั้งหมด ไม่ได้เกิดการจากนั่งคิดในห้องแอร์ แต่เกิดจากการเดิน 3 จริง นั่นคือการลงไปในพื้นที่จริง พบกับ ประชาชนจริง อยู่ในสถานการณ์จริง ที่ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหา” ธนาธรบอกถึงนโยบายในการเลือกตั้ง อบจ.

ขณะที่พรรค พท.เอง แม้จะยังไม่ได้สรุปตัวบุคคลเพื่อลงรับเลือกตั้ง อบจ.อย่างเป็นทางการ แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากบุคคลใดมีความพร้อมและมีฐานเสียงสนับสนุนที่เข้มแข็ง หากจะลงรับสมัครแบบอิสระ พรรค พท.ก็ไม่ขัดข้อง

ส่วนบุคคลที่จะลงรับสมัครในนามพรรคจะต้องมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้ผู้สมัครที่มีความพร้อมและจุดแข็งมากที่สุดในการลงรับเลือกตั้ง

แน่นอน “กลยุทธ์” การเลือกตั้งท้องถิ่น อาจจะใช้โมเดลเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.คงจะไม่ได้ทั้งหมด

อยู่ที่ว่าพรรคใด กลุ่มการเมืองไหน รวมทั้งผู้สมัครอิสระคนใด จะเลือกใช้ กลยุทธ์” หรือ ยุทธศาสตร์” การชิงชัยในสนาม อบจ.ได้ตรงเป้าหมายมากกว่ากัน

โจทย์ใหญ่ที่ทุกพรรค รวมทั้งกลุ่มการเมืองเจอปัญหาตรงกัน คือ มีผู้สมัครที่มีความพร้อมและมีฐานเสียงสนับสนุน ในแต่ละพื้นที่มากกว่า 1 คน

โจทย์นี้เป็นเรื่องที่ แกนนำ” และ คีย์แมน” ของพรรค จะต้องเลือกเดินเกมให้ถูก เพื่อเป้าหมายในการคว้าชัยเหนือคู่แข่ง

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล มีความเป็นไปได้ที่จะเลือกใช้โมเดลเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่พรรค พปชร.คว้าชัยมาทั้ง 4 ครั้ง

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. พรรคร่วมรัฐบาลคุยและตกลงกันแล้วว่าจะให้แต่ละพรรคได้สำรวจคะแนนนิยมในแต่ละพื้นที่ ว่าจังหวัดใด พื้นที่ไหน พรรคใดมีฐานเสียงและคะแนนนิยมมากที่สุด ก็จะให้พรรคนั้นส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.

โดยพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น จะไม่ส่งผู้สมัครไปแข่งขันเพื่อตัดคะแนนกันเอง

เช่น พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ แน่นอนก็เป็นความรับผิดชอบของตระกูล “ชิดชอบ” โดยพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จ.พะเยา จะเป็นตระกูล “พรหมเผ่า” มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. รับผิดชอบพื้นที่

ขณะที่ จ.นครราชสีมา อาจจะเป็นพรรค ภท. โดยตระกูล “หวังศุภกิจโกศล” ที่มี กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วน จ.อุทัยธานี จะเป็นตระกูล ไทยเศรษฐ์” ที่มี ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรค ภท. รับผิดชอบพื้นที่

สำหรับพื้นที่ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เตรียมส่ง “นันทิดา แก้วบัวสาย” ลงสนามเลือกตั้งในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ที่มี เสี่ยเอ๋” ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตสามี ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้ากลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า

รวมทั้งพรรค พปชร.เป็นแรงหนุน

ขณะที่พื้นที่ภาคใต้จะเป็นความรับผิดชอบของพรรค พปชร. พรรค ปชป. และพรรค ภท. คัดผู้สมัครชิงนายก อบจ.ในพื้นที่ที่แต่ละพรรคมีฐานเสียงสนับสนุนมากที่สุด หรือมีจุดแข็งมากที่สุดลงรับเลือกตั้ง

แน่นอนเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเลือกที่จะเดินยุทธศาสตร์แบบไม่ตัดคะแนนกันเอง

จากนี้คงต้องกลับไปดูฝั่งของคู่แข่ง อย่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรค พท. และคณะก้าวหน้า รวมทั้งผู้สมัครอิสระว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ใดมาต่อสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ.

หากเดินยุทธศาสตร์พลาดก็จะไปเข้าทางคู่แข่งอย่างพรรคร่วมรัฐบาลทันที เพราะต้องไม่ลืมอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คือ มีอำนาจควบคุมกลไกต่างๆ ของภาครัฐไว้ในมือเกือบทั้งหมด

ซึ่งปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้จะเป็นอีกตัวชี้ขาดผล “ชนะ” หรือ แพ้” ได้เหมือนกัน

นับจากนี้คงต้องจับตาดูว่าแต่ละฝ่ายจะใช้ “กลยุทธ์” และ “ยุทธศาสตร์” ใด มาสู้ศึกเพื่อคว้าชัยในสนามเลือกตั้ง อบจ.ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image