ไม่ว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าท่าทีของนายวิษณุ เครืองาม ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากที่ประชุมรัฐสภา
เป็นท่าทีที่ยอมรับว่าต้องมีการแก้ไข ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป็นท่าทีที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น
นี่ย่อมเป็นการส่ง “สัญญาณ” ไปยัง “เครือข่าย” ทางการเมือง
นี่ย่อมเป็นท่าทีที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่เคยแสดงออกในห้วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นี่ย่อมเป็นท่าทีที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับที่เคยแสดงออกก่อนเดือนกรกฎาคม 2563
แม้ว่าในห้วงที่แถลงนโยบายภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2562 จะบรรจุการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น “นโยบายเร่งด่วน” ตามข้อเสนอพรรคประชาธิปัตย์
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือท่วงท่าอาการจากเดือนกรกฎาคม 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เชื่องช้าต้วมเตี้ยมอย่างยิ่ง
แต่เมื่อมาถึงเดือนตุลาคม 2563 กลับมีการผ่อนปรนมากขึ้น
การผ่อนปรนไม่ว่า จะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลไปยังนายวิษณุ เครืองาม ต้องจัดทำวาระที่มีลักษณะเร่งรัดและรวดเร็ว แม้จะยังไม่อาจรู้ว่าจะมีอาการ “พลิ้ว” อย่างไรตามมา
แต่ก็ต้องยอมรับว่าท่วงท่าที่เปลี่ยนแปลงและผ่อนปรนนี้มาจากปัจจัยอะไรในทางการเมือง
แน่นอน มิได้มาจากความสำนึกผิดและตื่นตัวในทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจาก 250 ส.ว. อันเป็นลูกแหล่งตีนมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน
หากที่สำคัญเป็นอย่างมากย่อมมาจากการเคลื่อนไหวที่เริ่มขึ้น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนกรกฎาคมของ “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งแพร่ระบาดเหมือนไฟลามทุ่งไปทั่วประเทศ
หากที่สำคัญมาจากการเคลื่อนขบวนไปกดดัน ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้งในเดือนตุลาคม
หากไม่มีพลังของ “ราษฎร” ท่าทีนี้ย่อมไม่บังเกิดอย่างแน่นอน
ท่าทีเหมือนกับ จะยอมถอยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางเป้าหมายทางการเมืองอย่างไรเฉพาะหน้า
เด่นชัดว่าต้องการให้ “การชุมนุม” หมดความชอบธรรม
ขณะเดียวกัน ก็เด่นชัดอีกเหมือนกันว่า ไม่ว่า “เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่า “คณะราษฎร 2563” จะไม่ยุติการเคลื่อนไหว
เพราะตระหนักว่า “อำนาจ” ของตนอยู่ที่ “การเคลื่อนไหว”