รายงานหน้า2 : คณะกรรมการสมานฉันท์ สูตรสำเร็จออกจากวิกฤต?

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการและข้อเสนอแนะ กรณีมีข้อเสนอจากพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลให้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชุมนุมในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันศึกษาหาทางออกในการลดความขัดแย้ง

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายใช้ปัญญาอย่างประณีต ตามแนวทางของ นพ.ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์เกียรติคุณและราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และอยากเห็นการพูดคุยในกรอบที่เห็นว่าองค์พระประมุขทรงรักพสกนิกรทุกคนเท่าเทียมกัน ถ้าเป็นไปได้ควรพูดคุยตามแนวทางนี้
ส่วนข้อสรุปที่อาจไปถึงการนิรโทษกรรมน่าจะยังไม่ได้อยู่ในวาระพูดคุยโดยตรง หรือหากมีการกำหนดเรื่องนี้ในกรอบเจรจาไว้ อาจจะต้องคุยว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้กรอบวิธีคิดอย่างไร
อย่ามองเรื่องนี้ว่าเป็นซื้อเวลา เพราะเป็นการเริ่มต้นมองจากกรอบความคิดในแง่ร้ายเกินไป อย่าไปมองว่าควรทำก่อนหน้านี้นานแล้วหรือทำช้าเกินไปไม่ทันสถานการณ์ ขอเรียนว่าอย่าไปวิจารณ์ในเชิงตำหนิ ในหลักการที่ดีทุกฝ่ายต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดที่มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงบวกก็ควรเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนก็จะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ประเด็นอะไรที่เดินหน้าไปได้ก็ไม่ควรรอ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือนธันวาคม และลงประชามติในต้นปีหน้า หากทำเรื่องนี้ตามกำหนดเวลาที่กำหนดได้ก็ถือว่าดี
หลังจากการตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ หากถามว่าจะมีข้อสรุปอย่างไรของแต่ละฝ่าย ก็ต้องบอกว่าไม่มีอะไรจะสำเร็จทั้งหมดสมบูรณ์ตามความมุ่งหวังของทุกฝ่าย แต่ควรเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจำนวนมากให้กว้างขวางที่สุด ยึดไว้เป็นหลักการในการพูดคุยจากหลักเกณฑ์ที่มีความเห็นร่วมกัน และหากบรรลุเป้าหมายในกรอบเวลาที่กำหนดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 วาระภายในสิ้นปีนี้ให้ได้ก่อน สำหรับข้อสรุปอื่นก็ต้องดูทีละเรื่องว่าแต่ละฝ่ายคาดหวังไว้แค่ไหน ในเงื่อนไขเวลาหรือวางเป้าหมายไว้อย่างไร เพราะบางเรื่องต้องยอมรับว่าอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
ถ้ามองย้อนหลังปมความขัดแย้งในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาทำได้ในลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ ในที่สุดก็นำไปสู่การทำรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 สำหรับปี 2563 ปัจจัยสำคัญต้องดูว่าผู้กุมอำนาจจะเอาจริงหรือไม่ ในการใช้การเจรจาเพื่อยุติปัญหา แทนการใช้เงื่อนไขอื่น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากสนใจเรื่องนี้จริงก็น่าจะมีผลดีกว่าการดำเนินการในครั้งก่อนๆ ได้
การพูดคุยหากเปิดใจแล้วรับฟังก็จะลดบรรยากาศความขัดแย้งลงได้ เชื่อว่าหากทุกฝ่ายรับฟังเหตุผลแล้วพยายามปรับท่าทีทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อไปได้

 

Advertisement

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หวังว่าแต่ละฝ่ายจะเลือกบุคคลที่น่าเชื่อ แต่ในหลักการคงยาก เพราะแต่ละฝ่ายก็คงเลือกบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกันกับฝ่ายตัวเอง หรือถ้ามี ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลมาร่วมก็ยากจะมีการประนีประนอม ที่สำคัญวันนี้ยังมีกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายชัดเจน ขณะที่รัฐบาลถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ถ้ารับเป็นเจ้าภาพเอง ก็คงเดาเหตุการณ์ได้ไม่ยาก เนื่องจากการคุยในเรื่องการเมืองต่างจากคุยเรื่องอื่นที่จะมีหลักการหรือทฤษฎีกำหนดทิศทางไว้ เพราะฉะนั้นเพื่อให้การพูดคุยมีข้อยุติได้บ้าง หากมีเจตนาที่แท้จริงเพื่อหาทางออก ควรเลือกจากบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ อย่าเลือกพวกเดียวกันเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และระหว่างพูดคุยไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดเสียง ยกเว้นในเวทีของตัวแทนนักวิชาการที่ไม่ได้มีเจตนาหาเสียงก็คงไม่เป็นไร
วิธีการคณะกรรมการไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการแต่งตั้งมาแล้วหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 มีทั้งคณะของนายอานันท์ ปันยารชุน นายคณิต ณ นคร ทราบว่าสิ่งที่นายอานันท์ทำไว้ไม่เคยถูกนำมาใช้ ส่วนของนายคณิตจะถูกเลือกนำมาใช้ในเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์กับตัวเอง
หากมองย้อนหลังในยุคที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เนื่องจาก พล.อ.เปรมเข้ามาเพราะ ส.ส.ให้ความเห็นชอบ ไม่ได้ใช้เสียง ส.ว.พาเข้ามา พล.อ.เปรมในยุคนั้นทำบ้านเมืองให้สงบ ใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ แต่ที่ทำกันในขณะนี้จะใช้หลักนิติศาสตร์เข้ามานำ ใครผิดกฎหมายก็ตามจับกุม ใครต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนก็กลายเป็นผู้ปลุกปั่นยุยง ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าวางเป้าหมายเพื่อใช้หลักรัฐศาสตร์ ต้องพิจารณาว่าคดีไหนที่เป็นความผิด แต่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือทำอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินให้กับบุคคลอื่น ก็ต้องปล่อยไป
มองว่าการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ ใครเข้ามาจากฝ่ายไหนก็จะต้องรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายนั้น ไม่เหมือนการทำงานของนายอานันท์หรือนายคณิต ที่รัฐบาลสมัยนั้นเลือกใช้บุคคลที่เชื่อว่ามีความเป็นกลาง ได้รับความน่าเชื่อถือ ไม่ยุ่งการเมือง ดังนั้น ถ้าตั้งใจจะยุติปัญหา หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจออกมาแถลงในเรื่องที่ยอมรับได้ เช่น การวางไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องบอกให้ชัดว่าจะต้องทำอะไรตามขั้นตอน ก็น่าจะทำให้เสียงเรียกร้องเบาลง เพราะได้ยอมทำแล้วในบางเรื่อง แต่การพูดที่ผ่านมายังเลื่อนลอย การตอบในสภาบางครั้งต้องยอมรับว่านายกฯอาจจะมีอารมณ์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมองว่ายื้อเวลา ก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่าวันข้างหน้าจะทำอะไรได้บ้าง
วิกฤตของประเทศครั้งนี้ ต้องรอท่าทีของนายกรัฐมนตรีคนเดียว เพราะคนอื่นไม่มีอำนาจ แต่ปัญหาอาจจะเกิดจากความคิดบางอย่างของนายกฯ ที่น่าเป็นห่วง เพราะยังเชื่อว่าการเคลื่อนไหวมีคนบงการ มีคนสั่ง ไม่ได้มาจากความรู้สึกจริงของมวลชน ไม่ได้คิดว่ามวลชนมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำ แล้วออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ขณะที่มุมมองวิธีคิดของผู้มีอำนาจดูเหมือนว่าจะก้าวช้ากว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ เพราะยังมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่างให้อยู่ในอำนาจ มีชุดข้อมูลที่ยังเข้าข้างตัวเอง เช่น เรื่องง่ายๆ ยังประเมินผิดพลาด โดยเฉพาะการชุมนุมล่าสุดมีการแถลงว่ามีคนมาไม่ถึงหมื่น ทำให้แก้ปัญหาได้ลำบาก

 

Advertisement

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่จะสามารถแก้ปัญหา ณ ขณะนี้ได้หรือไม่ ยังไม่มั่นใจ เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเมืองในสภามากนักแล้ว
ขณะนี้อยู่ในภาวะ “การเมืองนอกสภาก้าวหน้า การเมืองในสภาล้าหลัง” สะท้อนให้เห็นภาพว่า
1.กลไกในสภาหลายอย่างอาจจะไม่สามารถทำงานได้เพราะมีข้อจำกัดอยู่ เช่น กรอบการทำงานรัฐสภาที่ยังยึดอยู่กับเรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม ตัวอย่างที่สะท้อนเป็นรูปธรรมได้ชัดคือ การประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา ที่กรอบการทำงานในสภาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก
2.การทำงานของสภา จะมีฐานที่มั่นคงแข็งแรงได้ พรรคการเมืองต้องเป็นฐานที่สำคัญ แต่วันนี้พรรคการเมืองไม่ได้มีความเป็นฐานมาจากมวลชน ดังนั้น การเชื่อมต่อกับมวลชนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะท้ายที่สุดก็คุยกันระหว่างไม่กี่กลุ่มในสภา ส.ส. ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี
3.โครงสร้างของรัฐสภาในปัจจุบันค่อนข้างบิดเบี้ยว ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้การถ่วงดุลกันเองของฝ่ายนิติบัญญัติผิดหลักการ ตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งคือ ส.ส. ไม่สามารถเป็นตัวแทนความต้องการของสังคมได้
สำหรับการชุมนุม เชื่อว่าจะยังอยู่ในยุทธศาสตร์หลักที่ไม่ปักหลักพักค้าง ขณะที่ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ “การขยายตัวทางอุดมการณ์” ไม่ใช่เรื่องการชุมนุมยึดสถานที่ให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ แต่สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือการคาดเดาไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มีการหยิบยกประเด็นต่างๆ และกลยุทธ์ ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอด
ในฝั่งของรัฐ แน่นอนว่าต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการบริหารจัดการการชุมนุม จะใช้กำลังเข้าจัดการหรือใช้กฎหมายควบคุมกำกับไม่ง่ายแล้ว เพราะการชุมนุมครั้งนี้มีความผันผวน คาดเดาได้ยาก รัฐคงพยายามใช้ความอดทน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาความชอบธรรมก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามต่อรัฐ ดังนั้น ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปรับวิธีใหม่ ในการยึดหลักนิติธรรมและเสมอภาคในการใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม
ส่วนตัวมองว่าแนวทางตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่น่าจะทำอะไรได้มากนักในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นกลไกรัฐสภาแบบเดิมที่ล้าหลังไปแล้ว เมื่อการเมืองนอกสภาก้าวหน้า ในสภาล้าหลัง การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ จะเห็นได้ว่าในอดีตก็มีการตั้งคณะกรรมการมากมาย เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในเหตุการณ์พฤษภา 53 สุดท้ายจบลงเป็นเพียงรายงานการศึกษา
ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดในวันนี้ คือทำอย่างไรให้เกิดเวทีพูดคุยอย่างจริงจัง ส่วนตัวมอง 3 ระยะที่ต้องทำ คือ 1.การมีเวทีพูดคุย สร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเรื่องใดก็ว่ากันไป โดยมีกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3.การพัฒนาประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ไปว่ากันยาวๆ แต่ ณ วันนี้ ระยะสั้น และกลางต้องขับเคลื่อนก่อน

 

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

การตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางลดความขัดแย้งมองได้ 2 มุม มุมแรกเป็นการเขยิบเวลาออกไป ให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่ารัฐบาลตอบสนองแล้วระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจจะไม่เร็วตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง เพราะใช้เวลาพอสมควร
อีกมุมคือ รัฐบาลพยายามจะหาทางลง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะไม่ลาออก ดังนั้นทางออกของรัฐบาลคือ นำเสนอว่าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าจะยึดถือตามร่างใด
ในด้านผู้ชุมนุมต้องดูว่า จะยอมรับในแนวทางของรัฐบาลหรือไม่ หรือจะยังคงข้อเรียกร้องสำคัญคือ ขอให้นายกฯลาออก เป็นเงื่อนที่ต้องติดตามต่อไป
ขณะที่ในรัฐสภาขอชื่นชมที่หลายคนพยายามเสนอทางออก โดยเฉพาะ ส.ส.รุ่นใหม่ ทั้งในซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นสิ่งที่พลเมืองดูแล้วจะให้คะแนนตรงนี้มากขึ้น และหวังว่าในอนาคตพฤติกรรมการเสนอเหตุผล และทางออกอย่างแท้จริงจะมีน้ำหนัก ทดแทนปรากฏการณ์ฟาดฟันวาจาในสภา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการคลื่อนไหวในสภาคงไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวชุมนุมได้ เพราะข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมยังได้รับการตอบสนองที่ชัดเจน
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้กำลังเข้าสู่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช้าหรือเร็วก็ว่ากันไป แต่ปมสำคัญคือ ทำประชามติถามก่อนหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะออกทางไหน กลุ่มผู้เรียกร้องจะยินยอมหรือไม่ คือปมที่พอจะทำให้เห็นทิศทางสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image