รายงานหน้า2 : ลุ้น‘เดโมแครต’ ชนะปธน.มะกัน ไทยได้อานิสงส์หรือกระทบชิ่ง

หมายเหตุ ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณีพรรคเดโมแครตชนะพรรครีพับลิกัน ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ลงสมัคร การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเกิดผลอย่างไรต่อประเทศไทย

กลินท์ สารสิน
ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ หากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดี จะส่งผลกระทบอย่างไร เบื้องต้นประเมินว่ายังมีความไม่ชัดเจนอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งทูตคนล่าสุดมาเจรจากับประเทศไทย มีวัตถุประสงค์คือ ต้องการทำธุรกิจกับไทยเพิ่มมากขึ้น จึงไม่แน่ใจว่า หากนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง จะมีนโยบายอย่างไร หรือจะเล่นการเมืองในรูปแบบใด เพราะไม่ได้มีการประกาศรูปแบบนโยบายชัดเจนออกมา จึงต้องรอดูความชัดเจนหลังเห็นผลการเลือกตั้งอีกครั้ง
รวมถึงยังมีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศตัดจีเอสพีหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าไทย คิดเป็นมูลค่าถึง 25,000 ล้านบาท หลังจากไม่สามารถเจรจาเพื่อนำเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกาเข้าตลาดไทยได้อย่างยุติธรรม จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ก็ยังมีความไม่แน่นอนในส่วนนี้ว่าการแสดงออกดังกล่าว เป็นเพียงการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายหรือไม่ หรือจะเป็นการตัดสิทธิจริงในระยะยาว จึงไม่แน่ใจว่าในระยะข้างหน้าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
หากนายโจ ไบเดน ชนะ การค้าขายระหว่างประเทศ หรือการส่งออกจะไม่เหมือนภาพในปัจจุบัน เพราะจะเป็นการขายแบบเสรีมากขึ้น เนื่องจากนายโจ ไบเดน มีความแตกต่างกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกหรือลบมากกว่ากัน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด อาทิ จะเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าและการส่งออก ประเทศไทยเคยโดนกลับมาอีกครั้งหรือไม่ รวมถึงมาตรการด้านแรงงาน และด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเห็นหรือไม่นั้น ยังต้องประเมินกระแสหลังผลการเลือกตั้งออกมาอีกครั้ง
หากชนะอาจยังเห็นผลกระทบไม่ชัดเจน เพราะต้องรอท่าทีการแสดงออกในนโยบายการทำงาน และรูปแบบการเล่นการเมืองก่อน แต่ยังหวังว่าไม่ว่าพรรคใดจะเป็นผู้ชนะ และได้เป็นประธานาธิบดีในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในอนาคต เพราะประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางในอาเซียน และในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สหรัฐไม่สามารถปล่อยมือได้ เนื่องจากจะทำให้จีนจะก้าวเข้าสู่ความแข็งแกร่งมากกว่าเดิม

 

Advertisement

แล ดิลกวิทยรัตน์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมาพบว่าขบวนการแรงงานของสหรัฐอเมริกา มีการไปสนับสนุนกิจการต่างๆ ในประเทศพันธมิตร ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีการสนับสนุนทั้งด้านการศึกษา ด้านแรงงาน มาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ 16
ถ้าการเลือกตั้งสหรัฐรอบนี้พรรคเดโมแครตชนะ ผมเชื่อว่าจะมีผลมาถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐ และรวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐ จะรู้ว่าพรรคเดโมแครตก็คือพรรคแรงงาน เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน แน่นอนว่าถ้าเขาขึ้นมามีบทบาทในการบริหารประเทศ เรื่องเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทั้งเรื่องภายในประเทศ และเรื่องระหว่างประเทศ
ถ้าพรรคเดโมแครตได้เป็นรัฐบาล คาดว่าเรื่องหลักๆ ที่รัฐบาลสหรัฐจะมีนโยบายด้านต่างประเทศ ก็ต้องเน้นไปที่เรื่องการศึกษา เรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เรื่องการค้า เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้จะทำให้ประเทศพันธมิตรกลับมาคึกคักอีกครั้ง
เช่น ในประเทศไทย ถ้าพูดถึงขบวนการแรงงานในปัจจุบันค่อนข้างอ่อนแอ เพราะนับตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และมาถึงปัจจุบัน มีการใช้อำนาจและกฎหมายปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากมาย ทั้งการห้ามตั้งสหภาพ ห้ามนัดหยุดงาน ห้ามชุมนุม ฯลฯ ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานแทบไม่มีปากมีเสียง เรียกร้องอะไรมากก็ไม่ได้ หรือถ้าได้ก็เพียงเล็กน้อย
แต่ถ้าหลังจากนี้ สหรัฐมีรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครตเขาสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน เราอาจจะได้เห็นการเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรคว่ำบาตรสินค้าจากโรงงานในประเทศไทย ไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ก็เป็นไปได้ และอาจจะเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลยอมผ่อนปรนในบางเรื่องกับผู้ใช้แรงงาน เรื่องเหล่านี้แม้จะเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะในอดีต ประเทศพันธมิตรของสหรัฐก็เคยทำแบบนี้กับประเทศไทยแล้ว ครั้งนั้นสมัยเกิดไฟไหม้ใหญ่โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ มีผู้ใช้แรงงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์หลายราย โรงงานจำเป็นต้องมีการขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่ แต่ปรากฏว่าเกิดปัญหามีการรณรงค์ไม่ให้บริษัทที่มาจากกลุ่มประเทศพันธมิตรเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยเหตุว่าโรงงานเคเดอร์ไม่มีมาตรการดูแลพนักงานที่ดีพอ
นอกจากนี้ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ ทั้งประเด็นทริป รีพอร์ต และมาตรการแรงงานระหว่างประเทศ ของประเทศไทยอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้งด้วย

 

Advertisement

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม
ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

จากการนำเสนอข่าวและผลโพล มีแนวโน้มว่า นายโจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต จะมีคะแนนนำนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน
เราต้องมองภายหลังผลเลือกตั้งที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และอาเซียนนั้นว่าเป็นอย่างไร หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จะมีผลการกดดันต่อประเทศไทย ทั้งเรื่องของแรงงาน เป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิจีเอสพี เพราะไทยยังมีภาพของการกดขี่แรงงานเด็ก และผู้หญิง อีกทั้งเรื่องการตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพี เรากำลังจะนำเข้าสู่การหารือในสภาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ทางพรรค พท.เราจะผลักดันไม่ให้ไทยเข้าร่วมในสมัยนี้
ผลของนโยบายอเมริกัน เฟิร์สต์ ของทรัมป์ ก็เป็นส่วนหนึ่งจะมีผลกระทบต่อท่าทีของรัฐบาลไทย แต่ยุคหลังโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสนั้น จะเป็นประเด็นที่ทางสหรัฐนำมาพิจารณาในการจัดทำนโยบายใหม่ด้วย ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจ และท่าทีต่อจีน มองว่าหากไบเดนชนะน่าจะมีความหยวนเรื่องมาตรการสิทธิมนุษยชน และระเบียบการค้ามากกว่าทรัมป์

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หากพรรคเดโมแครตชนะ เชื่อว่าทางพรรคจะมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือซีพีทีพีพี เป็นนโยบายที่สหรัฐเป็นผู้นำในความตกลงดังกล่าว ก่อนจะถอนตัวแล้วให้ญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ซีพีทีพีพีจะมีความสำคัญมากขึ้นโดยจะรวมกลุ่มสหรัฐและญี่ปุ่น หรือสนับสนุนกันภายในกลุ่ม เพื่อกีดกันจีน อาจจะเป็นรูปแบบสงครามการค้ารูปแบบใหม่ แตกต่างจากช่วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน เป็นการโจมตีรุนแรง จนกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ
นอกจากการโจมตีจากสหรัฐจะกระทบกับประเทศจีนโดยตรงแล้ว ยังกระทบกับยุโรป เยอรมนี และเวียดนาม หรือประเทศใดที่ได้ดุลการค้า ทางสหรัฐจะให้ความสำคัญกับประเทศเหล่านี้และตอบโต้กลับทันที แต่พรรคเดโมแครตจะมีรูปแบบตอบโต้ทางการเมืองที่แตกต่าง เชื่อว่าถ้ารอบนี้ นายโจ ไบเดน ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งสหรัฐจะกลับมาเป็นผู้นำเรื่องซีพีทีพีพีอีกครั้ง ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง เวียดนามและสิงคโปร์ ได้เข้าร่วมซีพีทีพีพีแล้ว เวียดนามถือเป็นประเทศคู่แข่งเรื่องการค้าของไทย หากไทยยังไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าวก็จะยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นอีกด้วย
จากข้อกังวลดังกล่าวคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงมีจุดยืน และต้องการขอเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย ว่าการเข้าหรือไม่เข้าร่วมซีพีทีพีพี ไทยจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไรบ้าง และที่สำคัญเราจะดูเรื่องผลทางสังคมเป็นหลักว่าจะคุ้มหรือไม่หากเข้าร่วม แต่มองว่าเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบในบางอย่างถือเป็นเรื่องปกติของการทำการค้า แต่เข้าใจว่าไทยมีความกังวลในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับการได้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการส่งออกของอาเซียน ก็ต้องกลับมาดูเรื่องความคุ้มค่าอีกครั้งว่าควรแลกหรือไม่
เรื่องซีพีทีพีพีจะเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด หากนายโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ถ้าไทยไม่เข้าร่วมเปอร์เซ็นต์จะเสียเปรียบทางการค้าก็มีสูง เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐตอนนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ พรรคเดโมแครต มีนโยบายและงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐจำนวนมหาศาล หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลดีกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอย่างมาก ถ้ากลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ทั่วประเทศจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ส่วนดุลทางการเมืองคงต้องติดตามนโยบายของพรรค
เดโมแครตอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image