รายงานหน้า2 : ‘นักวิชาการ-เอกชน’ส่อง ‘ไบเดน’ว่าที่ปธน.มะกัน ผลบวกลบต่อไทย-โลก

หมายเหตุ – นักวิชาการและนักธุรกิจให้ความเห็นถึงข้อดีและข้อเสียต่อประเทศ ไทยและทั่วโลก หากนายโจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

กรณีนายโจ ไบเดน ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สิ่งสำคัญคือนโยบายที่ประกาศไว้ในช่วงการหาเสียง ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2564 มีอัตราเติบโต 4.1% ด้วยเหตุผลคือรัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของนายโจ ไบเดน จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐแรกจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น นำเงินส่วนนี้มาช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และช่วยเหลือคนสหรัฐที่ยังตกงานอยู่จากสถานการณ์โควิด-19 คาดว่ากว่าจะฟื้นตัวเป็นปกติคงใช้เวลาประมาณ 4 ปี
ส่วนอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โครงการพลังงานสีเขียว การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับจีน ด้วยการพัฒนาคนสหรัฐให้มีความเชี่ยวชาญมีความสามารถแข่งขันกับจีนด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าให้ประเทศสหรัฐกลับขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง
แนวการบริหารประเทศดังกล่าวถือเป็นข้อดีกับประเทศไทย เพราะนายโจ ไบเดน มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดโลกร้อน โดยจะให้ความร่วมมือกับจีนต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งต่างจากสมัยนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ไม่สนใจต่อความพยายามการแก้ปัญหาโลกร้อนของทั่วโลก ทั้งนี้ นายโจ ไบเดน วางเป้าหมายว่าสหรัฐจะขจัดปัญหาด้านมลพิษเหลือ 0 ในปี ค.ศ.2050-2060
ด้านบวกอีกข้อคือนายโจ ไบเดน ใช้นโยบายพหุภาคี โดยประกาศจะกลับมาเป็นสมาชิกของความตกลงปารีสในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และกลับมาเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้นโยบายเอกภาคี เล่นงานผู้อื่นอยู่ฝ่ายเดียว
ข้อดีสุดท้ายก็คือนายโจ ไบเดน สนับสนุนแนวทางปรับโครงสร้างองค์การการค้าโลกให้มีความทันสมัยขึ้น โดยคำนึงถึงเรื่องการใช้กฎหมายที่เป็นเหตุเป็นผล
ส่วนข้อเสีย เมื่อนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี ข้อแรกก็คือสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงมีอยู่ต่อไป แต่จะแตกต่างจากสมัยนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำสงครามกับทุกประเทศ ไม่ได้แยกแยะว่าใครคือมิตรหรือศัตรู ขณะที่นายโจ ไบเดน จะแยกแยะ และจะทำสงครามกับจีนอย่างเป็นระบบ โดยจะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการเล่นงานจีน ทั้งด้านเทคโนโลยีและการค้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไทยและอาเซียน เพราะที่ผ่านมาไทยพึ่งพาจีนมากขึ้น ทั้งเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน ที่จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้น
ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับยุโรปเพื่อเล่นงานจีน ย่อมมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งที่ผ่านมาจีนเผชิญปัญหาจากโควิด-19 ระบาดเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยจีดีพีของจีนลดลงมากที่สุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 6.1%
ประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ นั่นคือนโยบายของนายโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องประชาธิปไตย มีการประกาศว่านโยบายนี้ถือเป็นจิตวิญญาณของสหรัฐอเมริกา และนายโจ ไบเดน จะทำให้สหรัฐกลับมาเป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย โดยประกาศว่าจะจัดประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยขึ้นภายใน 100 วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยจะเชิญผู้นำของประเทศต่างๆ ที่ปกครองตามหลักประชาธิปไตยมาร่วมประชุมใน 2 เรื่องหลัก คือเรื่องคอร์รัปชั่น และเรื่องเผด็จการ ดังนั้น สถานการณ์การเมืองในประเทศขณะนี้ สหรัฐจะจับตามองเป็นพิเศษ และอาจจะกระทบถึงประเทศไทยในด้านการค้า การลงทุนด้วย
เรื่องสุดท้ายในเรื่องของความมั่นคงต่อประเทศไทย คือไทยกำลังอยู่ในจุดที่ลำบากมากขึ้น โดยไทยจำเป็นต้องวางตัวแบบมีระยะห่างอย่างเหมาะสม ถ่วงดุลน้ำหนักให้ดีระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะนโยบายของนายโจ ไบเดน ชัดเจนว่าต้องการเข้ามาถ่วงดุลอำนาจของจีนที่เริ่มแผ่อิทธิพลมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ซึ่งเป็นนโยบายที่นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ (พรรคเดโมแครต พรรคเดียวกับนายโจ ไบเดน) ริเริ่มไว้ (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า ทีพีพี แต่หยุดลงหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิก เหลือเพียง 11 ประเทศ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ซีพีทีพีพี)
ทั้งนี้ ไทยจะเสียเปรียบทันที เพราะยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ขณะที่มีหลายชาติในอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย ซึ่งสินค้าที่ส่งไปขายในสหรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่สินค้าไทยต้องจ่ายภาษี ซึ่งการถ่วงดุลน้ำหนักระหว่าง 2 ประเทศคือสหรัฐและจีนนั้น ไทยควรแสดงจุดยืนโดยยึดอาเซียนเป็นหลัก

 

Advertisement

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ผลค่อนข้างชัดว่า ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่น่าจะเป็นนายโจ ไบเดน ซึ่งทั่วโลกลุ้นไปกับสหรัฐ และกระแสส่วนใหญ่อยากให้เปลี่ยนประธานาธิบดี เพราะตลอด 4 ปีของนายทรัมป์ ใช้นโยบายอเมริกาเฟิร์สต์ค่อนข้างเข้มข้น ใช้วิธีการใหม่ๆ หลุดจากกรอบเดิมค่อนข้างเยอะ จากที่สหรัฐจะให้ความสำคัญกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ แต่นายทรัมป์จะหันหลัง ไม่สนใจ บางเรื่องถอนตัว ไม่สนับสนุน มองผลประโยชน์ของคนอเมริกันเป็นหลัก
ขณะที่พันธมิตรที่เคยแนบแน่นมาในอดีต ทั้งกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศต่างๆ จะได้รับการปฏิบัติแบบเป็นมิตรก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรื่องของการค้าก็เป็นเรื่องการค้า ธุรกิจคือธุรกิจ แม้จะเป็นเพื่อนกันก็จริง แต่หากประเทศไหนได้ดุลการค้าเหนือกว่า สหรัฐจะลงโทษเพื่อน ปฏิบัติเช่นเดียวกับประเทศที่ไม่ได้เป็นพันธมิตร ทำให้พันธมิตรยุโรปและประเทศต่างๆ เริ่มไม่พอใจ ตีตัวออกห่าง
แต่นายไบเดน เชื่อว่าความเป็นพรรคเดโมแครต และประสบการณ์การเป็นรองประธานาธิบดีถึง 8 ปีสมัยของนายโอบามา คาดว่าคงจะใช้นโยบายเดิมในการทำให้สหรัฐกลับไปให้ความสำคัญประเด็นระหว่างประเทศ และเน้นหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เพราะสมัยของนายทรัมป์ออกจากสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องโลกร้อน และสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมัน การใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยไม่สนใจประเด็นภาวะโลกร้อนเลย อาจเป็นเพราะผู้สนับสนุนนายทรัมป์ส่วนหนึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นฐานเสียงและนายทุนสำคัญของพรรครีพับลิกัน
ในทางกลับกันนายไบเดน ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน โดยเฉพาะเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า จะตั้งสถานีชาร์จ โครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ทั่วประเทศ เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเป็นพลังงานสะอาดต่อไป ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเห็นชัดว่านโยบายต่างกัน
อย่างไรก็ตาม สมัยของนายทรัมป์ ก็มีข้อดีคือการให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าการขาย จะดูตารางการค้าทุกวันว่าวันนี้ประเทศใดได้ดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการดูแล แต่ในทางกลับกันนายทรัมป์ ไม่เคยทำเหมือนนโยบายสหรัฐในอดีตคือ ไม่ก้าวก่าย หรือยุ่งวุ่นวายในกิจการภายในของประเทศต่างๆ ที่ผ่านมาอาจจะมีแค่กรณี เกาหลีเหนือ เป็นลักษณะของการขู่ หรือบลั๊ฟ ให้ดูขึงขัง แต่ท้ายที่สุดบรรยากาศที่คล้ายจะเกิดสงครามโลกก็จบลงด้วยดี ผู้นำ 2 ประเทศจับมือกัน ถ่ายรูปร่วมกัน
หรือกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ช่วงแรกดูขึงขัง สุดท้ายส่งเครื่องบินตรวจการณ์ และกองเรือไปป้วนเปี้ยน หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร แสดงให้เห็นว่าในสมัยของนายทรัมป์จะไม่ให้ความสำคัญกับการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ยุ่งกิจการภายในของประเทศอื่นๆ เท่าไรนัก มุ่งมั่นแต่เรื่องการค้าเป็นหลัก และไม่ให้น้ำหนักกับเอเชียมากนัก จะเห็นว่าที่ผ่านมาการประชุมระดับนานาชาติปกติประธานาธิบดีสหรัฐจะเข้าร่วมเกือบทุกเวทีที่จัดในเอเชีย แต่นายทรัมป์เข้าร่วมเพียงครั้งเดียว คาดว่าในสมัยนายไบเดน คงกลับกันโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เมื่อนายทรัมป์มีความคิดเห็นใดๆ จะทวีตข้อความทันที ส่วนนายไบเดนน่าจะใช้วิธีของพรรคเดโมแครตคือใช้รูปแบบองค์กรระหว่างประเทศในการหาพันธมิตรเพื่อต่อรองเจรจา โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีแม้จะมีนโยบายที่แตกต่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการมองประเทศจีนเป็นอริที่สำคัญทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า เทคโนโลยี การทหาร ความมั่นคง รวมถึงระบบการเงิน ทุกอย่าง สหรัฐมองว่าจีนคืออริอันดับหนึ่ง ที่สหรัฐต้องทำทุกมาตรการเพื่อยับยั้งความร้อนแรง ไม่ให้จีนไปเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แต่รูปแบบอาจแตกต่างกันไป
หรือกรณีซีพีทีพีพี นายไบเดนคงจะกลับมาให้สหรัฐมีบทบาทโดดเด่น เพราะเดิมซีพีทีพีพี เกิดในสมัยของนายโอบามา เป็นการรวมชาติพันธมิตร 10 กว่าประเทศเพื่อค้าขายกันและบล็อกไม่ให้จีนขยายการค้าได้มากขึ้น แต่ในสมัยของนายทรัมป์ ได้ถอนตัว คาดว่านายไบเดน น่าจะให้ซีพีทีพีพีเป็นเวทีสำคัญอีกเวทีหนึ่งในการกีดกันหรือรวมพันธมิตรเพื่อกีดกันจีน
สิ่งที่จะกระทบกับประเทศไทย เบื้องต้นต้องยอมรับว่าผลจากเทรดวอร์ และโควิด-19 ดูเหมือนประเทศไทยได้ผลดีจากการส่งสินค้าไปขายสหรัฐโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมอาจได้รับผล กระทบ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ยานยนต์ ที่เป็นระบบสันดาปภายในซึ่งไทยส่งออกเยอะ เพราะนายไบเดน จะเน้นอีวี
นอกจากนี้สินค้าที่ส่งจากไทยหรือทั่วโลกจะถูกเข้มงวดเรื่องการใช้แรงงานเด็ก เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องการประมง คงกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น การส่งสินค้าไปสหรัฐต้องดูว่ามีการเผาป่า หรือทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เชื่อว่านายไบเดนจะใช้มาตรการเหล่านี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น สินค้าที่อยู่ในข่ายถูกพิจารณาจะได้รับผลกระทบเชิงลบ
ส่วนสินค้าที่ได้รับผลบวกคือสินค้ากลุ่มบีซีจี (ไบโออีโคโนมี เซอร์คูลาร์อีโคโนมี และกรีนอีโคโนมี) ของไทยจะได้ผลดี อาทิ สินค้ากลุ่มสุขภาพ หน้ากากอนามัย สินค้ากลุ่มอาหารออร์แกนิค ปลอดสารเคมี น่าจะเติบโตขึ้น
สำหรับเรื่องการเมือง มองว่าในยุคสมัยของนายไบเดน หลายประเทศคงต้องระมัดระวัง เพราะ พรรคเดโมแครตคงใช้นโยบายเดิมที่สหรัฐเคยทำคือ การเข้าไปดูเรื่องสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิต่างๆ การเข้าไปยุ่งกิจการภายในของต่างประเทศมากขึ้น ในรูปแบบการสนับสนุนหน่วยงาน องค์กร อาทิ กลุ่มเอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น ประเทศในแถบเอเชียหรืออื่นๆ ที่ยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่คงได้รับการกดดันจากสหรัฐมากกว่าในสมัยของนายทรัมป์
รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้องค์กรระหว่างประเทศขับเคลื่อนเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ทุกอย่าง มากกว่านายทรัมป์ ที่จะเป็นลักษณะศิลปินเดี่ยว
อีกอย่างที่สำคัญคือ นายไบเดนประกาศว่าจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ วงเงิน 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินมหาศาล จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐกระเตื้องขึ้น ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาทั่วโลกว่าเศรษฐกิจโลกจะคลี่คลายมากขึ้น ทำให้บรรยากาศดีขึ้น และอาจทำให้โควิด-19 มีความระมัดระวังมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image