รายงาน : วาระ การเมือง จาก คณะราษฎร 2563 วาระ แห่งชาติ

การเคลื่อนไหวในการจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสะท้อนอะไร การเคลื่อนไหวในการเดินหน้าจัดตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” สะท้อนอะไร

สะท้อนความตื่นตัวของ “รัฐบาล”

สะท้อนความต้องการที่จะขจัดปัญหาและความขัดแย้งอันดำรงอยู่ในสังคมนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

อาจเป็นเช่นนั้น

Advertisement

แต่คำถามก็คือ รัฐบาลแสดงความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มากน้อยเพียงใดนับแต่หลังเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา

ยังข้อเสนอ “คณะกรรมการสมานฉันท์” อีกเล่า

เหตุปัจจัยอะไรทำให้พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเสนอขึ้นมา เหตุปัจจัยอะไรทำให้ นายชวน หลีกภัย จำเป็นต้องออกตัวแรงในระนาบนี้

Advertisement

คำตอบก็คือ เพราะ “เยาวชนปลดแอก”

ถามว่าก่อนการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนกรกฎาคม 2563
มีการขยับขับเคลื่อนในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” หรือไม่

มี แต่เชื่องช้าเป็นอย่างยิ่ง

แม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา แนวทาง หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี
นายพีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน

แต่มีเป้าหมายจะสรุปในเดือนกันยายน

ต่อเมื่อข้อเสนอ 1 ของ “เยาวชนปลดแอก” อันได้รับการขานรับจากเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาอย่างคึกคักนั้นหรอก

จึงได้มีการเร่งรัดอย่างรีบด่วน

ต้องยอมรับว่า เพราะการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม กระทั่งพัฒนาเป็น
“คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคมนั้นหรอก

“รัฐธรรมนูญ” จึงกลายเป็น “วาระ” สำคัญ

ไม่เพียงแต่ประเด็นในเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” มีความหมายในทางสังคมขึ้นมาเท่านั้น หากแม้กระทั่ง
ข้อเสนอว่าด้วย “การปฏิรูปสถาบัน” ก็ทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

แรกที่มีการเสนอขึ้นมาในวันที่ 3 สิงหาคม

และได้รับการอธิบาย ขยายความอย่างเป็นระบบ กระทั่งนำไปสู่ข้อเสนอ 10 ข้อจากการชุมนุม ณ ลาน พญานาค ธรรมศาสตร์รังสิต ในวันที่ 10 สิงหาคม

ประเด็นนี้ถูกมองว่า “เลยธง”

มีความคาดหมายจากบรรดา “เกจิ” ทางการเมืองว่า การเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” จะถูกต่อต้าน คัดค้านและมีผู้เข้าร่วมน้อยลง

แต่การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” ในวันที่ 16 สิงหาคม กลับเหนือความคาดหมาย

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าการชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ไม่ว่าการชุมนุมของ

“คณะราษฎร 2563” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม

ล้วนเป็นการชุมนุมในระดับ “บิ๊กเบิ้ม”

วาระทางสังคมในเดือนพฤศจิกายน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องมีการปฏิรูปสถาบัน

ถามว่าเป็น “วาระ” อันมาจาก “ใคร”

แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็รู้ว่ากำหนดโดยปัจจัยอะไร แม้กระทั่ง นายชวน หลีกภัย ก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนในเรื่อง “สมานฉันท์” ก่อนจะสายจนกลายเป็นวิกฤต

“เยาวชน” ต่างหากคือผู้กำหนด“วาระ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image