บทสรุปที่ว่า “รัฐประหารติดลบ” อันมาจากปากของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ สำคัญอย่างยิ่งในทางการเมือง
ไม่เพียงเพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็น “ผบ.ทบ.”
ผบ.ทบ.ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างสูง ไม่ว่ารัฐประหารเดือนกันยายน 2500 ไม่ว่ารัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 ไม่ว่ารัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514
หากเท่ากับเป็น “ผลึก” ในทาง “ความคิด”
โดยเฉพาะผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 รวมถึงผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557
ทำให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์ แก้วแท้ จำเป็นต้องตั้ง “การ์ด”
เนื่องจากคนที่ออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ล้วนมาจาก 1 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 มวลมหาประชาชน กปปส.
ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อาจแลดูเหมือนกับเป็น “ละอ่อน” ในทางการเมือง แต่คร่ำหวอดอย่างยิ่งใน
พื้นฐานทางการทหาร
กระนั้น บทเรียนจาก 2 รัฐประหารก็เด่นชัด
เด่นชัดตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระหว่างนั่งอยู่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เคยตั้งข้อสังเกตอย่างเฉียบขาดว่า
การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง มิใช่ “การทหาร”
เด่นชัดว่า ปัญหาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เมื่อใช้กระบวนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 มาเพื่อแก้ปัญหา
บนพื้นฐานความคิด ไม่ให้ “เสียของ”
แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 สภาพการณ์อาจไปไกลมากกว่าจะสรุปเรียกได้ว่าเป็นการเสียของ
หากทำท่าว่าอาจจะต้อง “เสียคน”
เป็นไปได้หรือที่นักการทหารระดับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาทั้งหมดที่ปรากฏในเดือนพฤศจิกายน 2563 นั้น
รากเหง้าและต้นตอมาจากไหน
เพราะว่าการแสดงออกของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม และพัฒนายกระดับขึ้นเป็น
“คณะราษฎร 2563” นั้นมีความแจ่มชัด
1 ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป
ขณะเดียวกัน 1 ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
1 เรียกร้องให้มีการปฏิรูป “สถาบัน”
ข้อเสนอเช่นนี้จะแก้ปัญหาได้มิใช่ด้วยกระบวนการ “รัฐประหาร” หากแต่ด้วยกระบวนการอันเป็น “ประชาธิปไตย” ที่เคารพเสียงของประชาชน
ตรงนี้คือรากฐานที่ปฏิเสธ “รัฐประหาร”
การเคลื่อนไหวนับแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม เรื่อยมาถึงเดือนพฤศจิกายน จึงสะท้อนออกอย่างเด่นชัดของการปะทะกัน
1 ฝ่ายต้องการรักษา “อำนาจ”
กับ 1 ฝ่ายที่เรียกร้องต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตย มิใช่นอกกฎ นอกกติกา
นี่คือ โจทย์ทางการเมืองเบื้องหน้า ผบ.ทบ.