รายงานหน้า2 : เสียงสะท้อน‘เปิดประเทศ’ รับต่างชาติเข้าไทย-กระตุ้นศก.

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนและแพทย์ กรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ “เปิดประเทศปลอดภัย-เศรษฐกิจไทยไปรอด” ในช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นั้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช

ฉากทัศน์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความมั่นใจกับประชาชนในการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย โดยคาดว่าฉากทัศน์ที่ไทยจะพบมี 1.spike 2.small wave และ 3.big wave ซึ่งอย่างเลวร้ายที่สุดคือ small wave คือพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เฉลี่ย 50 รายต่อวัน การคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 รายต่อวัน หรือที่เรียกว่า small wave คำถามคือ กลไกของการควบคุมโควิด-19 ของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน หลักการจะต้องแยก 2 คำ คือ การติดเชื้อ กับ การแพร่ระบาด โดยสองคำนี้จะแยกออกจากกันได้ คือทันทีที่มีผู้ติดเชื้อเราสามารถติดตามได้ว่าติดเชื้อมาจากที่ใดและจะแพร่ไปให้ใครบ้างและเข้าไปควบคุม ต่อมาคือ หลักการจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีกลไก สิ่งที่ประเทศไทยทำมาคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ซึ่งคำถามในวันนี้คือไทยชนะได้ทำหน้าที่ของมันมากน้อยแค่ไหน กลไกดังกล่าวจะเกิดได้ต้องอาศัยจากความร่วมมือกันของทุกคนไม่ใช่แค่ สธ.เพียงอย่างเดียว
หากมั่นใจในกลไกก็สามารถเปิดประเทศได้ แต่ที่สำคัญคือการเปลี่ยนจากการติดเชื้อเป็นการแพร่ระบาด บางครั้ง 1 สัปดาห์ก็เปลี่ยนเป็นการแพร่ระบาดได้ ตัวอย่างที่ดีคือประเทศเมียนมา เริ่มจากรัฐยะไข่ 2 วันให้หลังพบที่ย่างกุ้ง อีก 2 วันให้หลังพบเกือบทุกทิศของประเทศเมียนมา และขณะนี้ติดเชื้อกว่า 60,000 ราย หากไทยจะเปิดประเทศจะต้องกลับไปทบทวนการควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด ผมคิดว่าเราน่าจะมาจับมือกันระหว่าง สธ.และนักวิชาการ มานั่งคุยกัน ช่วยกันคิด ดีไซน์และติดตาม แต่กลไกต้องกระชับและควบคุมให้ได้
ทั้งนี้ การเปิดประเทศได้ก็ต้องถามด้วยว่าสังคมพร้อมหรือไม่ ถ้ายัง ต้องดูให้ดี ผมไม่คัดค้านในการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เราดูภาพสวยอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเกิดตรงกันข้าม หากเราเอาไม่อยู่ทุกอย่างจะกลับแย่ลง ดังนั้น ถ้าเรามีความเสี่ยงที่มีทิศทางชัดเจน ทุกคนร่วมมือกันและตอบคำถามเรื่องกลไกได้
ผมก็เห็นด้วย

 

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะเป็นแบบที่หนึ่งและแบบที่สองนั้นขึ้นอยู่กับ 1.วินัยของคนไทยเอง 2.การตรวจในเชิงรุกมากกว่าที่เป็นในปัจจุบันจะสามารถระบุตัวคนที่ติดเชื้อที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการและแพร่ไปให้คนอื่นในวงกว้างได้
แต่ถ้าขาดสองประการนี้และมีการทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า จะกลายเป็นฉากทัศน์ที่ 3 หรือ Big wave ทันที ดังนั้น การตรวจเลือดเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก เร็ว และถูกต้อง นำมาเป็นมาตรการด่านแรกที่สุด

 

Advertisement

วิชิต ประกอบโกศล
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

เห็นด้วยกับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในปริมาณมากๆ แต่ต้องคัดเลือกให้เข้ามาตามความเสี่ยงที่มี โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง โดยในระยะเริ่มต้นอยากให้พิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปิดให้เข้ามาทีเดียวจำนวนมากๆ หรือการป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดจะลดลง
โดยประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำแบบที่ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 150 วัน มีอยู่หลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเทียบเท่ากับประเทศไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม และลาว ซึ่งจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ต้องการให้พิจารณาเปิดรับเข้ามา เพราะมีกว่า 22 มณฑลที่ปลอดโควิด-19 ต่อเนื่อง 150 วัน อาทิ กวางตุ้ง เจ้อเจียง อานฮุย ฉงชิ่ง
เหอเป่ย์ หูเป่ย์ หูหนาน ฝูเจี้ยน เจียงซี ไหหนาน ยูนนาน เจียงซู ซื่อชวน เหอหนาน และอื่นๆ
ทำให้หากเปิดให้ต่างชาติกลุ่มดังกล่าวทยอยเข้ามาได้น่าจะสนับสนุนให้ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยได้กว่า 10 ล้านคน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้คาดการณ์และสนับสนุนให้เข้ามา
การเปิดให้ต่างชาติมีความเสี่ยงต่ำเข้ามาก่อนจะเป็นการนำร่องที่ดี เนื่องจากความปลอดภัยจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ไร้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กว่า 150 วัน โดยแอตต้าได้เสนอให้กลุ่มเหล่านี้เข้าแบบไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องมีมาตรการบริหารจัดการในด้านความปลอดภัยที่มากเทียบเท่าผู้มาจากประเทศความเสี่ยงปานกลางและสูง อาทิ การตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากเข้ามาแล้วต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 1 ครั้ง ทำแผนท่องเที่ยวแสดงต่อเจ้าหน้าที่และไกด์ว่ามีความประสงค์จะเดินทางไปที่ใดบ้าง อาทิ มา 7 วัน จะเดินทาง 2 จังหวัด ก็ต้องเดินทางใน 2 จังหวัดที่แจ้งความประสงค์ไว้ ไม่ได้ปล่อยให้เดินทางไปที่ใดก็ได้ตามความต้องการ เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจัดกระจายไปในหลายพื้นที่หลายจังหวัดมากเกินไป
รวมถึงต้องมีไกด์ดูแลตลอดทั้งทริป ไม่ปล่อยให้เดินทางเอง และต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยเชื่อมั่นว่าจากความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากประเทศเสี่ยงต่ำแบบแทบจะไร้เชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อในขั้นตอนต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการระบาดไวรัสในประเทศได้
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศความเสี่ยงสูง ให้พิจารณาเปิดรับเข้ามาตามความเหมาะสม เพราะในบางประเทศยังไม่มีความปลอดภัยจริงๆ แต่ก็มีบางประเทศที่มีความปลอดภัยมากกว่า และสามารถรองรับได้ก่อน
ซึ่งความกังวลในขณะนี้เป็นเรื่องภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังกลัวและตื่นตระหนกในการยินยอมให้เข้ามา เพราะมองว่าต่างชาติเหล่านั้นเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับคนในประเทศก่อน เพื่อให้เห็นว่าต่างชาติสามารถเข้ามาแบบมีความปลอดภัยได้ และเมื่อต่างชาติเข้ามาในปริมาณที่เหมาะสมก็จะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมในภาคการท่องเที่ยว และกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากหากไม่มีการเปิดรับต่างชาติเข้ามาจะไม่มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปิดตัวลงอีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่จะต้องถูกเลิกจ้างและตกงานเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ ในส่วนของความกังวลในการบริหารจัดการ และควบคุมเชื้อโควิด-19 อาทิ พนักงานโรงแรมในการให้บริการกลุ่มต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศและต้องกักตัวก่อน 14 วัน โดยส่วนนี้มีการกำหนดข้อปฏิบัติเบื้องต้นไว้แล้ว อาทิ พนักงานจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนทำงานทุกครั้ง สวนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จำกัดการเดินทางไปในที่ที่มีแหล่งชุมชนหนาแน่น หรือในบางโรงแรมก็มีการกำหนดให้พนักงานให้บริการต่างชาติและอยู่แต่ในโรงแรมไปให้ครบ 14 วันด้วย เพื่อให้มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง

 

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

ถือว่าเป็นรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเปิดรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากหรือน้อยควรเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะตอนนี้ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้ว โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ทาง สทท.13 สาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะหารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ อาทิ เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร และเรื่องการขอให้รัฐบาลรีบเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
หลังจากหารือเสร็จสิ้น เบื้องต้นจะทำการรวบรวมข้อเรียกร้องและเสนอแนะของผู้ประกอบการเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ และจะมีการส่งหนังสือฉบับเดียวกันถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่อไป
ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นเป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณอยากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นแล้วโดยเฉพาะจีนที่มีนักท่องเที่ยวจาก 22 มณฑลที่ปลอดโควิด-19 ต่อเนื่อง 150 วัน ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาเที่ยวในไทย อาทิ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ทางทวีปยุโรปและสหรัฐก็มีความต้องการเข้ามาเที่ยวไทย
แต่มองว่ายังไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาประเทศเหล่านี้เพราะยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศได้ การเปิดรับเข้ามาอาจทำให้ความพยายามทั้งหมดที่ไทยทำมาสูญเปล่า
สำหรับความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดโควิด-19 ถึงแม้ไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องนี้อยู่ จึงมีกระแสออกมาต่อต้านเมื่อรัฐบาลมีทิศทางที่จะเปิดประเทศ
ดังนั้น การที่รัฐบาลเริ่มจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดภายใต้วีซ่าประเภทพิเศษ หรือทัวริสต์วีซ่า (เอสทีวี) เข้ามานำร่อง ก่อนที่จะเริ่มผ่อนคลายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในปี 2564 จึงถือว่าไม่ช้าไป และหากนักท่องเที่ยวเอสทีวีกลุ่มนี้สามารถเที่ยวได้แบบไม่เกิดปัญหาก็จะยิ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง
แต่อย่างไรก็ตาม หากในช่วงปลายปีนี้มีวัคซีนออกมาใช้จริงก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทางภาคเอกชนเองก็ยังติดตามเรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ชิด
จากการสำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเบื้องต้น ส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่กักตัว 14 วัน ซึ่งในเรื่องนี้หลายประเทศเริ่มมีการปลดล็อกแล้ว อาทิ ดูไบ สิงคโปร์ และจีนในบางมณฑล
ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งไปแล้วว่าแต่ละประเทศมีการควบคุมที่ต่างกัน เช่นเดียวกับไทยที่ยังต้องมีการกักตัวอยู่เพื่อคุมเข้มไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 หากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความประสงค์ไม่ต้องการกักตัว ได้มีการชี้แจงแล้วว่า ไทยคงไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจ
แต่ในส่วนของนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวระยะสั้นคงจะเดินทางเข้ามาน้อยลง เพราะติดในเรื่องของระยะเวลาที่ต้องอยู่ในประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ต้องติดตามมาตรการของรัฐที่จะออกมาเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ในระยะต่อไป
หากไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกลุ่มปลอดภัย เชื่อว่าไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวจะตีตั๋วเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดีติดอันดับโลก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image