รายงาน : สงคราม ยืดเยื้อ ความคิด และ การเมือง กับ รัฐ รวมศูนย์

แม้จะผ่านการประชุมรัฐสภาวันอังคารที่ 17 และวันพุธที่ 18 พฤศจิกายนไปแล้ว การต่อสู้ในทางการเมืองก็ยังไม่จบ

ไม่ว่า “มติ” จะออกมาใน “ด้าน” ใด

นี่คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการเคลื่อนไหวนับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา กับทุกการเคลื่อนไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

Advertisement

การที่มีการเสนอประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกอาจทำให้ดูคล้ายกับการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 หรือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ซึ่งเป้าอยู่ที่ “ถนอม” ซึ่งเป้าอยู่ที่ “สุจินดา”

แต่หากเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเคลื่อนไหวก็ยังไม่จบ
จะยังเดินหน้าต่อไป

Advertisement

เนื่องจากนี่คือ การต่อสู้ในเชิง “โครงสร้าง”

ต้องยอมรับว่าการต่อสู้เมื่อเดือนตุลาคม 2516 แม้จะสามารถขับ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส
จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกนอกประเทศ

แล้วเกิดรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์

จากนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2518 และมีการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปได้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

แต่แล้วก็เกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

ต้องยอมรับว่าการต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 แม้จะสามารถขับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งได้ตามความปรารถนา

แล้วได้รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน

แล้วได้รัฐบาล นายชวน หลีกภัย และได้รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา และได้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐบาล นายชวน หลีกภัย กระทั่งรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ได้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้วก็ยังได้รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แม้จะมีการใช้ “ตุลาการภิวัฒน์”

โค่นพรรคพลังประชาชนเหมือนที่เคยโค่นพรรคไทยรักไทย และได้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาและดำเนินการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553

แต่เมื่อเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงต้องสร้างสถานการณ์เหมือนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดยเปลี่ยนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็น กปปส.

แล้วก็ทำรัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557

รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเองทำให้สภาพความเป็นจริงของอำนาจรัฐ อำนาจนำมีความเด่นชัด

จึงได้เกิด “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม 2563

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” กระทั่งยกระดับและพัฒนาการมาเป็น “คณะราษฎร 2563” จึงเป็นการปะทะทั้งในทางความคิดและในทางการเมืองอันแหลมคม

เป็นการปะทะถึงระดับ “โครงสร้าง”

ก่อให้เกิดกระบวนการต่อสู้ที่มิได้เน้นในเรื่องการเปลี่ยน “ตัวบุคคล” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หากแต่ลงลึกไปยัง “โครงสร้าง” ที่สะท้อนพื้นฐานในทางความคิดอันเป็น “อำนาจนำ”

เป็นการต่อสู้กับ “รัฐราชการรวมศูนย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image