รายงานหน้า2 : รัฐบาลจัดเต็มชุมนุมล้ำเส้น สยบม็อบ-สุมเชื้อบนกองเพลิง

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการต่อแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา ดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่กระทำผิดกฎหมาย โดยอ้างสถานการณ์ขัดแย้งมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การออกแถลงการณ์มีนัยยะสำคัญสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้การใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และหากสถานการณ์การชุมนุมยังยืดเยื้อออกไปอีกก็เป็นไปได้ว่าอาจจะได้เห็นการใช้กฎหมายฉุกเฉินเพิ่มเติม หรืออาจจะได้เห็นการใช้กฎอัยการศึก สุดท้ายหากถึงที่สุดก็อาจมีการทำรัฐประหาร เพราะสถานการณ์การเมืองนอกสภาขณะนี้ไม่มีท่าทีที่จะยุติลงได้อย่างง่ายๆ
ขณะที่ในสภากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านวาระแรกในร่างที่ 1 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องมีความพยายามใช้ข้อกฎหมาย เพื่อยกระดับในการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบระยะหลังเมื่อการชุมนุมยืดเยื้อก็เป็น กระบวนการทางธรรมชาติทางสังคมที่อาจทำให้มวลชนอ่อนแรงลงบ้าง
ขณะเดียวกันการจับตาขององค์กรระหว่างประเทศหรือประชาคมโลกมีมาโดยตลอด มีการแสดงท่าทีต่างๆ ทั้งการออกแถลงการณ์ แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรื่องที่จะเข้าแทรกแซงโดยตรงในกิจการภายในถือว่าทำไม่ได้ ดังนั้น จึงอาจทำได้แค่การกดดันหรือการเสนอภาพลักษณ์ของรัฐบาลออกสู่สายตานานาชาติ แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคงไม่สามารถทำอะไรได้ หากไม่ถึงขั้นที่จะเกิดความรุนแรงหรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง องค์กรระหว่างประเทศจึงไม่มีโอกาสเข้ามาแทรกแซง
สิ่งที่น่าจับตาคือ การใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ถ้ากระบวนการใช้กฎหมายเข้มข้นเกิดขึ้น สุดท้ายปลายทางก็ต้องไปจบที่ฝ่ายตุลาการ อาจเป็นไปได้ที่จะได้เห็นตุลาการภิวัฒน์ และหากเปรียบเทียบการชุมนุมของกลุ่มราษฎรกับการชุมนุมก่อนมีรัฐประหารเมื่อปี 2556-2557 จะเห็นว่าต่างกันชัดเจนกับปัจจุบัน เพราะมีการชุมนุมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากมวลชน 2 กลุ่มใหญ่คือ กปปส.และ นปช. ซึ่งมีความเสี่ยงจะเผชิญหน้ากันในเวลานั้น จากการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง ส่งผลกระทบกับการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน
แต่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรในแง่ยุทธศาสตร์เห็นว่าแตกต่างกัน เพราะไม่เน้นการปักหลักพักค้าง แต่ชุมนุมต่อเนื่องกระจายตัวไปยังจุดต่างๆ ทั้งใน กทม.และส่วนภูมิภาค สิ่งสำคัญในการชุมนุมครั้งนี้ คือการขยายตัวทางอุดมการณ์ความคิด เป็นสิ่งที่รัฐควบคุมกำกับได้ยากกว่าการชุมนุมที่ใช้มวลชนในเชิงกายภาพ ที่สามารถใช้กฎหมายเข้าสลายการชุมนุมได้ไม่ยาก แต่การใช้อุดมการณ์ทางความคิดแม้สลายการชุมนุม หรือใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย และปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือสื่อสารในโซเชียล มีเดีย หรือไซเบอร์ มูฟเมนต์ จึงไม่ง่ายที่รัฐจะใช้วิธีการกำกับแบบเดิม
การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้ยุทธศาสตร์อย่างไร วันนี้เมื่อเห็นว่าการเมืองในสภาถูกปิดลงไปเรื่อยๆ เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนหรือร่างไอลอว์ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้พื้นที่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมของกลุ่มราษฎรลดลง แม้ว่าจะบอกว่าในร่างที่ 1 และ 2 จะเข้าไปสู่วาระของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ อาจจะมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มราษฎรหรือกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ เข้าไปร่วม แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่เข้าร่วม เหมือนกับแนวคิดการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ กลุ่มราษฎรก็แถลงอย่างชัดเจนว่าจะไม่ร่วม
เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะถูกความขัดแย้งบดบังเหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา ท้ายที่สุดก็จะไม่ได้เนื้อหาสาระซึ่งเป็นที่ยอมรับหรือรัฐธรรมนูญที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง

 

Advertisement

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกฎหมายกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเป็นการประกาศศึกกับราษฎร หรือทำสงครามกับประชาชน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ เพราะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายตามปกติอยู่แล้ว การประกาศแบบนี้แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ได้บังคับใช้กฎหมายหรือไม่ หรือมีการเลือกปฏิบัติ อาจเข้าข่ายละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่การจัดการกับปัญหามวลชน รัฐบาลควรรับฟังข้อมูลอย่างชัดเจน มีการประเมินให้รอบด้าน เพราะมีทั้งข้อเสนอแนะให้เร่งปราบปราม หรือเตือนให้ระวังปัญหาบานปลายหากตกหลุมพราง
ที่สำคัญการรับ 2 ร่างเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในภาพรวมทุเลาลง ส่วนตัวมองว่าเหมือนการเล่นปาหี่ เพราะการตั้งคณะกรรมาธิการก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายไหนมีสัดส่วนเสียงข้างมาก ก็เห็นปลายทางแล้วว่าทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาอย่างไรเพื่อให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และหลังออกแถลงการณ์ของนายกฯ ทราบว่าจะมีการนัดชุมนุมตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ราชประสงค์ จากนั้นวันที่ 25 พฤศจิกายน จะมีชุมนุมอีกครั้ง เพราะฉะนั้นการออกแถลงการณ์จึงเป็นการจี้จุดให้การชุมนุมคึกคักมากขึ้น
สำหรับการใช้กฎหมายดำเนินการก็ขอให้รัฐบาลใช้หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ควบคู่กันให้เหมาะสม และการปฏิบัติกับกลุ่มมวลชนนอกจากด้านกฎหมายแล้ว ยังมีหลักการในระดับสากลที่บอกให้ภาครัฐมีหน้าที่อย่างไรในการแก้ปัญหา เพราะตราบใดที่มีการชุมนุมด้วยความสงบ ไม่มีการใช้อาวุธ รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ตามหลักสิทธิมนุษยชน และการเก็บข้อมูลระหว่างการชุมนุมต้องไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลในการชุมนุม ส่วนตัวยังมองว่าการชุมนุมที่ผ่านมายังอยู่ในความสงบ สำหรับการระบายสีถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการไปชุมนุมไม่ได้ไปกราบไหว้วิงวอน ส่วนถ้อยคำที่ใช้จะหยาบคายหรือไม่ ขอถามว่าชนชั้นไหนจะเป็นผู้กำหนด
ก่อนหน้านี้อย่าลืมว่า จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาการชุมนุมด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่คาดว่าคงไม่มีใครไปร่วม เพราะทราบดีว่ามีเป้าหมายสมานฉันท์เพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยุติปัญหาของประชาชน ทั้งที่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อก็ไม่ได้ยาก รัฐบาลทราบดีว่าการทำให้มีข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ไม่ได้ง่ายๆ แต่เบื้องต้นขอให้แสดงความจริงใจให้เห็นว่ามีความพยายามจะพาประเทศออกจากวิกฤต
รัฐบาลไม่ควรเป็นสารตั้งต้นที่เป็นต้นเหตุของการสร้างสถานการณ์ที่อาจจะนำไปสู่ภาวะวิกฤต โดยเฉพาะการปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็พิสูจน์แล้วว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างไร ทั้งที่รับไปก่อนแล้วไปแก้ไขได้อีกในภายหลัง แถมไปใส่ร้ายด้วยการเหยียดบุคคลบางรายเป็นลูกครึ่ง หรือเรื่องรับเงินต่างชาติ องค์กรที่เกี่ยวข้องก็สามารถชี้แจงได้ว่านำไปใช้จ่ายอะไร ถ้ามีคนถามรัฐบาลบ้างว่าที่ผ่านมากองทัพไทยรับเงินจากสหรัฐอเมริกามาเท่าไรสมัยสงครามเย็น จะมีคำตอบให้ประชาชนทราบหรือไม่
สำหรับปัญหาที่หลายฝ่ายวิตกกังวลหากสถานการณ์การชุมนุมใน กทม.หรือจังหวัดรอบปริมณฑลมีความรุนแรงบานปลาย อาจจะมีการเลื่อนเลือกตั้งนายก อบจ.หรือไม่ เชื่อว่าคงไม่มีผล กระทบ เพราะการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่เกิดการจลาจลหรือสงครามกลางเมืองก็เลือกตั้งได้ ดูอย่างสหรัฐหรือเมียนมาประสบวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักก็ยังจัดให้มีการเลือกตั้ง ถ้าผู้มีอำนาจจะเลื่อนการเลือกตั้งนายก อบจ.เพราะมีม็อบ เชื่อว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่ไร้เหตุผล

 

Advertisement

เมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

ระหว่างกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินไปคู่ขนานกับการชุมนุมประท้วง รัฐบาลต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าหรือความรุนแรงให้เกิดขึ้น การที่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ เพื่อดำเนินการต่อผู้ชุมนุม ไม่ใช่การถอยคนละก้าวเพื่อสร้างความสมานฉันท์ แต่เป็นการตอบโต้ด้วยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ใช่การใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดองแต่อย่างใด
ขณะนี้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลจะต้องไม่เติมฟืนเข้าไปในกองไฟด้วยการจัดตั้งเงื่อนไขต่างๆ ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงข้อเสนอและทางออกจากปัญหาในเชิงโครงสร้างร่วมกัน โดยอาจให้สถาบันวิชาการศึกษาหาข้อสรุปให้สอดคล้องกับยุคสมัย และแยกประชาชนที่ขัดแย้งกันให้ชุมนุมคนละพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการปะทะ แยกคนที่ก่อความรุนแรงและมีอาวุธออกจากประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิการชุมนุมดังที่เคยได้ทำมาแล้วอย่างเข้มงวด
ส่วนผู้ชุมนุมควรจะต้องมีการควบคุมกันเองอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการปลุกระดมความเกลียดชังด้วยถ้อยคำ Hate Speech หรือการโฆษณาชวนเชื่อด้วยข่าวลือ และป้องกันมือที่สามอย่างเข้มงวด เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจนยากแก่การควบคุมและอาจบานปลายกลายเป็นความสูญเสีย
การสร้างความเกลียดชังจะสะสมความรุนแรงในหมู่ประชาชนและสังคมไทยในมิติต่างๆ ไม่สิ้นสุด จนอาจทำให้มองข้ามความเป็นมนุษย์ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ไทยและในต่างประเทศ เมื่อต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมอารยะ ก็ต้องสร้างความเป็นอารยะร่วมกันด้วยทุกฝ่าย ดังนั้น หากรัฐเผด็จการใช้วิธีการสกปรก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสกปรกตอบโต้ และแยกบุคคลที่ไม่หวังดีออกไปดังที่ฝ่ายประชาชนได้พยายามกระทำอยู่ นี่คือการต่อสู้ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อเปิดพื้นที่ให้ใช้สิทธิดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ในฐานะที่ไม่ใช่คู่กรณีของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image