วิเคราะห์ : ท่วงท่าอาการ กรรมการสมานฉันท์ ทำไมจึง ‘แผ่ว’

รู้สึกหรือไม่ว่ากระแส “ปรองดอง” อันกระพือผ่าน “คณะกรรมการสมานฉันท์” เริ่มแผ่วลง ฝ่อลง กระทั่งจางจากหายไปจากวงจรข่าว

ไม่มีการเคลื่อนไหวจาก “อดีต” นายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่าจะเป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แม้กระทั่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็นิ่งเงียบอยู่ในที่ตั้ง

Advertisement

อย่าถามถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของ นายชวน หลีกภัย อย่าถามถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพียงเจอแรง “ต้าน” จากพรรคพลังประชารัฐก็ต้อง “งัน”

มังกรทางการเมืองระดับ นายชวน หลีกภัย คนที่อ่านเกมทางการเมืองระดับออกซฟอร์ดอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมสำเหนียก

Advertisement

ถามว่าเป็นเพราะ “ปัจจัย” อะไร

ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน เมื่อประสานกับการเคลื่อนไหวในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 พฤศจิกายน

คือ คำตอบ 1 ซึ่งสำคัญ

เพราะว่าการจัดทัพเพื่อรับมือกับการเคลื่อนขบวนเข้ามาบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนนั้น เข้มแข็งเกรียงไกรอย่างยิ่ง

เห็นได้จาก “รถฉีดน้ำ” เห็นได้จาก “คนเสื้อเหลือง”

อย่าได้แปลกใจที่ขบวนของ “ราษฎร” ที่เคลื่อนมาจากบางกระบือกว่าจะผ่านในแต่ละด่านต้องลำบากยากเข็ญอย่างสูงสุด

ลำบากยิ่งกว่าการเคลื่อนไปยังหน้า “ทำเนียบรัฐบาล”

ที่สำคัญเป็นอย่างมากมิได้ประสบแต่เพียงรถฉีดน้ำผสมสารเคมีสูตรพิสดาร หากแต่ยังมีการตระเตรียมทั้งกระสุนยางครบครัน

ยิ่งกว่านั้น ยังมีความคึกคักจาก “คนเสื้อเหลือง”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อผ่านพ้นจากสถานการณ์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ไปได้ การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาใน
วันที่ 18 พฤศจิกายน ก็คึกคักและเข้มข้นอย่างยิ่ง

คึกคักด้วยการวิพากษ์ “ไอลอว์”

เข้มข้นด้วยการคว่ำร่างของไอลอว์ซึ่งถือว่าเป็นร่าง “ฉบับประชาชน” ขณะเดียวกัน ก็อ้าแขนรับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคฝ่ายค้านร่วม

ถือว่าเป็นการเปิดช่องนำไปสู่การแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

เพียงแต่ว่าทิศทางและวิถีดำเนินจะยกเอาร่างของพรรคร่วมรัฐบาลหรือเอาร่างของพรรคฝ่ายค้านมือที่มีอยู่ของรัฐบาลและฝ่ายค้านใน “กรรมาธิการ” ย่อมเป็นคำตอบ

เป็นมือของ 250 ส.ว. เป็นมือของพรรคพลังประชารัฐ

กระนั้น หากมองจากทางด้านของรัฐบาล มองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นี่คือการสมานฉันท์อย่างยิ่งแล้ว

จึงแทบไม่ต้องมี “คณะกรรมการ” ก็ได้

หากจับเอากระแสการขึ้นลงของ “คณะกรรมการสมานฉันท์” มาวางเรียงเคียงข้างอยู่กับเส้นทางในการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ก็คงจะได้คำตอบ

คำตอบเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลา 6 ปี ในการปรองดองของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลา 5 ปี ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ DESIGN มาเพื่อพวกเรา

เว้นแต่ไม่ต้องการมอง ไม่ต้องการเห็นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image