รายงาน : วิถีการเมือง ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเมืองไทย

สถานการณ์ในวันที่ 2 ธันวาคม ไม่ว่าในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รอดหรือไม่รอดไปจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

ก็ “เหนื่อย”

มิใช่เหนื่อยเฉพาะต่อตุลาการ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หากเหนื่อยทั้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะพ้นหรือไม่พ้นไปจากตำแหน่งด้วย

หากคำวินิจฉัยคือ “รอด”

Advertisement

สายตาย่อมจ้องมองไปยังกระบวนการและรายละเอียดอันเป็นที่มาของ “คำวินิจฉัย” ว่าเหตุใดจึงต่างไปจากกรณีของ นายสมัคร สุนทรเวช

เป็น “วิบากกรรม” อันตามมา

การดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ใช่ว่าจะสดใสกาววาวหากแต่เริ่มมีไฝฝ้าและราคีปรากฏ

Advertisement

ยิ่งหาก “ไม่รอด” ก็ยิ่งยุ่ง

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลวินิจฉัยว่าต้องพ้นจากตำแหน่งความหมายโดยอัตโนมัติก็คือ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหลุดไปทั้งยวง

จำเป็นต้องจัดไพ่กันใหม่

จุดบอด 1 ก็คือ แม้พรรคพลังประชารัฐจะอยู่ในฐานะแกนนำสำคัญ แต่ก็มีแคนดิเดตรายชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงรายชื่อเดียว

คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

หากยังต้องการรักษาสถานะเดิมของรัฐบาลเอาไว้ก็จำเป็นต้องมองไปยังพรรคร่วมรัฐบาล นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

นั่นก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นก็คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

จากสภาพความเป็นจริงของพรรคพลังประชารัฐ จากสภาพความเป็นจริงของพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งที่จะตัดรายชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกไป

คงเหลือเพียง นายอนุทิน ชาญวีรกูล เท่านั้น

แม้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะมีส.ส.อยู่ในมือมากกว่า 50 แต่ก็ยังเป็นรองพรรคพลังประชารัฐ และที่สำคัญยังต้องพึ่งพิง 250 ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ

อำนาจต่อรองของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ไม่เหมือนเดิม

ไม่เหมือนเดิมในที่นี้ไม่เพียงแต่เมื่อนำไปเทียบกับอำนาจที่มีอยู่ของพรรคพลังประชารัฐ หากยังเป็นอำนาจที่มีอยู่ของพรรคภูมิใจไทยด้วย

ฐานะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ย่อมไม่เหมือนฐานะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยและ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องเผชิญจึงมิได้มีแต่จากพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากที่สำคัญยังจากพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็น “เยาวชนปลดแอก”

การพ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงน่าจะสร้างความเหน็ดเหนื่อย เป็นอย่างสูงให้กับปีกของรัฐบาล “เดิม”

หรือถึงจะยัง “อยู่” ก็จะต้อง “เหนื่อย”

การเมืองนับแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นับแต่หลังคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา

อยู่ในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม

ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือแม้กระทั่งมองจากด้านของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

เพราะเป็นการเมืองที่มี “เยาวชนปลดแอก” เป็นตัวละครสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image