รายงานหน้า2 : เช็กอุณหภูมิการเมือง’64 โฟกัสปมร้อนเขย่ารัฐบาล

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการประเมินทิศทางการเมืองปี 2564 ที่มีหลายเงื่อนปมในปีนี้อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้สถานการณ์ร้อนแรงยิ่งขึ้น

ธเนศวร์ เจริญเมือง
ศ.เกียรติคุณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งที่จะเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง ประการแรก คือ 1.เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีพลังเติบโตมากขึ้น การตื่นตัว เร่งเร้าทางความปรารถนาของคนไทยที่ถูกปิดกั้นมานานจะมีมากขึ้น ทั้งการรับรู้ข่าวสารที่แรง รวดเร็ว มากมาย และหลากหลาย
2.มีความปรารถนาที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมากขึ้น จากการได้เห็นและรับรู้ความเป็นไปในประเทศเจริญแล้ว จึงรู้ว่าบ้านเรามีหลายปัญหาหมักหมม ทำให้เกิดการเร่งเร้า ปรารถนาที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
3.ระบบราชการรวมศูนย์อย่างมาก สั่งการลงมาได้ทั้งหมด ทั้งยังปฏิบัติต่อองค์กรส่วนท้องถิ่นเสมือนหน่วยราชการของตนเอง ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่รัฐทำลายด้วยการไม่ให้เลือกตั้งท้องถิ่นมา 6 ปี
4.การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จึงทำให้คนตื่นเต้นค่อนข้างมาก แต่ก็มีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลประกาศเร็วมาก ซึ่งมีปัญหาการเมืองที่ต้องแก้หลายเรื่อง จึงทำให้หลายพรรคเตรียมตัวส่งคนไม่ทัน เกิดความชะงักงัน ระมัดระวัง ไม่แน่ใจในการส่งผู้สมัคร แม้การเลือกตั้งทำให้คนตื่นตัวมีความหวัง แต่ก็กลายเป็นความเสียดาย เพราะเร็วเกินไป ทำให้เกิดความได้เปรียบ เพราะทำให้การแก้ไขปัญหาช้าไปอีก
5.ที่ว่าจะประนีประนอม พูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหากัน ก็ไม่มีทีท่าเช่นนั้น มีแต่คอนเทนเนอร์เหมือนกำแพงเมืองจีน เป็นอุปสรรคขวางกั้นบ้านเมืองเอาไว้
ประเด็นจากที่กล่าวมาทั้งหมด ส่งผลให้ปีหน้า
1.จะเสมือนกระแสน้ำที่กระแทกพลังที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จะเกิดความเข้มข้น รุนแรง ตึงเครียดมากขึ้น บวกเข้ากับการเมือง หากยังไม่เปิดทาง เปิดใจคุยกัน ก็จะยิ่งตึงเครียด
2.เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร หากวันๆ เอาแต่ขนคอนเทนเนอร์ คิดแต่เรื่องนี้ จนไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่นแบบที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งทำกัน
จึงทำให้เศรษฐกิจนำการเมืองในปีต่อไป อยู่ในภาวะของการเผชิญหน้า ถ้ายังไม่ยอมตั้งโต๊ะเจรจาว่าจะแก้ไขอะไร
ปีนี้เป็นปีของการเริ่มต้น คิดว่าปีหน้าคงจะได้เห็นมากกว่านี้ และจะเข้มข้น รุนแรง พูดได้เลยว่า ประเทศไทยคงจะเป็นข่าวใหญ่ในระดับโลก นักข่าวก็จะรุมเข้ามา ผู้คนจะตามประเทศนี้ว่า “อะไรกันนักหนา” ผมก็เคยเขียนหนังสือเอาไว้แล้ว ว่านี่คือผลพวงของการพัฒนาที่ล่าช้า “3 ช้า” คือ 1.เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศล่าช้า 2.พัฒนาประชาธิปไตยล่าช้า 3.กระจายอำนาจล่าช้า คืออิทธิพลของ 3 ล่าช้า ที่จะส่งผลใหญ่หลวงมากในปี 2564
อยากจะบอกว่า “คุณใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากไปแล้ว” คอนเทนเนอร์ก็เหมือนกำแพงสกัดกั้น เหมือนคำว่า None ในภาษาอังกฤษ เหมือนคำว่า “ไม่” ในภาษาไทยนั่นเอง
กล่าวคือ การเมืองก็ต้องเป็นการเมืองแบบเปิดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่ปิด ไม่ฟังเขา ตั้งแต่มีเรื่องมา คุณประยุทธ์เคยเรียกผู้นำนักศึกษา เยาวชน ไปนั่งคุยหรือไม่ ไม่เคยมีแม้แต่หนเดียว

 

Advertisement

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เรื่องที่จะเป็นระเบิดเวลา อาจเป็นเทรนด์ของกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวมีเป้าชัด คือเรื่องสถาบัน และมาตรา 112 ต้องจับตาดูว่าช่วงรอยต่อจนถึงปลายเดือนธันวาคมนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ยังเชื่อว่าปีหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมุ่งเน้นเรื่องเดิมอยู่
ถ้าผมอยู่ในวงของแกนนำ คงพยายามที่จะเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะสื่อไปยังสังคม ว่าอยากให้ปรับแก้อะไรตรงไหน โดยติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่น่าจะจับจุดนี้เพิ่มเติม ส่วนการจับประเด็น ม.112 จะเห็นการปะทะที่ค่อนข้างมากพอสมควร ดังนั้น คำว่าเบิ้มๆ อาจจะต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดี
แต่ถ้าจะถึงขั้นทำรัฐประหารคงเกิดจากการปะทะกัน เมื่อใดก็ตามที่เลือดตกยางออก เมื่อนั้นจะเป็นจุดที่นำไปสู่การรัฐประหารได้ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่หากไม่ถึงขั้นนั้น จะมีการยื้อ สู้กันไปในเชิงเวทีแบบนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวก็อาจจะลำบากมากขึ้น เพราะทางรัฐบาลเดินกลยุทธ์สงบและรอดูว่าทางกลุ่มจะเคลื่อนไหวอย่างไร
ในส่วนผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ชัดเจน คือ 1.จะสะท้อนแนวร่วม ซึ่งเดิมเคยวิเคราะห์เมื่อครั้งการเมืองนอกสภาไม่เข้มข้นขนาดนี้ ว่าทิศทางมีแนวโน้มที่คณะก้าวหน้าจะได้เปรียบสูง แต่เมื่อมีเรื่องการปะทะกันทางความคิดเรื่องการปฏิรูป จะเห็นว่าไม่เว้นแต่ละวันฝ่ายคณะก้าวหน้าที่ไปช่วยหาเสียงจะเกิดแรงปะทะ จึงมีแนวโน้มที่คะแนนเสียงของคณะก้าวหน้าจะลดลง เชื่อมโยงไปถึงต้นปีหน้า สะท้อนแนวร่วมที่ลดลงระดับหนึ่ง และการกำหนดทิศทางที่ต้องล้อกันไป ทั้งนี้ ต้องรอดูผลด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่
กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้รัฐบาลถือไพ่เหนือกว่า กลุ่มเคลื่อนไหวจึงต้องพยายามสงวน และเพิ่มแนวร่วมให้ได้ จะเห็นว่ารัฐบาลค่อนข้างนิ่งในช่วงหลัง ปล่อยให้ชุมนุม และใช้เงื่อนไขของความไม่พอใจจากมหาชนในทางสัญจร มาเป็นจุดลดทอนพลังของกลุ่มเคลื่อนไหวลง จึงต้องกำหนดแนวยุทธศาสตร์ที่จะหาแนวร่วมเพิ่มให้ได้ คือจุดหลัก คือเทรนด์ในอนาคตที่จะสู้กันด้วยยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว และข้อมูล ต้องทำการบ้านหนักพอสมควร

 

Advertisement

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเมืองในระบอบรัฐทหารแบบรัฐประหาร ฝ่ายที่ดำรงอยู่ในอำนาจรัฐมักเชื่อว่าฝ่ายตัวเองจะรักษาอำนาจไว้ได้ และสามารถแก้ปัญหาทุกสถานการณ์ไปได้ เพราะฝ่ายรัฐประหารไม่เคยระบุว่าจะมีวาระสิ้นสุดเมื่อใด แต่สภาพทางการเมืองไทยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก ประเด็นสำคัญมีการเปิดเผยเนื้อหาและข้อเท็จจริงบางเรื่องที่เป็นภาพกดทับการเมืองไทย ถือว่าคณะราษฎร 2563 ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย
ในปีหน้าประเด็นของการเคลื่อนไหวทางความคิดและทางการเมืองของมวลชนจะยังเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะไม่ประสบชัยชนะในการล้มรัฐบาล แต่จะบ่อนเซาะความชอบธรรมทางการเมืองระบอบเผด็จการทหาร
ส่วนการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะรักษาสถานะที่มั่นคงของรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้ โดยแก้ไขเพียงเล็กน้อยด้วยกลยุทธ์ประชามติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่สามารถคุมเสียงข้างมากไว้ได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญ 2560 คงไว้ และออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจอย่างยาวนาน ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากรากฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน จะมีความขัดแย้งพอสมควร รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการรักษาอำนาจของรัฐบาล
สำหรับโอกาสรัฐประหารมีอยู่ตลอดเวลา เพราะมีข้ออ้างหรือเหตุผลอะไรก็ได้ แต่การส่งสัญญาณจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งมาเพื่อคัดค้านการทำรัฐประหาร จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาสหรัฐเคยมีบทบาทที่เคยเกื้อหนุนฝ่ายศักดินาและฝ่ายขุนศึกมาตลอด 70 ปี แม้ว่าศักดินาและขุนศึกจะหันไปหาประเทศจีน แต่ไม่ได้ประโยชน์จากจีนเหมือนที่เคยได้จากสหรัฐ และตลาดทางการค้าของไทยยังอิงกับตลาดของประเทศตะวันตก หากสหรัฐออกมากดดันตลาดทางการค้า หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทหารก็จะส่งผลต่อรัฐบาลอย่างมาก ดังนั้นความพยายามในการทำรัฐประหาร มีความคิดอยู่ตลอดเวลา แต่ยากที่จะทำได้
สำหรับผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัด จะสะท้อนให้เห็นกระบวนทางการเมืองและการเลือกตั้งเพื่อให้กลุ่มอิทธิพล เครือข่ายมาเฟีย หรือกลุ่มบ้านใหญ่ได้รับชัยชนะและมีแนวโน้มของความสำเร็จ แต่การเลือกตั้งไม่ว่าจะใช้กระบวนการอย่างไร การเลือกตั้งทุกครั้งจะทำให้พลังของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารที่ได้ชัยชนะไม่ว่าจะเป็นทีมเดิม แต่ต้องทำงานเพื่อสนองตอบต่อประชาชนมากขึ้น ขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงจากนายก อบจ.กลุ่มเดิมไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งจะนำไปสู่พื้นที่ใหม่ทางการเมืองของประชาชน
แม้ว่าฝ่ายรัฐทหารจะพยายามกีดกันกลุ่มการเมืองใหม่ๆ หรือกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่แข่งให้ออกไปจากสนามท้องถิ่น และการเลือกตั้งท้องถิ่นประชาชนอาจจะตัดสินใจเลือกโดยไม่สนการเมืองระดับชาติ แต่อาจเลือกเพราะระบบเครือข่ายอุปถัมภ์แบบเดิม หรือสนใจจากนโยบาย โดยเฉพาะตัวแทนจากคณะก้าวหน้าอาจจะได้รับเลือกตั้งไม่มาก แต่เชื่อว่าคะแนนเสียงในจังหวัดต่างๆ จะเป็นการสะท้อนถึงพลังทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในต่างจังหวัด ที่มีแนวคิดต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่างจากเดิมที่มีเพียง กทม.และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น

 

เศวต เวียนทอง
อาจารย์รัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและอำนาจเผด็จการจะเข้มข้นขึ้น แต่โอกาสเกิดรัฐประหารยากขึ้น นานาชาติไม่ยอมรับ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลและเศรษฐกิจได้ ประกอบกับประชาชนต่อต้าน เนื่องจากผู้ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มเครือข่ายอำนาจ
แนวโน้มและทิศทางการเมือง ชนวนที่จะสร้างความขัดแย้งแตกแยกคือ การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการรณรงค์ยกเลิก ม.112 ของเยาวชนและกลุ่มราษฎร หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เชื่อว่ารัฐบาลและเครือข่ายอำนาจจะได้เปรียบค่อนข้างมาก เพราะมวลชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนสถาบัน เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลและเครือข่ายดังกล่าว
ภาพรวมการขัดแย้งสองฝ่ายระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจเผด็จการ ยังคงต่อสู้กันอีกนาน โดยใช้พลังมวลชนเป็นตัวเดินเกมทั้งสองฝ่าย อาจยืดเยื้อเป็นปี หากไม่สามารถเจรจาหรือหาทางออกได้
ขณะที่การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ อาจส่งผลสะท้อนการเมืองระดับชาติในอนาคตถ้าฝ่ายใดชนะเลือกตั้ง อบจ. ย่อมได้เปรียบเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เพราะมีฐานเสียงอยู่ในมือแล้ว โอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลมีมากขึ้น
เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลายจังหวัดที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรคร่วมรัฐบาล ชนะเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เคยชนะกลับพ่ายแพ้ ดังนั้นเลือกตั้ง อบจ.ฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายต้องทุ่มสรรพกำลังทุกด้านไปช่วยผู้สมัครในฝั่งตัวเอง เพื่อปักธงยึดพื้นที่ให้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image