วันเวลาเดินมาถึงปลายเดือนสุดท้ายของปี 2563 โลกกำลังจะเข้าสู่ปีใหม่ 2021
ต้นเดือนธันวาคมมีเหตุการณ์หนึ่งที่ขยายต่อเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยเป็นเรื่องที่สะท้อนจิตสำนึกของผู้คนในประเทศไทยเราต่อสายตาชาวโลกอย่างชัดเจน
เป็นสำนึกของผู้อยู่ในแวดวงศูนย์กลางอำนาจรัฐ และเครือข่ายที่ยืนสนับสนุนอยู่ข้างเดียวกัน
วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.2021 คณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ ได้ร่วมออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยเรา
สาระสำคัญของคำแถลงคือ “ขอให้ผู้นำรับฟังเสียงประชาชน”
หนึ่งในผู้ร่วมแถลงมี “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” อยู่ด้วย
“แทมมี” เกิดที่กรุงเทพมหานคร มีแม่เป็นคนไทย พ่อเป็นอเมริกัน
ภูมิลำเนาของ “ลัดดา” อยู่สหรัฐ เรียนที่นั่นจนจบปริญญาเอก เป็น ดร.สาขาบริการประชาชน เธอพูดภาษาไทยได้
เคยเป็นที่ชื่นชมของชาวไทย หลังจากเป็นตัวแทนพรครคเดโมแครตที่ได้รับเลือกเป็นวุฒิสภาแห่งสหรัฐจากรัฐอิลินอยส์
เป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกเข้ารัฐสภาสหรัฐ
เธอเสียขาทั้ง 2 ข้างจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยนักบินกองทัพสหรัฐในสงครามกับอิรัก แล้วเครื่องบินถูกยิง แต่เธอใช้ความสูญเสียนั้นเป็นพลังที่จะทำสิ่งดีงามให้กับสังคม
ผลงานหลายเรื่องของรัฐสภาสหรัฐที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็ก เธอเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดัน
ล่าสุดขึ้นชั้นถึงมีชื่อในตัวเลือกที่จะเป็นรองประธานาธิบดี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ “โจ ไบเดน”
ข้อเรียกร้องของเธอและคณะไม่ได้พิสดารอะไรเลย แต่สนับสนุนการแสดงสิทธิเสรีภาพ และขอให้ผ้นำประเทศรับฟังเสียงประชาชน
เป็นพื้นฐานอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันในโลกที่สังคมพัฒนาแล้ว
สังคมที่เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันอย่างรับฟังกันและกันจะนำมาซึ่งสันติสุข
ทว่าแค่ความเห็นที่เป็นพื้นฐานที่ทั้งโลกใช้อยู่ร่วมกันมาเนิ่นนานแล้วนี้เอง กลับดูจะสร้างความเดือดร้อนครั้งใหญ่ให้กลุ่มผู้สนับสนุน “ผู้มีอำนาจในประเทศ”
ทั้งสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งที่ชีวิตอยู่ดีมีสุขหลังได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาชูคอในฐานะผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา ออกมาแถลงโจมตีข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างแสดงให้เห็นถึงความเป็นเดือดเป็นแค้น
คนอีกกลุ่มหนึ่งมีดารานักแสดงในกลุ่มสนับสนุนอำนาจนิยมไปไกลถึงขนาดหยิบยกความพิการของเธอขึ้นมาเป็นประเด็นในความเห็น
จากการเรียกร้องในเรื่องที่่ธรรมดาอย่างยิ่งของสังคมประชาธิปไตย คือ “ผู้นำประเทศรับฟังประชาชนบ้าง” เรื่องราวกลับขยายไปอย่างพิลึกพิลั่น
จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงจิตสำนึกของผู้คนที่แวดล้อมผู้นำ
เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางการรับรู้สิ่งที่ “ผู้ทรงเกียรติที่ชูคอขึ้นมาได้จากวาสนาที่ผู้มีอำนาจสวมหัวให้” นำเสนอต่อสังคม ทั้งในแวดวงสนทนา และโลกออนไลน์
ที่สาระเป็นเนื้อหา “ด้อยค่าประชาธิปไตย” ขณะเดียวกันก็ “เชิดชูเผด็จการ”
เรื่องราวเหล่านี้ ถูกนำเสนอสู่ความรู้สึก นึก คิด ของชาวโลก มีเรื่องราวและบทบาทของ “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” เป็นตัวกระตุ้น
อาจจะเป็นความปรารถนาดีของ “เหล่าผู้รับกับการเลี้ยงดูจากผู้มีอำนาจ” ที่เป็นธรรมดาต้องส่งเสียงข่มขู่ผูู้ที่จะมา สร้างความกระทบกระเทือนต่อผู้เลี้ยงดู
ซึ่งในอีกทางหนึ่งคือหากไม่แสดงออกในทางให้เกิดความพอใจจากผู้เลี้ยงดู หรือปล่อยให้ผู้เลี้ยงดูมีอันเป็นไป ย่อมกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของพวกเขาเหล่านั้นด้วย
แต่กระนั้นก็ตามยังมีประเด็นที่น่าพิจารณา
ความปรารถนาดีที่เกิดจากการผลักดันของการรักษาสถานะที่เสวยสุขของเขาเหล่านั้น
เป็นความดีงามที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจจริงหรือ
ยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการสร้างให้การบริหารจัดการประเทศมีภาพแบบไหนในสายตาชาวโลก
การ์ตอง