วิพากษ์ เลือกตั้ง ‘200 ส.ส.ร.’ ปมซ้ำรอย ‘สภาผัวเมีย’ ?

วิพากษ์ เลือกตั้ง‘200ส.ส.ร.’ ปมซ้ำรอย‘สภาผัวเมีย’ หมายเหตุ - เสียงสะท้อนของ

วิพากษ์ เลือกตั้ง‘200ส.ส.ร.’ ปมซ้ำรอย‘สภาผัวเมีย’

หมายเหตุเสียงสะท้อนของนักวิชาการกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน หากมาจากการเลือกตั้งประชาชนเป็นผู้เลือกมา มีจุดอ่อนอาจเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง อาจกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

เรื่องของการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะมีโอกาสเกิดการล็อกโหวตหรือเป็นฐานมาจากพรรคการเมืองนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ไปตัดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน กล่าวคือ แน่นอนว่า ทุกการเลือกตั้งย่อมเกิดภาวะแบบนี้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะออกแบบระบบการเลือกตั้งให้มีความสมบูรณ์แบบอย่างไร ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ จะต้องออกแบบอย่างไรมากกว่า เพื่อให้อำนาจ หน้าที่ และบทบาทต่างๆ ของ ส.ส.ร.ไม่ได้อยู่บนหลักของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน” แต่ต้องอยู่บนหลักของ “ประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม” ในการเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชน ซึ่งการออกแบบ ส.ส.ร. ณ วันนี้ ถ้าเราออกแบบให้เป็น ส.ส.ร.ผู้สื่อสาร ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่แบบประชาธิปไตยตัวแทน ที่จะไปลงมติแทนพี่น้องประชาชน เพียงแต่เป็น “ผู้สื่อสาร” ที่คอยรับความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ และเอาความเห็นนั้นออกไปถามประชาชน ในกระบวนการร่างกฎหมาย ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองไม่เกิดความรู้สึกว่าจะต้องมีตัวแทนเข้ามา หรือใช้ฐานทางการเมืองเพื่อล็อกโหวต เพราะไม่เป็นประโยชน์ ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร เราควรจะต้องออกแบบเช่นนี้มากกว่า การป้องกันไม่ให้เกิดสภาผัวเมีย

นอกจากคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้ที่วิจารณ์เรื่องนี้ยังมีอีกหลายท่าน เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เคยคำนวณออกมาว่า จะมีเรื่องของการทำให้ฐานการเมืองระดับใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง และจะมีช่องว่างในจังหวัดที่มีประชากรมาก กับจังหวัดที่มีประชากรน้อย ดังนั้น ความกังวลจุดนี้ แน่นอนว่าทุกฝ่ายห่วงใยหมด ส่วนตัวจึงคิดว่าการที่เราจะบอกว่า การมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมดมีปัญหา และจะไปตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงไม่น่าจะใช่ทิศทางที่ถูกต้อง แต่เราควรจะต้องออกแบบอย่างไร ที่จะทำให้กระบวนการตรงนี้ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ได้-เสียกับพรรคการเมือง หรือนักการเมือง และทำให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ของประชาชนมากกว่า ความจริงแล้ว การมีตัวแทนเยาวชนอยู่ใน ส.ส.ร.หรือไม่มี อาจจะไม่ใช่คำตอบ ต้องดูกระบวนการอื่นๆ ที่เข้ามาเสริม เช่น การให้มีกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะให้บรรดาตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเข้ามา สำคัญมากกว่าไม่ว่าจะกลุ่มนักศึกษาหรือตัวแทนภาคประชาสังคมอื่นๆ

ส่วนตัวเห็นว่าการมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า เพราะจะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับประชาชน เพียงแต่ต้องไปกำหนดอำนาจ หน้าที่ และบทบาทของ ส.ส.ร.ไม่ให้ยึดโยงอยู่กับหลักประชาธิปไตยแบบตัวแทน หมายถึง เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ไม่ใช่ให้ฉันทานุมัติทั้งหมดตกอยู่กับ ส.ส.ร.เหมือนกรณีที่เราเลือกตั้ง ส.ส. เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองมีความประสงค์จะส่งคนเข้ามาเพื่อกำหนดกติกา หรือแม้กระทั่งกลุ่มอื่นๆ และฐานอำนาจรัฐก็ดี ถ้าเรามีเรื่องของการออกแบบให้ดี ยึดการมีส่วนร่วม เชื่อว่าผลประโยชน์ตรงนี้จะไม่ดึงดูดใจให้เกิดการต่อสู้แข็งขันในสนามเลือกตั้ง รวมทั้งไม่นำไปสู่ภาวะของการมีสภาผัวเมียอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

ไม่ควรเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คนทั้งหมด ควรแบ่งเป็นเลือกตั้ง ส.ส.ร.150 คน มาจากเลือกตั้งจังหวัดละ 1-2 คน สรรหาอีก 50 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐกิจเพื่อเกิดความหลากหลาย ไม่กระจุกเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 5-6 ราย ก็พอแล้ว ซึ่งการสรรหา ส.ส.ร.ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนพรรคการเมือง เพราะมีพรรคการเมืองกว่า 50-60 พรรค ถ้าให้เฉพาะพรรคใหญ่ พรรคเล็กก็ไม่ยอมอีก

รัฐธรรมนูญปี 40 มีจุดอ่อนหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข หรือกำจัดออกไป พร้อมเพิ่มจุดแข็งให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแท้จริง โดยยึดโยงกับผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก พร้อมวางกรอบกำหนดร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นแบบ หรือโมเดลร่างและแก้ไข เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ก่อนทำประชามติรับร่างดังกล่าวหรือไม่ หากประชามติผ่านถึงประกาศใช้อย่างเป็นทางการตามลำดับ

ผู้ที่มาเป็นประธาน ส.ส.ร.ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง ไม่ควรยึดติดกับตัวบุคคล แต่ควรยึดติดกับหลักการและเหตุผลแทน เพื่อป้องกันข้อครหาว่าลำเอียงหรือไม่เป็นกลางอีก ดังนั้นเป็นที่มาเป็นประธาน ส.ส.ร.ต้องเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อทำหน้าที่เจรจา ไกล่เกลี่ย ออมชอม ปรองดอง ไม่แบ่งฝ่าย โดยยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ โดยไม่อิงกับอำนาจแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น

วันชัย บุนนาค
นักวิชาการอิสระ ด้านกฎหมาย

ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่กลัวการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด น่าจะวิตกกังวลว่าไม่สามารถควบคุมทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญได้ และประเมินว่าประชาชนในยุค 5จี จะมีทัศนคติทางการเมืองที่ล้ำหน้าไปมากจากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนั้นประชาชนที่มีหนึ่งสมองสองมือเท่ากัน สามารถแยกแยะวิธีคิดได้ ว่าใครทำเพื่อส่วนรวม หรือทำประโยชน์ของพรรคพวก จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจเกรงกลัวจากสาเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มตาสว่าง

หาก ส.ส.ร.ทั้งหมดถ้ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน การกำหนดว่าจะมีการทำงานในทิศทางใดคงล็อกไว้ไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงเมื่อ ส.ส.ร.ไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องเข้าใจว่า ส.ส.ร.ไม่ได้ตัดสินใจตามที่ร่างได้เองทั้งหมด เพราะต้องไปฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งการเปิดกว้างให้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย จะต่างกับการทำหน้าที่ของสภาแต่งตั้งในยุค คสช.โดยไม่ฟังเสียงสะท้อนประชาชน จนนำไปสู่วาทกรรมรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ทั้งที่ในหลักการของอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคนมี 1 เสียงเท่ากันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

การกำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คน เป็นจำนวนที่เหมาะสมแต่ความกังวลว่าจะมาจากไหน มาจากกลุ่มใดเป็นหลัก ควรให้ประชาชนตัดสิน อย่าคิดว่าประชาชนไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือหากต้องการจะแยก ส.ส.ร.ออกจากพรรคการเมือง ก็อาจจะมีเงื่อนไขห้ามพรรคการเมืองไปแสดงตนในการหาเสียง นอกจากนั้น ส.ส.ร.ไม่ควรแข่งขันไปทำหน้าที่ด้วยรณรงค์หาเสียงแบบปกติเหมือนเลือก ส.ส. เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและจะสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ

แต่ในทางปฏิบัติยอมรับว่าตรวจสอบยาก ถ้าจะไม่ให้มีพรรคการเมืองเข้ายุ่งเกี่ยว ขณะที่ ส.ส.ร.ควรเป็นอิสระไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่อาจเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้โดยไม่เป็นอดีต ส.ส.หรือ ส.ว.ในเงื่อนไขเวลาที่กำหนด

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

อย่าวิตกกังวลกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะนักการเมืองไม่ใช่คนชั่วช้า อย่าไปมองในแง่ร้ายว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับนักการเมืองแล้ว จะเป็นเรื่องที่นำพาประเทศให้เสียหายไปทั้งหมด ต้องยอมว่าความเชื่อมโยงของตัวบุคคลในสังคมมีทั้งคนในสายเลือดหรือระบบพรรคพวก คงไม่มีใครที่ใช้ชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ดังนั้นควรมองไปที่ผลของการทำงานของนักการเมืองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับหรือมีความชื่นชม

ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องผ่านการทำประชามติ หากย้อนไปในอดีตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดย ส.ส.ร.ยุคนั้นเข้าไปทำหน้าที่ ก็มีทั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับแถวหน้า ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าจะให้ ส.ส.ร.ไม่มีตำหนิ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ขอเรียนว่าผิดธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม

เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นถกเถียงให้เสียเวลา พรรคการเมืองทั้งหลายควรจะพิจารณาตัวเองด้วยว่าควรจะสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการส่งตัวบุคคลไปแข่งขันหรือไม่ เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกเข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ และส่วนตัวไม่เห็นว่านักการเมืองจะต้องเลวทั้งหมด จึงต้องออกมาดักคอ ออกข้อห้าม หรือปลุกกระแสไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญส่วนการแก้ไขก็ควรจะเปิดกว้าง กำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสม แต่จำนวนทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่เชื่อการอาสาเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ร.จะต้องใช้งบทุ่มเทหาเสียงเหมือนการเลือกตั้งไปทำหน้าที่ ส.ส. หรือจะต้องมีการจับผิดในระหว่างการหาเสียงให้เกิดความวุ่นวาย

และที่มาของ ส.ส.ร.ไม่ควรจะต้องใช้วิธีการคัดสรรด้วยวิธีการแปลกๆ เพราะมีความเชื่อว่าวันนี้การเมืองได้ลงลึกไปถึงระดับรากหญ้าแล้ว ประชาชนควรจะต้องมีโอกาสจะท้อนความเห็นเพื่อกำหนดทิศทางกรอบกติกาของบ้านเมืองได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการหา ส.ส.ร.ไปทำหน้าที่ต้องดูว่าการแปรญัตติของกรรมาธิการฯในวาระ 2 จะกำหนด ส.ส.ร.จำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 ยังกลัว ส.ว.เพราะเชื่อว่าเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการลดอำนาจ ส.ว.หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.จากเสียงเรียกร้องของกระแสสังคม แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ หากมีปัญหาทางการเมือง เงื่อนไขที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก น่าจะเป็นหลักการที่ชัดเจนว่า ส.ว.ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกและไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่ ส.ส.ร.จะถูกมองว่าเป็นสภาผัวเมีย สภาลูกสภาพ่อก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครในสังคมการเมืองจะออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ดังนั้นการได้มาของ ส.ส.ร.จะอยู่ที่อำนาจของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกไปทำหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image