การออกโรงของ RT ผ่านเว็บเพจ “เยาวชนปลดแอก” ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ชื่นชอบ ดีใจ ทั้งที่หงุดหงิด รำคาญและไม่พอใจ
หากเห็นแต่โลโก้อันใกล้เคียงกับ “ค้อน เคียว” ย่อม “หวั่นไหว”
หวั่นไหวเพราะว่าสังคมไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อสัญลักษณ์ “ค้อน เคียว” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเกือบ 1 ศตวรรษ
ตั้งแต่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
เมื่อ พล.ร.ต.พระยาศราภัยพิพัฒ ซึ่งถูกจับจากกรณี “ขบถบวรเดช” เข้าไปพบ “คอมมิวนิสต์” คนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคุก ณ บางขวาง
กระทั่ง มาถึงยุค “คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด” ในทศวรรษ 2500
ไม่ว่าความหงุดหงิดอันดังมาจากภายใน “ทำเนียบรัฐบาล” ไม่ว่าความหงุดหงิดอันปรากฏผ่านกลุ่มคนที่คิดว่าพวกตนรู้จัก “มาร์กซิสต์” เป็นอย่างดี
ล้วนตกเป็น “เหยื่อ” ของ RT ครบถ้วน
เพียงแต่พวกเขาเสนอความคิดรวบยอดที่ว่า สภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบันเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มร้อยละ 1 กับ กลุ่มร้อยละ 99
ออร์ธอดอกซ์ มาร์กซิสต์ ก็ร้อง “ยี้” ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
ยิ่งเมื่อพวกเขานิยามความหมายของราษฎร “ผู้ใช้แรงงาน” ว่ามิได้จำกัดแต่เพียง กรรมกร ชาวนา เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งหลาย
ยิ่งเข้าลักษณะของพวกนิยม “การแก้ไข” ในทางความคิด
เพราะมาร์กซิสต์ที่เคร่งครัดความหมายของพวกเขาจำกัดอยู่แต่เพียง “ชนชั้นกรรมาชีพ” ซึ่งมิได้มีปัจจัยการผลิตใดๆ นอกเหนือจาก “แรงงาน”
แม้กระทั่ง “ชาวนา” ก็ยังถูกมองอย่างเมินๆ ไม่ค่อยไว้ใจ
ต่อเมื่อ RT ยืนหยัดหลักคิดของพวกเขาอยู่ในกลุ่ม “สังคม-ประชาธิปไตย” นั้นหรอก เสียงร้องอ๋อก็ประสานขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
กระนั้น ทุกคนล้วนถูกดึงขึ้นไปบน “พื้นที่” แห่งการถกเถียง อภิปราย
เสียงจากบรรดานักยุทธวิธีทั้งหลายย่อมเป็นเสียงแห่งความหงุดหงิด เพราะว่าการเสนอให้ “ค้อนเคียว” ปรากฏพร้อมกับโลโก้ RT
เท่ากับเป็นการเรียกแขกอย่างพร้อมเพรียงกัน
เสียงเช่นนี้ก็เหมือนกับเมื่อแรกที่ นายอานนท์ นำภา เสนอประเด็นร้อนบนเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 และมีการขานรับจากลานพญานาคในคืนวันที่ 10 สิงหาคม
ทุกคนประสานเสียงทำนายว่า “เจ๊งแน่” เพราะเห็นว่า “เกินธง”
จากวันที่ 10 มายังการชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 16 สิงหาคม ผลออกมาเป็นอย่างไรย่อมมี “คำตอบ” อย่างเด่นชัด
นับจากนั้นการชุมนุม “เรือนหมื่น” ก็เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย
เมื่อผ่านปรากฏการณ์จากวันที่ 10 สิงหาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มาแล้ว การได้เห็นโลโก้ RT จึงมิได้เป็นเรื่องน่าตระหนกอีกต่อไป
ตรงนี้ย่อมเป็น “เป้าหมาย” ที่ RT ปรารถนาอย่างแท้จริง
ไม่ว่าในที่สุดแล้วปรากฏการณ์อันเกิดขึ้น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนกรกฎาคม จะดำเนินไปอย่างไรยากเป็นอย่างยิ่งที่ใครจะคาดทำนายได้
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหงุดหงิดอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน ภายใต้ความหงุดหงิดก็สัมผัสได้ในมาตรการที่เข้มมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “ขั้นร้ายแรง” หรือดำริที่จะใช้ “กฎอัยการศึก”
กระนั้น ที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ ความร้อนแรงในปี 2564