วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ เปิดมิติใหม่‘อัยการแผ่นดิน’

ขึ้นศักราช 2564 วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด(อสส.) ได้เปิดห้องทำงานให้“มติชน”สัมภาษณ์ ถึงการบริหารงานภายใต้มิติใหม่“อัยการแผ่นดิน”และแนวพิจารณาคดีชุมนุมทางการเมือง อ่านได้บรรทัดจากนี้ไป

มิติใหม่อัยการทิศทางการบริหาร มีหน่วยงานผุดขึ้นใหม่เป็นประโยชน์อย่างไรกับองค์กร บุคลากร เเละที่สำคัญประชาชน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 คณะกรรมการอัยการได้มีประกาศ เรื่องการแบ่งหน่วยงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2563 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลที่ 1 ตุลาคม 2563 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้อำนาจหน้าที่หน่วยงานภายใน อส.สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมในทางอาญา การรักษาผลประโยชน์ ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยการเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกและยกระดับงานสนับสนุนงานในอำนาจหน้าที่พนักงานอัยการหรือ อส.เป็น สำนักงานเลขาธิการ อส. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการธุรการที่จะสนับสนุนภารกิจ อส.ให้มีประสิทธิภาพและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถาบันนิติวัชร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอัยการขึ้นตรงต่อ อสส.ที่จะผลักดันงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองสังคม และยังมีการจัดตั้งสถาบันทางด้านวิชาการ ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สถาบันฝึกอบรมการว่าความชั้นสูง และสถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานด้านวิชาการที่จะเป็นคลังสมองของ อส. มีหน้าที่สร้างสรรค์และรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานอัยการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง อส.ได้เล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับข้าราชการฝ่ายอัยการ ประกอบกับปัจจุบันการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนนั้นสามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมและผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในบริบทต่างๆ ของสังคมและต้องหมั่นฝึกฝนศึกษาหาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับรูปแบบของอาชญากรรมที่แตกต่างออกไปจากในอดีต ถือว่าเป็นมิติใหม่ “อัยการแผ่นดิน” ภายใต้แนวคิด Change for the Better

ผลงานในช่วงปีที่เเล้วมา เเละมีอะไรที่จะต้องพัฒนาต่อไป

Advertisement

นโยบายการบริหารงานของ อสส. ประจำปี พ.ศ.2562-2564

1.การอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนต้องรวดเร็วเป็นธรรมเสมอภาคโปร่งใสตรวจสอบได้และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา

2.บูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพื่อค้นหาความจริงเชิงรุกให้สามารถขจัดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลและประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

3.นำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานลดค่าใช้จ่ายทั้งของภาครัฐและประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึงสะดวกและรวดเร็ว

4.สนับสนุนส่งเสริมให้บุคลากรของ อส.ยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมมีจิตอาสาพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงมีการพัฒนาตามเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพมีคุณภาพชีวิตที่ดีรวมถึงจัดให้มีความพร้อมด้านอัตรากำลัง อาคารสถานที่ปฏิบัติงาน อาคารสถานที่ที่พักอาศัยและวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน

ช่วงปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการบริหารงานภายใต้นโยบายทั้ง 4 ข้อเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนอย่างสูงสุดตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคดี การอำนวยความยุติธรรม การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การพิจารณาสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ของรัฐ โดยได้เพิ่มพูนศักยภาพของพนักงานอัยการด้านวิชาการ ตลอดจนเสนอแนะข้อสังเกตหรือแนวทางต่างๆ รวมถึงข้าราชการธุรการ และบุคลากรซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของพนักงานอัยการ ได้รับรู้และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ อส.ที่มีการปรับเปลี่ยนในทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม ร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนงานองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึงและปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ในการเป็น “องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม

สิ่งที่ผมจะทำต่อไป คือ การพัฒนาองค์กรอัยการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการทำงานของพนักงานอัยการ เปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงงานอัยการได้มาก โดย อส.จะจัดให้มีการสื่อสารในทุกช่องทางของการสื่อสารทางวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งหลายเข้าใจการทำงาน โดยเฉพาะสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ต้องได้รับทราบผลการดำเนินงานสำคัญแต่ละขั้นตอนและผลสำเร็จของงานสำคัญแต่ละเรื่องให้ตรงตามข้อเท็จจริง ทันต่อเหตุการณ์และจริงใจ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างเต็มที่ เพราะความจริงแล้วมองไปไกลกว่านั้น คือมุ่งหวังให้ อส.เป็นหน่วยงานนำ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานก็ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงานอัยการ โดยเปลี่ยนสารบบคดี ระบบงานสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และระบบข้อมูลบริหารงานบุคคลให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ส่วนหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐก็ดี รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่เป็นภารกิจของพวกเรานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ในการที่จะพัฒนาต่อไปนั้น หากมองในมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียวคงไม่รอบด้าน และไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อส.เองก็มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุดด้วย

บทบาทการสั่งคดีต่างๆ มีอะไรต้องปรับปรุง กฎหมายระเบียบเก่าๆ ที่ต้องรีบเเก้ไข บทบาทช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิประชาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 248 บัญญัติให้ องค์กรอัยการมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง นอกจากนี้ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ ให้เสนอต่อ อสส. และ อสส.มีอํานาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ อส.กําหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ. ให้นําความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคําร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคําร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม ประกอบมาตรา 22 ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 21 ซึ่งได้แสดงเหตุผลอันสมควรประกอบแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง

อส.จึงได้มีการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ตอบสนองในการบริการประชาชน ในการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นับตั้งแต่การใช้กฎหมายอัยการในปี 2553 ซึ่งครบ 10 ปี ตัวระเบียบและข้อกฎหมายอาจจะมีการขัดข้อง ได้แก่

1.กฎหมาย ประกาศคณะกรรมการอัยการเรื่องการแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของ สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2563

2.ระเบียบ ได้แก่ 1.ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 2.ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาชั้นศาลสูงของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 และ 3.ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี พ.ศ.2563

3.ระเบียบซึ่งออกในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ 1.ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเงินค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการธุรการสํานักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563 2.ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจําตําแหน่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 3.ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการและบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด 2563 4.ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 5.ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการจัดการรักษาความปลอดภัยและการจ่ายเงินรางวัล พ.ศ.2563 6.ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์แก่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2563 7.ประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การกำหนดให้มีตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด รองเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ปรึกษาระบบงานสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2563 8.ประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง มาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการธุรการและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งในตำแหน่งประเภทบริหาร พ.ศ.2563 และ 9.ข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563

คดีชุมนุมทางการเมือง มีการวางหลักไว้อย่างไร ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ ม็อบเยาวชนนักศึกษาร่วมด้วยกดดันจากผู้มีอำนาจหรือไม่ ท่านมีจุดยืนอย่างไร

คดีชุมนุมทางการเมืองเป็นคดีปกติที่เข้าสู่การพิจารณาพนักงานอัยการตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมายเป็นเรื่องปกติการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการไม่แตกต่างจากการพิจารณาสั่งสำนวนคดีทั่วไป พนักงานอัยการต้องมีการวินิจฉัยสั่งคดีด้วยความเป็นมืออาชีพปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม และเปิดเผยได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไม่ว่าจะเป็นใคร การใช้ดุลพินิจสั่งสำนวนของพนักงานอัยการทุกคนเป็นไปโดยการันตีว่าอัยการทุกคนมีอิสระไม่มีใครสั่งได้ พนักงานอัยการทุกคนมีอิสระในการพิจารณาสำนวนคดีเป็นของตนเอง ไม่มีใครสามารถสั่งได้ คล้ายกับผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม อสส.จะไปชี้นำสั่งอย่างไรไม่ได้เลย เป็นหลักประกันอัยการทำงานภายใต้ดุลพินิจ อสส.จะเข้าไปควบคุมได้ต่อเมื่อมีเหตุ เช่น พนักงานอัยการสั่งสำนวนช้าจนผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายร้องเข้ามา เราก็จะเข้าไปดูปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนหรือเปล่า แต่ดุลพินิจในการสั่งคดียังเป็นของเขาเหมือนเดิมโดยต้องใช้ข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน ใช้กฎหมาย
กฎระเบียบ ซึ่งเรามีการปรับปรุงกฎระเบียบที่รองรับในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก เอื้อต่อการอำนวยความยุติธรรมมากขึ้น หลักการทำงานของพนักงานอัยการทุกคนคือ “เราใช้พยานหลักฐานเป็นหลัก พิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวนภายใต้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง”

 

กระบวนการยุติธรรมที่จะทำให้ประเทศไทยไปต่อได้ต้องทำอย่างไร

ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการ การแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ให้ความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่บุคคล องค์กรอัยการก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องมีการพัฒนาทั้งองค์กรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดีที่สุดในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ “การนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมารับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ และปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรม” ในแง่นี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ สร้างเครื่องมือ วิธีการ ระเบียบในการที่จะดำเนินคดีเฉพาะกับคนที่กระทำความผิดจริงๆ และกลั่นกรองเอาคนบริสุทธิ์ออกจากกระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำสำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสัมผัสรับรู้ได้ถึงความยุติธรรมเพราะเมื่อพวกเขาเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ย่อมก่อให้เกิดภาระและความเดือดร้อน เสี่ยงต่อการสูญเสียอิสรภาพ และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ต้องพัฒนาหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถเอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน ข้อมูลสารสนเทศระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้บังคับให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้บังเกิดผลดี ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงแก่ สังคม บ้านเมืองและประเทศชาติต่อไป

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 โดยเน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาปรับใช้กับการทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการอื่นๆ รวมตลอดถึงการทำงานของหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน กระบวนการยุติธรรมไทยก็ควรจะต้องมีการวางแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ก็เพื่อการอำนวยความยุติธรรมที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และเพื่อเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

มิติใหม่อัยการกับทิศทางการบริหารองค์กรเพื่อตอบสนองกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการปรับเปลี่ยนมุมมองในการทำงานของพนักงานอัยการ จากเดิมที่อาจจะมองเฉพาะในมิติที่ว่าพนักงานอัยการมีอำนาจอย่างไรตามกฎหมาย มาเป็นมิติหน้าที่ของพนักงานอัยการต่อสังคมและต่อประชาชน เพราะในการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการนั้นมีกฎหมายรับรองให้อำนาจไว้ แต่การใช้อำนาจของพนักงานอัยการจะต้องคำนึงประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นหลักเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาแก่ประชาชน ซึ่งนโยบายของผมในฐานะอัยการสูงสุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2561 นั้น และยังยึดถือตลอดมาว่า หน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

อันดับแรกที่จะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนในห้างที่นครราชสีมาเมื่อต้นปี 2563 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทันทีเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายที่บาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิตให้ได้รับการดูแลทางกฎหมายอย่างรวดเร็ว ทั้งในการยื่นคำร้องจัดการมรดกและสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายต่างๆ ที่ผู้เสียหายมีสิทธิจะได้รับจากรัฐ และการให้คำปรึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่และอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนในเรื่องการดำเนินคดีนั้น พนักงานอัยการต้องใช้ดุลพินิจตามหลักวิชาชีพทางกฎหมายกล่าวคือ ต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก โดยไม่เอาเรื่องนอกสำนวนที่เขาเล่าว่าหรือกระแสสังคมมาใช้ในการพิจารณา เพราะเราไม่สามารถฟ้องผู้ใดตามความเชื่อ แต่ต้องฟ้องตามพยานหลักฐานที่สนับสนุนในสำนวน และหน้าที่ของอัยการคือการให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา รวมถึงผดุงความยุติธรรมในสังคม ดังนั้น หากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วพยานหลักฐาน

ในสำนวนฟังได้ว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้องพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาก็ให้มีคำสั่งฟ้องไป แต่หากพยานหลักฐานในสำนวนยังไม่เพียงพอที่จะมีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็ต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมหรือหากพยานหลักฐานในสำนวนไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาสั่งไม่ฟ้อง โดยไม่หวั่นต่อกระแสสังคมหรือสื่อโซเชียลใด ๆ ทั้งสิ้น

ในเรื่องการสั่งคดีพนักงานอัยการนั้นมีการปรับปรุงให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้นด้วย แต่เดิมระเบียบการดำเนินคดีอาญาพนักงานอัยการที่ใช้ปฏิบัติงานเป็นระเบียบที่ออกตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งบางเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงมาหลายสมัยผ่านอัยการสูงสุดมาถึง 7 ยุค จนมาสำเร็จในยุคผม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ อส.ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ที่ยกเลิกระเบียบฉบับปี พ.ศ.2547 โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในการพิจารณาสั่งคดีและการดำเนินคดีหลายเรื่อง เช่น การร้องขอความเป็นธรรมที่ยังคงหลักการให้มีช่องทางที่พนักงานอัยการสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาและผู้เสียหายที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนดำเนินการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยทางหนึ่ง แต่ก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณายุติเรื่องขอความเป็นธรรมหากเป็นประเด็นที่เคยขอความเป็นธรรมได้เคยพิจารณาไว้แล้วหรือการร้องขอความเป็นธรรมมีลักษณะการประวิงคดีให้ล่าช้า หรืออีกเรื่องคือ การสั่งยุติการดำเนินคดีในกรณีที่มีเหตุตามกฎหมายนั้น ระเบียบให้เป็นอำนาจของหัวหน้าพนักงานอัยการในการสั่งยุติการดำเนินคดีแต่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาถัดไปหนึ่งชั้นทราบเพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีการดำเนินคดีให้รอบคอบยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นอิสระของพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งคดีอันเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องรักษาไว้เพื่อไม่ให้ถูกครอบงำจากอิทธิพลภายนอกต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลที่ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น อส.จึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมเดียวกันนั้น ไม่อาจจะบรรลุผลในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบแยกส่วนที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานของตนโดยไม่มองหน่วยงานข้างเคียงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเดียวกันนั้น ไม่อาจจะบรรลุผลในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนเราอยู่ในสายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมเดียวกันแต่ตั้งต้นธารถึงปลายธารแต่ในลำธารแต่ละช่วงกลับมีการสร้างคันกั้นน้ำขึ้นมาเฉพาะส่วนของตนอยู่หลายที่ เรือที่เรียกว่าความยุติธรรม จึงไม่อาจแล่นไปได้ตลอดรอดฝั่งเพราะมัวแต่ติดขัดสะดุดอยู่ที่คันกันน้ำจุดต่างๆ ยิ่งพนักงานอัยการที่เปรียบดั่งกลางธารของกระบวนการยุติธรรมด้วยแล้ว ผมเห็นว่ายิ่งต้องทำงานประสานงาน บูรณาการกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด และไม่เฉพาะหน่วยงานในประเทศ แต่รวมถึง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศด้วย

เพราะปัจจุบันคดีที่เราเรียกสั้นๆ ว่า คดีความผิดนอกราชอาณาจักรนั้นเกิดขึ้นมากมายในโลกไร้พรมแดนและยังเป็นโลกของอาชญากรรมไซเบอร์ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องตามให้ทัน ไม่ติดขัดด้วยข้อจำกัดด้านอาณาเขตแบบเดิม และยังต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ตลอดจนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น

เราต้องเปลี่ยนมุมมองจากที่ให้ประชาชนเป็นผู้ขอความยุติธรรมจากรัฐ เป็นการที่รัฐต้องให้บริการความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เหมือนเอาความเป็นธรรมไปเสิร์ฟให้กับประชาชนในเชิงรุก ไม่ใช่คอยให้ประชาชนมาร้องขอ ซึ่งอส.พยายามปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับพนักงานอัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านช่วยเหลือประชาชน เมื่อก่อนอัยการอยู่ที่สำนักงานให้ประชาชนมาติดต่อยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันถ้าเรารู้ว่าประชาชนเดือดร้อนและเป็นเรื่องที่ช่วยได้ เช่น คนที่เจ็บป่วยติดเตียงเดินทางไม่สะดวกแต่มีเหตุให้อัยการต้องช่วยเหลือทางกฎหมาย พนักงานอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศก็จะเดินทางไปให้บริการให้คำปรึกษาหรือจัดทำเอกสารที่จะต้องใช้ในการยื่นเรื่องตามกฎหมายให้ถึงบ้านที่พักหรือที่โรงพยาบาลแล้วแต่กรณีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อขจัดอุปสรรคที่อาจนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางกฎหมายของประชาชน หรือปัจจุบัน อส.ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น AGO-Tracking หรือระบบติดตามข้อมูลคดีเพื่อบริการประชาชน ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้งานสามารถติดตามสถานการณ์ดำเนินคดี รวมถึงการนัดหมายของคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตได้ และสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไป คือ การทำให้องค์กรอัยการก้าวสู่การเป็นองค์กรนำในกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยจะเน้นการพัฒนาระบบงานที่เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และเข้าถึงการให้บริการของสำนักงานอัยการสูงสูดได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมในการทำงานขององค์กรอัยการให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลต่อไปในอนาคต

งานอีกด้านของพนักงานอัยการที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ แต่มีความสำคัญยิ่ง คือ งานด้านการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐ โดยสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายของ อส.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจร่างสัญญาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการทั้งโครงการด้านคมนาคม ด้านสาธารณสุข ด้านพลังงาน ด้านชลประทาน ด้านการสื่อสาร ซึ่งมีมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท เช่น สัญญาโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่อเนื่อง สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และล่าสุดที่มีความสำคัญยิ่งต่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คือ สัญญาโครงการการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นข้อตกลงในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับบริษัทต่างชาติ และได้สิทธิในการจองซื้อวัคซีนก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนไทยและการสาธารณสุขไทยในองค์รวม โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาอย่างรอบคอบ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่จะไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบในข้อสัญญาดังกล่าว

ซึ่งงานในด้านนี้ของ อส.เป็นเสมือนงานปิดทองหลังพระ เพราะเมื่อโครงการสำเร็จ หน่วยงานเจ้าของโครงการย่อมเป็นผู้ได้รับการกล่าวถึง แต่หากมีการผิดพลาดประการใดในการบริหารสัญญาของหน่วยงานต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวสัญญาที่อส.ได้ตรวจร่างไว้ดีแล้วหรือให้ข้อสังเกตไว้แล้ว คนที่ไม่รู้กลับมาโทษว่า สัญญาผ่านการตรวจของ อส.แล้วทำไมผลถึงออกมาแบบนี้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นคนละขั้นตอน แต่ก็ไม่เคยตอบโต้ ถือว่าทำเต็มที่เพื่อประโยชน์ของรัฐแล้ว

ในปีที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อรองรับการทำงานในเชิงรุก โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่หลายหน่วยงาน ได้แก่ สถาบันนิติวัชร์ สถาบันฝึกอบรมการว่าความชั้นสูง สถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งด้านการสอบสวน การดำเนินคดี และการว่าความของพนักงานอัยการ ตลอดจนการประสานเพื่อพัฒนาและสร้างความร่วมมือของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อันเปรียบเสมือนคลังสมองขององค์กรอัยการในการที่จะพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ยังจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ อส. ให้รับผิดชอบงานบริหารและดำเนินงานธุรการไม่ว่าจะเป็นงานงบประมาณ การคลัง พัสดุ อาคารสถานที่ ยานพาหนะ งานสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้การบริหารงานภายในของ อส.เป็นไปอย่างคล่องตัว และสามารถสนับสนุนการทำงานของพนักงานอัยการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งหนึ่งที่ได้พบเห็นและมีหลายหน่วยงานพยายามกระทำในอดีต คือการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและล้าสมัยแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ในฐานะที่เรามีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ทั่วประเทศทั้งในด้านอำนวยความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการรักษาผลประโยชน์ของรัฐทำให้อัยการสามารถมีข้อมูลและทราบถึงปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ผมจึงมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ของ อส.รวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ นี้เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจมีหน้าที่ทราบและแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาต่อไป

ส่วนทิศทางของกระบวนการยุติธรรมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ผมมองว่าปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในด้านต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง กระบวนการยุติธรรมไทยจึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวจากกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงอำนาจให้ก้าวสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนตระหนักรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเสมอภาค ผมมุ่งหวังที่จะให้ อส.พัฒนาไปในแนวทางดังกล่าว จึงได้ ก่อตั้งสถาบันนิติวัชร์ขึ้นเพื่อเป็นคลังสมองและแพลตฟอร์มในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยไปสู่มาตรฐานสากล โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมผ่านการสำรวจและทำวิจัยให้เกิดองค์ความรู้ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อต่อยอดนำองค์ความรู้ที่ได้มาทำให้เป็นรูปธรรมให้เกิดผลในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยโดยรวม และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน และผมมีความตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะพัฒนาให้ อส.เป็นองค์กรนำในกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image