รายงานหน้า2 : เสียงสะท้อน‘ใช้วัคซีนหาเสียง’ เลือกอปท.-แง่กม.-ความเหลื่อมล้ำ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักการเมือง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุผู้สมัครนายกและสมาชิกสภาเทศบาล จะนำการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปใช้ในการ หาเสียง สามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจูงใจให้เลือกนั้น

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

กรณีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกาศว่า พร้อมจัดซื้อวัคซีนโควิด ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ ตามกฎหมายจัดตั้ง อปท.ทุกประเภท บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ดังนั้น การจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ และหลังจากระดับพระราชบัญญัติกำหนดให้อำนาจไว้แล้ว จึงไม่จำต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับ
แต่ข้อเท็จจริงจะมีคำถามว่า อปท.จะซื้อที่ไหน ซื้ออย่างไร อบต.หรือเทศบาล ทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทต่างประเทศโดยตรงได้หรือไม่ บุคลากรที่จะฉีดวัคซีนจะหามาจากไหน คำตอบคือสามารถทำได้โดยจัดซื้อจากต่างประเทศ และสามารถทำหนังสือขอบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมาทำหน้าที่ฉีดวัคซีนให้ได้ รวมทั้งกำหนดในเงื่อนไขกำหนดให้เอกชนที่ขายวัคซีนต้องจัดบุคลากรทางการแพทย์มาพร้อมวัคซีนเพื่อบริการฉีดให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้ด้วย
สำหรับปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง อปท.ที่มีรายได้มากกับรายได้น้อย หากพิจารณาตามหลักการในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ อปท.เป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่
ดังนั้น อปท.ที่มีศักยภาพสามารถทำก่อนข้ามหน้าข้ามตารัฐบาลได้ ส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีงบจัดซื้อ ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องจัดหาสำหรับท้องถิ่นที่ขาดให้เพียงพอและเท่าเทียม
ขณะที่เรื่องความซ้ำซ้อนไม่ใช่ข้อพิจารณาของท้องถิ่น แต่เป็นข้อพิจารณาสำหรับราชการส่วนกลางที่จะต้องดำเนินการไม่ให้ซ้ำซ้อนกับท้องถิ่น เพราะกฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะในพื้นที่
ดังนั้น กรณีกระทรวงมหาดไทยออกมาเตือนไม่ให้ท้องถิ่นดำเนินการซ้ำซ้อนกับส่วนกลางจึงไม่ถูกต้อง
กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นออกมาประกาศความพร้อมที่จะจัดซื้อวัคซีน แม้บางส่วนจะมีเจตนาหาเสียงเนื่องจากใกล้จัดเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีเทศบาล เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริงทั้งโดยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง หากกระทรวงมหาดไทยเห็นว่ามีประเด็นใดที่จะต้องมีระเบียบรองรับก็เป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่จะต้องรีบออกระเบียบ
แต่การที่กระทรวงมหาดไทยยังไม่ออกระเบียบ ก็ถือว่าไม่ตัดอำนาจของท้องถิ่นที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

กกต.มองจากเจตนาในแง่อำนาจหน้าที่ของเทศบาลตามหลักการ เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ตามภารกิจด้านสาธารณสุข แต่จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะทับซ้อนกับการหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจาก ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้ง และ กกต.ได้เคาะวันเลือกตั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ทำให้ประจวบเหมาะในช่วงนี้พอดี
แม้ว่าอำนาจหน้าที่จะทำได้ แต่ในทางการเมืองก็มีส่วนสร้างความได้เปรียบระหว่างผู้ลงสมัครหน้าใหม่ หรือผู้ลงสมัครที่เคยดำรงตำแหน่งนายกอยู่ก่อน เพราะบางพื้นที่จะใช้งบมากกว่า 100 ล้านบาท จึงถูกตีความได้ว่ามีการใช้ส่วนนี้มาช่วยหาเสียง ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบอย่างแน่นอนกับผู้ที่รักษาการในขณะนี้
ดังนั้น กกต.จึงควรคิดทบทวนให้ดีว่าจะสร้างปัญหาให้กับผู้สมัครที่จะลงสมัครด้วย แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะรักษาการ อาจจะเสียเปรียบทางการเมือง
วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อน กกต.จะชัตดาวน์ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลที่รักษาการทั้งหมด ถ้านับช่วงนี้ก่อนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ การยื่นขอเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อผ่านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนไว้ก่อนมีความจำเป็นต้องรีบทำ
ขณะที่เทศบาลบางแห่งผ่านงบจัดซื้อไปแล้ว และมีการประเมินว่าสัญญาณนี้เหมือนมีการรู้อะไรกันวงในของนักการเมืองท้องถิ่นบางพื้นที่ที่มี
คอนเน็กชั่นกับรัฐบาล จึงมีการประชุมสมัยวิสามัญแล้วอนุมัติงบ
แต่ก่อนหน้านี้บางเทศบาลที่ยังลังเลใจในการใช้งบสะสมซื้อวัคซีน เมื่อ กกต.ชี้ช่องเชื่อว่าในสัปดาห์นี้ก่อน กกต.จะสั่งหยุดทำหน้าที่ จะต้องมีการเสนอเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง
เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการใช้งบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานตรวจสอบ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรให้ความสนใจไปตรวจสอบราคากลาง คุณภาพ ผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้เกิดวงจรผลประโยชน์ระหว่างพ่อค้าที่จะขายวัคซีนกับท้องถิ่น สตง.ควรเข้าไปดูเพราะเชื่อว่าหลายเทศบาลอาจจะมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส หรือหลักธรรมาภิบาลจากปัญหาเงินทอน นอกจากนั้น การเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อบรรจุญัตติซื้อวัคซีนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้น ผู้กำกับดูแลควรมีความรอบคอบพอสมควร หากเป็นไปได้ ผู้ว่าฯหรือนายอำเภอควรให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเพื่อให้การจัดซื้อโปร่งใสที่สุด
ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่จะต้องตั้งงบช่วงนี้ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะหากรัฐบาลมีงบเพียงพอก็จัดการเองได้ทั้งหมด เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเทศบาลนคร เทศบาลเมืองหลายแห่งมีงบสะสมจำนวนมาก
แต่เทศบาลตำบลที่เป็นพื้นที่ห่างไกล สถานะการคลังไม่ดีก็จะมีปัญหา แต่เมื่อ กกต.ส่งสัญญาณแบบนี้ก็ทำให้ผู้บริหารอาจช่วงชิงความได้เปรียบเพื่อซื้อวัคซีนแล้วนำไปใช้หาเสียง ขณะเดียวกันยังไม่เห็นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่ากรมคงจะมีแนวทางในการใช้งบสะสมเพราะอาจจะกระทบกับสถานะทางการคลัง
สำหรับภาคประชาสังคมส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะมองถึงประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น
แต่อีกส่วนที่เป็นส่วนน้อยต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่จะจัดซื้อมีคุณภาพมาตรฐาน มีผลกระทบน้อยที่สุด และมองว่ายังมีประชากรแฝงอีกจำนวนมากในเขตชุมชนเมืองขนาดใหญ่ จะมีโอกาสได้รับวัคซีนด้วยหรือไม่ หากมีการจัดซื้อตามรายชื่อในทะเบียนบ้านของท้องถิ่นแห่งนั้น
ดังนั้น เทศบาลควรแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อช่วยกันระดมทุนในการจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ครบ
แต่ต้องยอมรับว่าการซื้อวัคซีนโควิดเรื่องเดียวคงไม่ได้ใช้หาเสียงได้ทั้งหมด เพราะยังมีแนวนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การศึกษา แนวทางการปฏิรูปองค์กรที่มีความทันสมัย แต่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องหยิบยกเรื่องการซื้อวัคซีน ซึ่งเป็นเพียงการช่วงชิงความได้เปรียบจากงบท้องถิ่น เพื่อทำให้นายกรักษาการที่เตรียมลงสมัครอีกครั้งก็สามารถทำให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น
แต่ประชาชนควรดูผลงานเก่าๆ ดูนโยบายอื่น เพราะผู้สมัครมีหลากหลาย บางคนก็ต้องการเข้าไปทำงาน บางคนก็ต้องการเข้าไปหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เชื่อว่าประชาชนจะมีโอกาสเรียนรู้ก่อนใช้สิทธิลงคะแนน

ชำนาญ จันทร์เรือง
กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า

สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า กรณีผู้สมัครนายกและสมาชิกสภาเทศบาลจะนำประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปใช้ในการหาเสียง หากเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นก็สามารถจะทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจูงใจให้เลือก ก็เป็นสิ่งที่ถูก เหมือนสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่โฆษณาเรื่องกองทุนหมู่บ้านจนถูกร้องเรียนว่าเป็นการให้ ผมไม่ติดใจประเด็นของผู้สมัคร แต่ที่ติดใจคือ คนที่อยู่ในตำแหน่งไม่ควรขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังสมัย คสช.
การที่ท้องถิ่นของบเพื่อมาทำเป็นนโยบายจัดซื้อวัคซีน ต้องดูให้ดีว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นๆ สามารถทำได้หรือไม่ เพราะ อปท.บางแห่งที่มีขนาดเล็กก็ไม่สามารถทำได้ แต่หากทำ ไม่ได้แล้วยังไปโฆษณาก็อาจจะเป็นการโฆษณาเกินจริง
ขณะนี้ผมได้ทราบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายแห่งถูกร้องเรียนว่าใช้นโยบายหาเสียงเกินจริง และไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง
คณะก้าวหน้าเห็นว่า งบประมาณการจัดซื้อวัคซีนควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน และให้ท้องถิ่นจัดการต่อ เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นได้ดีกว่าท้องถิ่นเอง
นอกจากนี้ บางพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลย จึงเป็นเรื่องของความจำเป็นในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ส่วนที่บางคน
เสนอให้ใช้เงินสะสมของท้องถิ่นมาจัดซื้อวัคซีนนั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะเงินสะสมควรนำไปใช้ในเรื่องจำเป็นจริงๆ
สรุปคือ ส่วนกลางควรเป็นฝ่ายออกเงิน และให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายจัดการ เพื่อให้เข้ากับหลักการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง หากให้ท้องถิ่นใช้งบตัวเอง
นั่นคือการปัดความรับผิดชอบ และเบียดบังท้องถิ่น

Advertisement

เกรียงไกร พานดอกไม้
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผอ.กกต.) ประจำจังหวัดเชียงใหม่

กรณีรัฐบาลอนุมัติจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เบื้องต้นกำหนดรับสมัครวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ และเลือกตั้งวันที่ 28 มีนาคมนี้ ยังไม่มีข้อสรุป อาจปรับเปลี่ยนได้ ต้องรอ กกต.ประกาศเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ก่อน ถ้าเป็นไปตามกำหนดเดิม เทศบาลแต่ละแห่งสามารถจัดเลือกตั้งได้ทันที โดยมีปลัดเทศบาล ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลและ กกต.ท้องถิ่น แห่งละ 3 คน ดำเนินการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562
การเลือกตั้งเทศบาลเหมือนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน คือเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับจาก กกต.ประกาศเลือกตั้งเป็นทางการ หากประกาศเลือกตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทันที เพื่อเข้าสู่โหมด เลือกตั้งตามไทม์ไลน์ ซึ่งคุณสมบัติผู้สมัคร หรือข้อห้ามรับสมัครเช่นเดียวกับ อบจ.
โดยเปิดรับสมัครที่เทศบาลแต่ละแห่ง ส่วนหน่วยเลือกตั้งให้ผู้ลงคะแนนใช้สิทธิหน่วยละไม่เกิน 600 คน เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ควบคุม คัดกรองโควิดรอบใหม่ ซึ่งเชียงใหม่มีเทศบาล รวม 121 แห่ง จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 211 แห่ง ที่จัดเลือกตั้งพร้อมกัน
กรณีผู้สมัครมีแนวคิดฉีดวัคซีนฟรีเพื่อป้องกันโควิด เพื่อใช้เป็นนโยบายหาเสียงนั้น สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องเข้า 3 เงื่อนไขคือ เป็นอำนาจหน้าที่ท้องถิ่น มีงบประมาณรองรับ และสามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโควิดเท่านั้น ยังรวมไปถึงวัคซีนป้องกันและรักษาโรคอื่นที่จำเป็นขั้นพื้นฐานด้วย
ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลที่อยู่ในตำแหน่งและรักษาการรวมกว่า 6 ปีนั้น มีผลต่อคะแนนนิยมผู้บริหารชุดเดิมบ้าง เพราะดูแลทุกข์สุขประชาชนมานาน
หากเป็นผู้บริหารที่เสียสละเอาใจใส่ประชาชนอาจได้รับเลือกอีกสมัย ทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ดูแลประชาชน ไม่มีผลงาน แสวงหาแต่ผลประโยชน์ ประชาชนคงไม่เลือกอีก
ดังนั้น เชื่อว่าผู้สมัครเดิม หรือผู้สมัครใหม่ ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก ขึ้นอยู่กับนโยบาย วิสัยทัศน์ ใครดูแลประชาชนได้ดีกว่ากันมากกว่า
ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีกฎหมายบังคับใช้ 100% ว่าที่ผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ แต่ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ถ้ามีการร้องเรียนหรือคัดค้านเลือกตั้ง สามารถนำพฤติกรรม ข้อมูล หลักฐานการกระทำผิดมาประกอบสำนวนพิจารณาคดีได้ แม้การกระทำผิดดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง
ดังนั้น อยากให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร กกต. ศึกษาระเบียบกฎหมายและกติกาการเมือง ที่สำคัญอยากให้เลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ทำผิดกฎหมาย และเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image