รายงานหน้า2 : ติวเข้ม‘ฝ่ายค้าน’ ก่อนยื่นญัตติ‘ซักฟอก’

หมายเหตุนักวิชาการชี้แนวทางและข้อเสนอแนะต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านในการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 25 มกราคมนี้

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การอภิปรายครั้งนี้มีเดิมพันของฝ่ายค้านค่อนข้างสูง เนื่องจากครั้งที่ผ่านมา อภิปรายจบแล้ว ประชาชนบางส่วนอาจไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน เพราะคิดว่าฝ่ายค้านบางส่วนไปซูเอี๋ยกับรัฐบาล และฝ่ายค้านบางส่วนที่ว่านั้นก็คือพรรคแกนนำ ดังนั้นการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นประชาชนกำลังจับตาดูว่ามีรัฐมนตรีคนไหนจะโดนอภิปราย
ขณะนี้ก็เริ่มสงสัยถามว่าทำไมในรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ไม่มีรายชื่อรัฐมนตรีบางราย คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่รอดจากการอภิปรายเมื่อครั้งที่แล้ว และคราวนี้หากไม่มี พล.อ.ประวิตรอีก ประชาชนก็อาจจะข้องใจว่ามีการต่อสายภายในกันหรือไม่ หรือถ้ามีชื่อ พล.อ.ประวิตร ประชาชนก็ยังสงสัยว่าทำไมไม่มีรายชื่อนี้ถูกเสนอมาจากพรรคเพื่อไทย ส่วนสาเหตุที่มีรายชื่ออาจจะมาจากโดนแรงกดดันจากพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงมีเดิมพันสูงกว่าพรรคอื่น
สำหรับข้อมูลการอภิปรายต้องทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าทำไมรัฐมนตรีตอบได้ไม่ชัดเจน หรือถ้ามีข้อมูลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีโมโหได้มากเท่าไหร่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ที่ผ่านมายอมรับว่ารัฐบาลไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาทั้งบ่อนกาสิโน แรงงานเถื่อน ส่วนการทุจริตเชิงนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามดูว่าฝ่ายค้านจะพูดให้ประชาชนคล้อยตามได้หรือไม่ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริง ขณะที่การอภิปรายหากทำได้ดี มีคุณภาพก็จะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเทศบาล ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งในชุมชนเมือง เชื่อว่าพรรคก้าวไกลน่าจะมีความหวังจากโอกาสนี้ เพื่อทำให้การอภิปรายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านคงจะเลือกอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลมากกว่าการอภิปรายทั้งคณะ เพราะอาจจะมีสายสัมพันธ์กับ 2 พรรคการเมืองขนาดกลาง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งดูแค่การไหว้ครูที่มีทีท่าน่าเกรงขาม แต่ต้องดูมวยที่ชกจบแล้วว่าจะมีซูเอี๋ยกันอีกหรือไม่ และขอบอกล่วงหน้าว่าครั้งที่แล้วทำให้คนดูผิดหวัง ดังนั้นคราวนี้ต้องแก้ตัวให้ได้ อย่าให้บรรยากาศเป็นแบบเดิม ไม่เช่นนั้นต่อไปถ้าพูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกประชาชนอาจจะไม่สนใจ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องติดตาม
ธรรมชาติของฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ จะต้องใช้การอภิปรายเพื่อจี้จุดอ่อนของรัฐบาลให้ประชาชนเห็นว่าการบริหารงานมีความผิดพลาดตรงไหนบ้าง ทำให้ดูดีมีคุณค่ามากกว่าครั้งที่แล้ว ที่สำคัญพรรคฝ่ายค้านควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงผลงานบ้าง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองมีความพยายามในการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญในสภา

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

การอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลคงผ่านได้ เนื่องจากเสียงในสภาห่างกันมาก นอกจากนั้นภายในพรรคฝ่ายค้านมีปัญหาเรื่องเอกภาพในพรรคแกนหลัก คือพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้าง ส่วนพรรคก้าวไกลหลังยุบพรรคอนาคตใหม่มีกระแสลดลงเพราะไม่มีบุคลากรการเมืองที่โดดเด่นทำหน้าที่ในสภา หรือการเลือกตั้งสนามการเมืองท้องถิ่นล่าสุดในนามคณะก้าวหน้าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้จุดนี้เป็นปัญหาของฝ่ายค้าน รวมทั้งเรื่องล่าสุดกรณีการยื่นถอดถอนนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นปัญหาระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน
แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องเน้นย้ำจึงไม่ใช่เรื่องการเมืองในสภา เพราะฝ่ายค้านอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ดังนั้นฝ่ายค้านจึงต้องให้ความสนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ความเสมอภาคด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องที่สะท้อนภาพให้เห็นได้ชัดในวิกฤตโควิด-19 ว่าปัญหาเศรษฐกิจมีผลกระทบหลายด้าน ส่วนความเสมอภาคเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งปัญหาที่สะท้อนไปสู่กลไกภาครัฐที่มีความเป็นรัฐราชการ เรื่อง บ่อนการพนัน แรงงานต่างชาติ ซึ่งโครงสร้างรัฐยังไม่ปรับเปลี่ยนทำให้มีปัญหา จึงเป็นจุดที่ฝ่ายค้านต้องนำเชื่อมต่อกับการเมืองนอกสภาให้ได้
สำหรับการอภิปรายครั้งนี้อาจจะได้เห็นข้อมูลที่เป็นเชิงลึกจริงๆ นอกจากที่เคยนำเสนอผ่านสื่อ หากไม่มีอะไรใหม่ประชาชนก็อาจจะไม่สนใจติดตามมากนัก เพราะโลกในยุคสังคมโซเชียลมีเดียยังมีอีกหลายช่องทางที่สามารถติดตามข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งอาจจะได้รับข้อมูลมากกว่าการฟังอภิปราย ดังนั้นเมื่ออยู่ในภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ฝ่ายค้านก็ไม่ควรทำตัวล้าหลังเหมือนกลไกของรัฐสภา ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงทำให้ข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพในเชิงตรวจสอบ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการทราบ แต่เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านจะต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร โดยไม่ใช้โอกาสให้เหมือนที่ผ่านมา เช่น อภิปรายไม่จบ รัฐมนตรีบางรายไม่ถูกอภิปรายก็ลงมติโหวต ดังนั้นจึงต้องยกระดับการทำงาน และใช้กลไกของพรรคการเมืองเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมให้มากขึ้น
การอภิปรายครั้งจะมีรัฐมนตรีประเภทสายล่อฟ้าอยู่ในเป้าหมาย 2-3 ราย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็เป็นเป้าหมายหลัก

พินสุดา วงศ์อนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การอภิปรายของฝ่ายค้านต้องมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานประกอบว่ารัฐบาลบกพร่องเรื่องใดบ้าง พร้อมเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ที่สามารถปฏิบัติได้ ที่สำคัญฝ่ายค้านต้องมีเอกภาพ โดยกำหนดผู้อภิปราย จัดสรรเวลา และเนื้อหาสาระที่ตอบโจทย์ประชาชนที่ติดตามอภิปรายดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ ดังนั้นฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ขุดค้นหลักฐานและตีแผ่ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากเรื่องโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว การตรวจสอบเรื่องบ่อน แรงงานเถื่อน การกักตุนหน้ากาก เป็นเรื่องสะท้อนการบริหารราชการที่ผิดพลาด หรือล้มเหลวการใช้งบประมาณ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยตรง ดังนั้นฝ่ายค้านควรใช้เวทีสภาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการรณรงค์ให้ประชาชนหรือสังคมตื่นตัวการอภิปรายดังกล่าวเพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลรับฟังเสียงฝ่ายค้านและสังคมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม
การอภิปรายของฝ่ายค้านที่ผ่านมา เนื้อหาข้อมูลกระจัดกระจายไม่ค่อยมีน้ำหนัก ไม่ส่งผลให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ ประกอบกับการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกนั้น ลงคะแนนเสียงไม่เท่ากัน สะท้อนภาพฝ่ายแตกแยกหรือไม่มีเอกภาพมากนัก บางพรรคหรือ ส.ส.บางราย อาจมีข้อตกลงกับรัฐบาลในทางลับ ไม่ยกมือโหวตหรือไม่ลงคะแนนเสียง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความไว้วางใจมากกว่ารัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกดังกล่าว โดยแลกกับงบพัฒนาจังหวัดและพื้นที่ ส.ส.ดังกล่าว อาทิ งบช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ เป็นการเอื้อประโยชน์ หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นครั้งไป แต่ไม่ได้ผูกมัดถาวรหรือเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับบริบท และสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร
แต่การอภิปรายสามารถสร้างแนวร่วมประชาชนและเครือข่ายประชาธิปไตยนอกสภาได้เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล ไม่ให้เหลิง ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จนมองข้ามหัวประชาชน ผู้เสียภาษีไป ที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

จุดมุ่งหมายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการมาบอกว่าการบริหารงานของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องบอกให้ได้ว่ารัฐบาลผิดพลาดอย่างไร เพื่อเป็นข้อเสนอแนะ ส่วนการหวังว่ายกมือแล้วจะรอดหรือไม่รอดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเป็นการอภิปรายที่ทำให้รัฐบาลรู้ตัวว่าตัวเองทำถูกไหม และทิศทางที่ถูกควรเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องมองว่าคือจุดประสงค์อย่างแรก เพราะฉะนั้น ความคาดหวังไม่ได้อยู่แค่ในสภาเท่านั้น แต่อยู่นอกสภาด้วย หลายคนมองว่าอภิปรายแล้ว
ไม่ได้อะไร เพราะอย่างไรรัฐบาลก็รอด การอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้ ประเด็นจึงต้องชัด หยิบประเด็นที่ตรง ไม่ใช่ประเด็นที่กว้าง เรียบ ไม่ได้ผล
แม้ว่าเมื่อวัดที่คะแนนเสียงแล้ว มันยากที่จะชนะ แต่เราต้องบอกประชาชน ประชาชนเป็นคนตัดสิน ถึงคะแนนเสียงจะไม่ชนะ แต่อย่างน้อย การทำให้เกิดความลังเลใจของประชาชนหรือทัศนคติการสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลคือจุดที่ฝ่ายค้าน
ควรโฟกัสมากกว่า หัวใจของการอภิปรายอยู่ที่เนื้อหาอย่างเดียว จะต้องเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าประชาชนเห็นด้วยว่ามันเป็นอะไรที่เป็นการบริหารที่ผิดพลาดจริงๆ ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้มีหลายแง่มุม ซึ่งต้องทำให้คนเห็นจริงๆ อย่าให้เป็นนามธรรมมาก แต่ต้องเป็นรูปธรรม ว่าสิ่งที่ผิดคืออะไร สิ่งที่ฝ่ายค้านควรทำคือสร้างความแตกต่าง อย่าติเฉยๆ ต้องติเพื่อก่อ และบอกได้ว่าควรเป็นอย่างไร ฝ่ายค้านเสียเปรียบเรื่องจำนวนคนอยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือสร้างให้เกิดความคลางแคลงใจรัฐบาลในหมู่ประชาชน นี่คือเป้าหมายที่ควรมองมากกว่าสิ่งอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image