แฟลชสปีด : หมอชนะ การบริหารที่ไม่เชื่อประชาชน

ภารกิจรัฐบาลในการพัฒนาประเทศนั้นมี 2 แนวทางใหญ่ๆ

หนึ่ง รัฐใช้อำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นรัฐบาลที่เห็นว่าประชาชนไม่มีความสามารถจัดการตัวเองได้ จำเป็นต้องจัดการให้เป็นไปตามการนำของรัฐ

ประชาชนมีหน้าที่แค่ทำตาม และมีบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด

สอง รัฐมีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนจัดการตัวเอง เป็นรัฐบาลที่เชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถบริหารจัดการตัวเองได้

Advertisement

รัฐมีหน้าที่จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือมาอำนวยความสะดวกให้ตามที่ประชาชนต้องการ

ทุกประเทศจะผสมผสานการพัฒนาทั้งสองแนวทางนี้ ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงใจประเทศของตัวเอง จัดสัดส่วนระหว่างบังคับกับการอำนวยความสะดวกให้จัดการตัวเองตามสภาพของประเทศนั้นๆ ใช้อำนาจมากบ้าง เชื่อมั่นในประชาชนมากบ้าง แล้วแต่ความเป็นไปของสังคม

ประเทศไหนจัดสัดส่วนได้เหมาะสม การบริหารจัดการจะมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจัดสัดส่วนผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ความไร้ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้น

Advertisement

ประเทศที่รัฐบาลเอาแต่ใช้อำนาจโดยไม่ประเมินความรู้ความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชน ย่อมสร้างความอึดอัดในการอยู่ร่วมกัน

“หมอชนะ” แอพพลิเคชั่นสู้โควิด-19 เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการให้น้ำหนักแนวทางบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้

“หมอชนะ” เป็นแอพพ์กลุ่มอาสาสมัครร่วมมือกันออกแบบมาเพื่ออำนาจความสะดวกให้ประชาชนที่โหลดมาใช้สามารถปกป้อง หรือป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงของการติดเชื้อ

โดยประสิทธิภาพของ “หมอชนะ” ทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ว่าได้เข้ามาใกล้ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เสี่ยงว่าจะติดเชื้อหรือไม่ในแต่ละวัน หรือในระยะการฟักตัว 14 วัน

ใครติดเชื้อแอพพ์จะขึ้นคิวอาร์โค้ดเป็นสีแดง ใครใกล้คนติดเสื้อในระยะเสี่ยงจะเป็นสีส้ม ใครที่ไปใกล้คนสีส้มจะเป็นสีเหลือง คนที่ไม่อยู่ในความเสี่ยงจะเป็นสีเขียว

ใช้คนเป็นตัวกำหนดความเสี่ยง

เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถช่วยเหลือตัวเองในการตรวจสอบความเสี่ยงได้ โดยมีทีมอาสาช่วยเป็นหลังผ่านสอดส่องและส่งสัญญาณเตือนให้

หลังจากที่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องควบคุม กลับกลายเป็นว่าแอพพ์นี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการตรวจสอบประชาชนเป็นหลัก

ประชาชนหมดโอกาสในการมีส่วนร่วมปกป้องตัวเอง

ที่ประชาชนเห็นคือทุกคนเป็นสีเขียวหมด ไม่มีสีเหลือง สีส้ม สีแดงเพื่อให้ประชาชนพึ่งพาในการปกป้องตัวเอง

หลังรัฐเข้ามาจัดการ “หมอชนะ” วัตถุประสงค์ของทีมอาสาที่เชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้หากมีการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ได้สูญเสียไป

เพราะรัฐบาลเชื่อมั่นในวิธีที่เป็นผู้ออกคำสั่ง เป็นผู้ควบคุมจัดการมากกว่าการปล่อยให้ประชาชนดูแลตัวเอง

ประโยชน์ของการติดตั้ง “หมอชนะ” ไว้ในโทรศัพท์ จึงเหลือเพียงทำให้กลไกรัฐสามารถตรวจสอบไทม์ไลน์ของประชาชนได้ โดยไม่มีประโยชน์อะไรกับการทำให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตัวเอง

ทรรศนะการบริหารจัดการที่เห็นได้จาก “หมอชนะ” นั้น

หากขยายมุมมองออกไป จะพบว่าถูกใช้ในเรื่องอื่นๆ แทบทุกเรื่อง

รัฐบาลเน้นที่จะออกคำสั่ง และบังคับให้ประชาชนทำตามเสียจนมุมมองความเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้หายไป

ทั้งที่ปัญหาการระบาดทั้งหลายนั้น หากตรวจสอบลึกลงไปล้วนแล้วแต่เกิดจากการละเลยของกลไกรัฐแทบทั้งสิ้น

แต่รัฐบาลกลับเชื่อมั่นในกลไกอำนาจ มากกว่าที่จะเชื่อว่าประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image