บทนำวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 : ระเบียบสังคม

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนายซูไลฟาน แวหามะ นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร้องเรียนเรื่องระเบียบมหาวิทยาลัย เรื่องการแต่งกาย การไว้หนวดเครา ทำให้ตนเอง ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์มุสลิมที่ไว้เครา ถูกให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาแล้ว และได้เชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มาชี้แจงระเบียบการห้ามไว้หนวดเครา ได้รับคำชี้แจงว่า เป็นระเบียบที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 และเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2559 คณะอนุฯได้มีมติให้นัดประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาระเบียบนี้ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้อง มาให้คำชี้แจง

เมื่อเร็วๆ นี้ อัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี เยาวชนชาย 2 คน อายุ 16 และ 18 ปี กับเยาวชนหญิงวัย 16 ปี แกนนำกลุ่ม “นักเรียนไท” ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม บริเวณแยกราชประสงค์ หนึ่งในเยาวชน 3 คน ได้โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า ไม่รู้สึกเลยว่ากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กออกแบบมาเพื่อเด็กจริงๆ ในกระบวนการมีนักจิตวิทยา แต่เอาเข้าจริงๆ การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้จิตใจเราตกต่ำลงแบบคูณร้อย คิดจะฆ่าตัวตายหลังกลับถึงบ้าน กำลังจะต้องนัดพบนักจิตบำบัด เกิดความหวาดกลัว ระแวง วิตกกังวล และจมอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ บรรยากาศที่เจอฉายเป็นภาพซ้ำๆ วนอยู่ในหัว แต่ก็จิกหัวตัวเองขึ้นมาอยู่ดี งานการต้องทำ ยังหยุดเคลื่อนไหวไม่ได้ ก็ต้องสู้ต่อไป แล้วค่อยกลับไปนอนจมกองทุกข์

รัฐในฝันของประชาชนไม่ว่าเพศวัยใด ศาสนาหรือความเชื่อใด คือรัฐที่ปฏิบัติต่อสมาชิกอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ยุติธรรม ภายใต้ระเบียบ กฎหมายเดียวกัน สิ่งที่เกิดกับนักศึกษามุสลิมที่พ้นสภาพนักศึกษาแพทย์เพราะไว้หนวดเครา และเยาวชนที่ต้องเคร่งเครียดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตาม สังคมไทยกำลังตั้งคำถามมากขึ้นและมากขึ้น ถึงระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดขึ้นโดยความคิดความเชื่อของผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว ไม่ได้คำนึงถึงฝ่ายที่จะต้องรับผลจากกฎระเบียบ ทำให้กลายเป็นปัญหากับผู้ใช้กฎหมายและผู้รับผลด้านลบจากการใช้อำนาจนั้น เรื่องนี้ควรจะเป็นอีกประเด็นสำหรับการถกเถียง หาข้อสรุป เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image