รายงานหน้า2 : ถอดสลัก‘ขัดแย้งหรือซื้อเวลา’ มติกมธ.เลือกตั้ง‘200ส.ส.ร.’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญมีมติถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเลือกตั้ง 200 ส.ส.ร.ทั้งหมด ถือว่าลดแรงตึงเครียดไปได้มาก ขณะเดิมมีระบบโควต้าจากการสรรหา ซึ่งผู้เกี่ยวข้องคงคิดมาแล้วว่าการเคาะมติแบบนี้คงลดแรงกดดันทางการเมืองและทางสังคมได้ แต่ 200 ส.ส.ร.จะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนต้องติดตาม เพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่ละครั้งจะมีการสรรหา ส.ส.ร. แต่ถึงที่สุดแล้วก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น เมื่อมี ส.ส.ร.แล้วก็ควรจะมีบทบาท หรือผลงานในการร่างจริงๆ ส่วนนักวิชาการ นักรับจ้างเขียนรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ควรทำตามเจตจำนงของ ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน ก็จะทำให้การแก้ไขจะเดินหน้าไปได้ ทั้งที่เดิมมีความพยายามจะยื้อเวลาในการประชุม หรือการเลื่อนประชุมเพราะกลัวโควิด แต่มติที่ออกมาถือว่าน่าพอใจ

Advertisement

หลังจากนี้จะต้องติดตามทุกความเคลื่อนไหว โดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน มีประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการร่างก็จะดีมาก ทำให้แรงกดดันทางการเมืองผ่อนคลาย ถือว่าถอดสลักไปได้ จากปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ หรือการได้วัคซีนล่าช้า

ส่วนการประเมินทิศทางการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ในลักษณะไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยแบบนี้ โดยไม่มีการถกเถียงหรือการยื้อเวลา เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีบางอย่างที่มาจากกระแสการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เพื่อนำมาขับเคลื่อนทางการเมืองต่อไปอย่างไร แต่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมดยังมีเรื่องอื่นที่เป็นปัจจัย เพื่อลดแรงกดดันจากการดำเนินคดีกับแกนนำการเคลื่อนไหว รัฐบาลจึงหยิบไพ่ตัวนี้มาเล่นเพื่อให้เห็นว่าต้องการจะประนีประนอมและถอดสลักจากความขัดแย้ง ขณะที่การมีกรรมการสมานฉันท์ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะแทบจะไม่มีอะไรเหลือที่จะผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมือง ดังนั้น หวยจึงมาออกที่การเลือกตั้ง 200 ส.ส.ร.

ที่น่าสนใจคือเมื่อมีการร่างจริงผู้มีอำนาจจะเอาใครเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งจะมีผลพอสมควร ดังนั้น จึงต้องดูกระบวนการและรายละเอียดอย่างใกล้ชิดว่าประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในประเด็นต่างๆ
ส่วนตัวไม่ได้สนใจว่าหากมีกระบวนการแบบนี้ รัฐบาลจะลากยาวไปได้ 2 ปี เพราะหากกระบวนการร่างสมเหตุสมผล มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน มีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง แล้วออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

Advertisement

สำหรับเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. น่าจะเป็นเขตจังหวัด ขณะที่ทุกฝ่ายที่มีฐานการเมืองของตัวเองก็ต้องการที่จะเข้ามามีบทบาท ถ้าทำในระดับประเทศข้อดีก็คือจะเห็นภาพรวมทั้งหมดหรือทิศทางในการร่าง

แต่ต้องเข้าใจว่าหากผู้สมัครอยู่ที่ จ.ขอนแก่น แต่คนเลือกตั้งอาจอยู่ จ.ปัตตานี โดยไม่รู้จักกัน ถือเป็นข้อดีในการลดบทบาทจากคนของพรรคการเมือง แต่ในทางกลับกันเป็นการลดอำนาจการเข้าถึงตัวของผู้สมัคร
ดังนั้น การเลือก ส.ส.ร.ในเขตจังหวัดจึงตอบโจทย์ทางการเมืองและตอบโจทย์ความเป็นไปได้ ที่จะให้ประชาชนเข้ามารับฟังความคิดเห็นหรือแนวทางการทำงานจากผู้เสนอตัวซึ่งอาจเป็นอดีตนักการเมือง หรือผู้ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพได้มากขึ้น

 

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

รัฐบาลคงประเมินกระแสแล้วว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน พรรคร่วมรัฐบาลยังได้เปรียบแม้ว่าจะมีออกหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติไม่ให้ ส.ส.ร.สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่เอาผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปทำหน้าที่

แต่โดยพฤตินัยเชื่อว่าผู้ที่ได้รับเลือกบางส่วนยังให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสรรหาหรือแต่งตั้ง เพราะจะมีปัญหาจากโควต้านักเรียน นักศึกษาจะมีใครสนใจเข้ามาร่วมหรือไม่ หรือจะไม่มีใครร่วม หลังมีการออกแบบสรรหาโดย กกต.

หรือในกลุ่มอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่บางส่วนยังมีความขัดแย้งจะเลือกนักวิชาการอย่างไร แต่หากจะให้เหมาะสม หลังเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้ว กลุ่มนักวิชาการก็ควรไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่าง โดยทำหน้าที่เป็นช่างตัดผมตามที่เจ้าของศีรษะต้องการ ใช้เนื้อหาสาระจาก ส.ส.ร.เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน จากการรับฟังความเห็นผ่านทุกระบบโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย

ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด เชื่อว่ารัฐบาลยังมีโอกาสคุมได้ ส่วนร่างแก้ไขหลักที่รัฐบาลยอมถอย เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงเพราะดูแล้วถือว่ายังได้เปรียบ และทำให้ได้คะแนนนิยมจากผู้คนในสังคม ที่ทำให้เห็นว่ายังรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่สำคัญกว่าจะมีการเลือก ส.ส.ร.ก็ต้องมีการทำประชามติ ถือว่าทำให้รัฐบาลมีโอกาสอยู่ยาว ใกล้ครบวาระการทำงาน 4 ปี

ส่วนการพลิกวิธีการได้มาของ ส.ส.ร.ตามมติ กมธ. อาจจะมีปัญหาในการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน เพราะยังไม่ได้เชิญผู้สงวนคำแปรญัตติไปให้ความเห็น และในการประชุมวาระ 2 ก็ต้องดูว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับผู้ที่แปรญัตติหรือ กมธ. สำหรับเสียงของ ส.ว. เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็น่าจะเหลือเวลาทำงานตามบทเฉพาะกาลอีกปีเดียว

เพราะฉะนั้นหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าตามรัฐธรรมนูญใหม่ คาดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสนใจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าคงจะมีการเปลี่ยนตัวผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บุญคุณเดิมที่เคยยกมือให้เพราะมาจากการแต่งตั้งก็คงหมดกันไป ที่สำคัญที่มาของ ส.ว.ในอนาคต หลังหมดเวลาจากบทเฉพาะกาลก็คงจะมาทำหน้าที่ด้วยวิธีการอื่น

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.รังสิต

แสดงว่า ณ ตอนนี้แกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีความเชื่อมั่นอย่างสูงในทิศทางของการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยเต็มใจให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เท่าใดนัก
เป็นทิศทางการเมืองที่ส่งนัยยะบางอย่างให้เกิดความมั่นใจ คือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)

ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทิศทางส่วนใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐ มักประสบความสำเร็จในจำนวนที่ผ่านการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งความเชื่อมโยงถึง ส.ส.ร. เพราะปัจจัยที่คนจะกลับไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แน่นอนว่า ความรู้ ความเข้าใจ ความเท่าทันประโยชน์ของที่มา ส.ส.ร.นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความใกล้ชิด ผูกพัน เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเป็นไปได้ว่าทิศทางของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ ตัวเลขก็คงไม่มากเกินกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หมายความว่า รัฐบาลสามารถคุมทิศทาง จำนวนตัวเลขของผู้ที่จะผ่านไปนั่งเก้าอี้ ส.ส.ร.ได้

ดังนั้น ตัวแทนหรือคนที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลวางตัวเอาไว้ ก็คงเตรียมการกำหนดคุณสมบัติอย่างมีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะได้ออกแบบหน้าตาของ ส.ส.ร.ของตัวเองเอาไว้

อีกทั้งยังเป็นการลดข้อครหาว่า ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากประชาชน ได้อย่างกลบไปเสียสนิท และเท่ากับว่าลดอุณหภูมิการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาไปโดยปริยายด้วย

ถามว่า จะเป็นเพียงการลดกระแส แล้วคว่ำ ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน ในวาระ 2, 3 หรือไม่นั้น ผมว่า “ไม่” ถ้าทิศทางชงกันมาขนาดนี้แล้ว เพราะแน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังเดินหน้าไม่ไปไหน ส.ส.ร.คงเป็นไปในลักษณะซื้อเวลาควบคู่กันไปได้ด้วย

ในเมื่อกำหนดสเปกของ ส.ส.ร.ไว้ว่า ต้องเป็นอดีตข้าราชการมาก่อน กระแสธารที่จะดำเนินการ จึงไปในแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาลโดย พปชร.เป็นหลักอยู่แล้ว เพราะ ส.ส.ร.มีคุณสมบัติอยู่ข้อหนึ่งว่า จะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางมากที่สุด เมื่อกำหนดคุณสมบัติแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ส.ส.ร.แต่เดิมในอดีต อาจจะผ่านการเลือกตั้งเข้ามาในรัฐธรรมนูญ 40 ส่วนมากก็เป็นอดีตข้าราชการ ส่วนนักการเมืองหรือผุู้ที่ทำงานภาคประชาสังคม ก็มีไม่มาก

ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองทิศทางไว้ว่า อดีตข้าราชการได้ประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจรัฐมาก่อน ตลอด 7 ปีในรัฐบาลคุณประยุทธ์ ก็คงมองทิศทางไม่ต่างจากรัฐบาลคุณประยุทธ์เท่าใดนัก แม้เดิมที ทิศทาง ส.ส.ร.ที่มาจากรูปแบบการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลไม่ค่อยเต็มใจ แต่จะยินดีสนับสนุน เมื่อเห็นทิศทางหลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชัยชนะในอนาคตได้ด้วย

ผมคิดว่า การกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส.ร.นั้น แน่นอนว่า กมธ.ในการอภิปราย หารือ ตรวจสอบคุณสมบัติ จะต้องเข้มข้นกว่าสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะแน่นอนว่า เสียงครหาจะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ว่าทำไมรอบนี้รัฐบาลยินยอมให้เป็นไปตามแนวทางที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากให้เป็น ซึ่งตรงนี้ กมธ.จะต้องมีการกำหนด นัดประชุม เพื่อหารือกับทุกฝ่าย ว่าสเปกของ ส.ส.ร.จะต้องไม่เป็นภาพของการเอนเอียงทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นตัวแทนจากประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น โจทย์ของ กมธ.ในที่นี้ คือ โจทย์นอกสภา โดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและประชาชนทั่วไป ที่มองว่า กมธ.จะต้องไม่นำไปสู่การลากถ่วง ซื้อเวลาการพิจารณาทั้งสิ้น

กมธ.จะพิสูจน์ความจริงใจได้มากน้อยแค่ไหน จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเข้าไปสู่ไทม์ไลน์ที่กำหนดการทำประชามติ ซึ่งหมุดเดิมที่เคยคิดไว้ว่า จะมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ในปี 2565 หรือปลายปี 2566
ซึ่งจะเป็นการเหลื่อมวาระอยู่ครบเทอมของรัฐบาลประยุทธ์ ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นจุดชี้ชัดว่า กมธ.เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการเอื้อ-อำนวยให้รัฐบาลคุณประยุทธ์ อยู่ครบวาระ 4 ปีหรือไม่ คือเชื้อของแรงกดดัน ที่จะถาโถมไปสู่ กมธ.ชุดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image