รายงานหน้า2 : มุมมอง‘ข้อดี-ข้อเสีย’ กม.การปรับเป็นพินัย

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายกรณี ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งเรียกมาตรการใหม่นี้ว่า “การปรับเป็นพินัย” ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนดและการปรับนั้นไม่ใช่เป็นโทษปรับทางอาญา

พัฒนะ เรือนใจดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

โดยปกติก็เป็นดุลพินิจของตำรวจอยู่แล้ว ที่ว่าสามารถเรียกปรับได้ ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรก็ปรับกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีมติ ครม.เพื่อเข็นเป็นกฎหมายของรัฐบาล เพราะเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนของโรงพักอยู่แล้ว อีกทั้ง แม้ไปถึงศาล ศาลเองก็เปลี่ยนเป็นโทษปรับได้ กระทั่งการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ศาลก็สามารถทำได้ ดังนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย จึงไม่มีความจำเป็น เพราะปัจจุบันนี้กฎหมายก็เอื้อถึงตรงนั้นอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ผมกลับมองว่าการคงโทษจำคุกไว้จะเปิดกว้างให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจ เพราะมีบางคนที่ว่าเขาไม่มีเงินแล้วให้ไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แทน แต่เขาเมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่พกใบขับขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งถ้าไปใส่ไว้ในกฎหมายเหมือนที่มติ ครม.เห็นชอบ จะกลายเป็นว่า ต่อไปนี้เหลือแค่โทษปรับ ซึ่งเป็นอีกด้านที่ควรจะคงกฎหมายเดิมไว้ให้เป็นช่องทางของศาลและของเจ้าพนักงานสอบสวน
ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางนี้จะยิ่งแย่กว่าเดิม ตรงที่โทษจำคุกไม่มี ซึ่งจะเกิดการกระทำผิดซ้ำซาก กล่าวคือ ในแง่หลักการ ถ้ามองผิวเผินเหมือนที่มติ ครม.ว่าการไม่เป็นคดีอาญา ไม่มีโทษติดตัว จะเป็นการช่วยเหลือเขา เพราะเขายากจน แต่ถ้ามองอีกด้านจะกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดน้อยลง เช่น ในเรื่องไม่พกใบขับขี่ เมาแล้วขับรถ จะทำให้คนเราพูดกันว่าปรับอย่างเดียว ไม่มีโทษอาญา เหมือนเวลาผู้หญิงทะเลาะกัน ที่มักบอกว่า “เดี๋ยวตบกัน เสีย 500 บาท” ซึ่งความจริงมีโทษจำคุกเพราะเป็นการทำร้ายร่างกายกัน แต่เมื่อมีการใช้ดุลพินิจเช่นนี้กันบ่อยๆ 400-500 บาท จนกลายเป็นกฎหมายขึ้นมา ชาวบ้านก็เข้าใจว่า
ตบกันเสีย 500 บาท ซึ่งไม่ใช่ หากเป็นไปตามมติ ครม.ก็จะเป็นจริงตามที่เขาลือกันว่า “มีแต่โทษปรับ” หรือการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการจราจร ความศักดิ์สิทธิ์จะน้อยลง และจะส่งผล กระทบต่อผู้ใช้รถ ใช้ถนนที่สัญจรไปมาว่าจะได้รับความไม่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะรัฐไปเปลี่ยนโทษ จากทางอาญา เป็นโทษทางแพ่ง ซึ่งเรียกว่าการบริการต่อสังคม ทั้งนี้ อย่ามองแต่ผู้กระทำความผิดเพียงด้านเดียว แต่ควรจะมองไปถึงพลเมืองหรือประชาชนคนอื่นด้วย เวลาจะออกกฎหมายแต่ละครั้งต้องมอง 360 องศา ต้องคิดทั้งมุมคนที่กระทำผิด คนที่ถูกกระทำความผิด และที่สำคัญคือ สังคมคิดอย่างไร
เหมือนเวลานี้ เราพูดเรื่องการพักการลงโทษ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ติดคุกยังไม่เท่าไหร่จะพ้นโทษแล้ว ซึ่งมีการพูดกันในแวดวงวิชาการเร็วๆ นี้ว่า “ต้องทบทวนเรื่องการพักการลงโทษเสียแล้ว” ว่าการกระทำความผิดที่ระวางโทษสูง ตั้ง 8 ปี แต่ยังอยู่ในคุกไม่ถึง 1 ปี แบบนี้ต้องทบทวน เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสภาพบังคับทางกฎหมาย โดยทางกฎหมายอาญา ก็จะมีโทษจำคุก ปรับ และริบทรัพย์, ทางแพ่ง ก็มีค่าสินไหมทดแทน แต่เมื่อศาลได้ใช้การตัดสินพิพากษาลงไปแล้วนั้น กลับไปพบข้อบกพร่องที่ราชทัณฑ์ ในเรื่องการพักการลงโทษ จะโทษกฎหมายก็ไม่ได้ กฎหมายก็ตัดสินเต็มที่แล้ว หรือไปโทษผู้พิพากษาก็ไม่ได้ ท่านก็พิพากษาจำคุกตั้ง 8 ปีแล้ว แต่ดันไปบกพร่องเรื่องนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นดีเยี่ยม ทำให้กระบวนการยุติธรรม เมื่อถึงเวลาตัดสิน ดูเหมือนขึงขัง แต่ปลายทางก็ไปพักการลงโทษ เพราะเอาแนวคิดตะวันตกมาวาง ที่ว่า “นักโทษล้นคุก” เปลืองงบประมาณ ต้องการให้เขากลับตนเป็นคนดี
ซึ่งนี่คือเรื่องเดียวกัน เป็นแนวคิดที่ฝรั่งเสนอ เรียกว่า Social Harmony ที่เสนอกันมานับ 20 กว่าปีแล้ว บัดนี้มาเข้าคดีจราจรแล้วว่า จะไม่มีโทษอาญา ซึ่งต่อไปก็ไม่รู้ว่าในคดีมโนสาเร่ จะเลยไปด้วยหรือไม่ ดังนั้น ต้องคิดกันให้รอบคอบ เพราะการที่จะเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับสภาพบังคับ เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายด้วย

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

ในแง่หนึ่ง ต้องเข้าใจว่ากระบวนการทางความยุติธรรมของเรา มีคดีความจำนวนมาก ตั้งแต่คดีความลหุโทษ จนถึงคดีความที่มีอัตราโทษสูง ซึ่งทั้งหมดนำมาสู่ ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมซ้ำซ้อน เมื่อกระบวนการยุติธรรรมของเราซ้ำซ้อนอยู่แล้ว ยิ่งมีคดีความมาก ถ้าใช้กระบวนการเดียวกันทั้งหมดจะเกิดปัญหา “คอขวด” นำมาสู่ความล่าช้า โดยปัญหาความล่าช้า นำไปสู่ “ความอยุติธรรม” รูปแบบหนึ่งต่อการอำนวยความยุติธรรมด้วย
ในแง่นี้ ที่จะทำให้เป็นเพียงความผิดลหุโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่เจตนานั้น ส่วนตัวเห็นด้วยเพราะจะทำให้ไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องตั้งอยู่บนฐานที่ว่าเป็นความผิดหลุโทษและไม่มีเจตนา โดยใช้มาตรการอย่างอื่นในการลงโทษแทน กล่าวคือ ไม่ใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม แต่เราอาจจะใช้ “กระบวนการทางสังคม” และความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ อาจจะไม่มีโทษทางอาญา แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ต้องมีค่าปรับเป็นการลงโทษ หรือถ้าไม่มีการปรับ ก็พยายามให้เขาต้องรับโทษทางสังคม ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งด้านหนึ่งจะเหมือนการช่วยฝึกให้คนรู้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ ในกรณีที่คุณทำผิดต่อสังคม คุณก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งดีเสียอีก เพราะถ้าก่อนหน้านี้มีความผิดก็ต้องไปรับโทษ ติดคุก หรือจ่ายค่าปรับ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสังคมก็จะห่างเหิน แต่ถ้าเขามีความผิด แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ให้รับผิดชอบในฐานะพลเมือง เช่น กรณีขับรถด้วยความเร็วสูง คุณก็ต้องมาจัดการดูแลเรื่องถนน การจราจร หรือคุณสูบบุหรี่ในทางสาธารณะ ดีไม่ดีคุณอาจต้องมาเก็บก้นบุหรี่ กวาดสถานที่ จัดเก็บแถบนั้น สร้างสามัญสำนึกในความเป็นพลเมืองร่วมกันในทางรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายนี้ดูเหมือนจะช่วยลดช่องว่างทางสังคม ช่วยกันดูแลคนที่มีรายได้น้อย มีปัญหาฐานะทางเศรษฐกิจ หรือไม่มีเจตนากระทำความผิด เพื่อให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การปรับกฎหมายในลักษณะนี้ต้องดูว่าจะมีช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือไม่ เช่น ดื่มแล้วขับ มีโทษสูง บางคนก็ใช้วิธีจ่ายใต้โต๊ะ ค่าปรับ 5,000 บาท ก็จ่าย 2,000 บาท เป็นต้น รัฐบาลจึงต้องดูแลส่วนนี้ ต้องระวังเรื่องการคอร์รัปชั่นในค่าปรับด้วย
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่บริบทของสังคม เรามีฐานคิดหนึ่งที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีการสร้างความยุติธรรมจากวิธีคิดอื่นๆ นอกจากวิธีคิดทางนิติศาสตร์ เช่น เอาวิธีคิดทางสังคม สวัสดิการ วิธีคิดทางรัฐศาสตร์ มาจับ ซึ่งก็โอเค แต่หากดูในบริบทของสังคมก็น่าสนใจ เพราะเรารู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะการใช้อำนาจแบบนี้ กล่าวคือไม่เป็นไร ถือว่าไม่มีความผิด เมาแล้วขับ ขับรถไม่พกพาใบขับขี่ ไม่ใช่ความผิด บวกกับสังคมเราเป็นสังคมอำนาจนิยม ซึ่งยิ่งจูงใจให้เราไม่ให้ความสำคัญกับความผิดในลักษณะนี้ นี่คือสิ่งที่น่ากังวลภายใต้บริบทของสังคมไทย
ดังนั้น หากชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่าในระยะต้น เราสามารถดำเนินการไปก่อนได้ คือใช้ไปก่อนราว 3 เดือน หรือ 1-2 ปี แล้วประเมินผลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยกระบวนการยุติธรรมให้งานลดลงได้หรือไม่ ช่วยให้คนรู้สึกถึงคดีความต่างๆ ว่าลดลงได้บ้างหรือไม่ หรือช่วยให้คนตระหนักถึงความรับผิดชอบทางสังคมมากขึ้นหรือไม่ น่าจะใช้ก่อน 1 ปี แล้วค่อยประเมินผลเพื่อปรับปรุงแก้ไข ถ้าคนสนใจ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือถ้ามันดีขึ้นก็ใช้ต่อ ถ้ามีข้อผิดพลาด-บกพร่องเล็กน้อย ก็แก้ไข แต่ถ้าใช้แล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เราค่อยยกเลิกก็ได้

คอรีเยาะ มานุแช
นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลายและควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออก มีส่วนร่วมในทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคีว่าด้วยสิทธิพลเมืองเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก
สำหรับการมีกฎหมายเปลี่ยนแปลงโทษทางอาญา ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงทางการเมืองหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น หากในอนาคตหากมีกฎหมายนี้ประชาชนก็จะมีความกล้าหาญในแสดงความเห็นที่ต่างกันได้มากขึ้น ไม่ต้องวิตกว่ารัฐจะใช้กฎหมายอาญามาเป็นเครื่องมือเพื่อปิดกั้นและการแสดงความเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม หลายประเทศได้แก้ไขกฎหมายไม่ให้ความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นความผิดทางอาญา โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทถือว่ารัฐบาลไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายต้องไปดำเนินคดีด้วยตัวเอง โดยที่หน่วยงานรัฐไม่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ
สำหรับข้อเสียอาจจะมีปัญหาจากการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง และการเรียกค่าเสียหายมักจะขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคมของผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย แต่เรื่องนี้ขอให้ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ขอย้ำว่ารัฐไม่ควรมองผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นอาชญากรรมซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาคงได้เห็นแล้วว่ามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมทั้งการสร้างภาระเกินความจำเป็น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่รับแจ้งความในบางเรื่องที่รัฐไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง และจะเห็นได้ว่าคดีอาญาในบางเรื่องได้เพิ่มภาระให้กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น
หากในอนาคตมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่คำนึงว่าจะเป็นผลงานของรัฐบาลชุดไหน เพราะจะมีโอกาสลดการดำเนินคดี ที่เกิดจากการแสดงออกของประชาชนทางการเมืองในบางเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นโทษร้ายแรง ไม่ควรจะต้องนำไปกักขัง และต้องระวังไม่ให้การบังคับใช้กฎหมาย จะต้องมีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯไปบังคับใช้ในความผิดเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาท แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายแล้วแต่พบว่ามีคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งที่ควรดูถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก
หรือแม้กระทั่งการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะก็มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าการชุมนุมจะต้องขออนุญาต แต่ในกฎหมายไม่ได้มีข้อบัญญัติให้ขออนุญาต แต่เป็นการเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น แต่เรื่องนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือมีการตีความกรณีการชุมนุมที่ไม่แจ้งก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯแล้ว
หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย ทุกภาคในโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนก็ต้องศึกษาและใช้ดุลพินิจในการทำหน้าที่ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว เมื่อกฎหมายบังคับใช้อย่างไรก็ควรปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อย่าบิดเบือนตีความกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image