รายงานหน้า2 : ส่องศึกเลือกตั้งเทศบาล ชิง‘นายก-ส.ท.’2,472แห่ง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนรับสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี และสมาชิกเทศบาล จากเทศบาล 2,472 แห่ง 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกับนายกเทศมนตรีที่ใกล้จะถึงนี้ บรรยากาศที่รับรู้ดูจะไม่คึกคัก การออกสื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครที่พรรคการเมืองระดับชาติสนับสนุนก็เห็นไม่เด่นชัดเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา แต่ทว่าภายใต้ความสงบกลับมีประเด็นที่น่าจะคาดการณ์ได้ว่า
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นสำหรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีในครั้งนี้คงไม่น่าตื่นเต้นมากนัก เนื่องด้วยนายกเทศมนตรีผู้ครองตำแหน่งเข็มขัดแชมป์ทั้งในระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล จะยังคงรักษาตำแหน่งได้ไม่ยากนัก ด้วยการตัดสินใจเลือกตัวแทนของคนในพื้นที่ยังยึดโยงกับตัวบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยที่สามารถบอกกล่าวเล่าแจ้งปัญหางานบริการสาธารณะได้ง่าย
อีกทั้งจำนวนผู้ท้าชิงที่คิดจะลงแข่งด้วยก็คงมีไม่มาก ด้วยเหตุที่นายกเทศมนตรีเจ้าของพื้นที่เดิมได้เปรียบในโอกาสที่เว้นการเลือกตั้งมาอย่างยาวนานในการกระชับความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายอุปถัมภ์กับคนในชุมชน
ถ้าหากนายกเทศมนตรีไม่สะดุดขาตัวเอง เพราะไม่มีผลงานการพัฒนาท้องที่ ชุมชน ก็คงยากที่คนหน้าใหม่จะเข้ามาเบียดแทรกตำแหน่งไปได้
ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการเลือกตัวแทนในระดับชาติอย่างสิ้นเชิงที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง นโยบายที่ใช้หาเสียงและอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับจริตผู้ลงคะแนนเป็นหลักมากกว่า
การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความตื่นเต้นในการชิงชัยอยู่บ้างก็เฉพาะบางพื้นที่ที่ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างความนิยมส่วนบุคคลของว่าที่ผู้สมัครมากกว่าที่จะเป็นการแข่งขันเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนา
สำหรับสมาชิกสภาเทศบาล โอกาสของสมาชิกหน้าใหม่น่าจะมีอยู่มากพอสมควรโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง เนื่องด้วยความสัมพันธ์หลักของคนในพื้นที่อันมีลักษณะเป็นการพึ่งพิงสมาชิกสภาเทศบาลเพื่อประโยชน์ในการร้องเรียนปัญหาถูกตัดขาดลง หน้าที่ดังกล่าวถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือไลน์ ทำให้ประชาชนสามารถสื่อสารเรื่องราวถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรีได้โดยตรง
ฉะนั้น การเสนอตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาโดยนายกเทศมนตรี (หากฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอยู่คนละฝั่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการทำงานได้ดีกว่า) จึงเป็นคนหน้าใหม่ที่มีการศึกษาดี ช่วงอายุวัยยังไม่มากนัก เพื่อสามารถเข้ามาทำงานสร้างสรรค์นโยบายพัฒนาพื้นที่ในเชิงรุกได้มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติที่อยู่ในรูปของหัวคะแนน ความสำคัญของการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงมุ่งไปที่จำนวนคะแนนที่ได้รับชัยชนะเป็นหลัก อันหมายถึงคะแนนจัดตั้งที่เป็นไปได้ในอนาคตที่จะตามมา
ผลคะแนนดังกล่าวนอกจากจะใช้ประกอบการคำนวณวางกลยุทธ์เชิงพื้นที่ของพรรคการเมืองระดับชาติแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อผู้กุมอำนาจส่วนกลางในการเลือกว่าควรสานสัมพันธ์กับผู้ใดผ่านการจัดสรรโครงการ

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

การตื่นตัวเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในสนามเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศมีแนวโน้มตื่นตัวสูงมากหลังจากมีการเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยปกติการใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.ในอดีตเมื่อ 8 ปีก่อนอยู่ที่ 45% แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิในอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศมากถึง 65% ขณะที่บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งดูเหมือนจะเงียบ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในระดับจังหวัดสนใจการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นสูงมาก
หากเทียบกับการเลือกตั้งเทศบาลเมือง เทศบาลตำบลและเทศบาลนครที่มีพื้นที่จำกัด มีลักษณะเฉพาะในสังคมเมือง ทำให้การขับเคี่ยวในการหาเสียงเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้จะปลุกเร้าทำให้มีการใช้สิทธิออกเสียงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานานกว่า 7-10 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารหรือสมาชิกสภาเทศบาล ทำให้มีการตั้งคำถามว่าประชาชนต้องการผู้บริหารทีมใหม่บ้างหรือไม่
ขณะเดียวกันผู้ที่ดำรงอำนาจในการบริหารอย่างยาวนานก็ต้องการรักษาสถานภาพ ประเด็นจะทำให้มีการแข่งขันที่น่าสนใจมากกว่าในอดีต
สำหรับแชมป์เก่าที่อยู่ยาว 7-10 ปี หากลงสมัครอีกจะได้เปรียบหากมีการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และดูแลด้านการรักษาความสะอาด สิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคมให้เป็นรูปธรรม
แต่จุดอ่อนของผู้บริหารเก่าอาจมาจากกระแสที่ประชาชนตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่กับการทำงานนาน 7-10 ปี นอกจากนั้นจะมีคำถามว่าจะสามารถพัฒนาเทศบาลให้มากไปกว่านี้ได้หรือไม่ และลักษณะของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งภายใต้อำนาจของ คสช.จะมีแนวโน้มที่มีบทบาทน้อย อาจจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติงานแบบกิจวัตรประจำวันมากกว่าการสร้างสรรค์ เพราะมีอำนาจที่สั่งการจากหน่วยงานส่วนกลางและผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ผู้บริหารเทศบาลไม่สามารถคิดนโยบายหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
การเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เห็นการนำเสนอนโยบายจากการหาเสียง ถือเป็นมิติใหม่ของยุคนี้ หากดูจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา หากเทียบการเลือกตั้งเมื่อ 8-10 ปีก่อนผู้สมัครนายก อบจ.ส่วนใหญ่จะใช้สโลแกนพบง่าย ใช้คล่อง แต่ผู้สมัครนายก อบจ.ที่ผ่านมาทุกจังหวัดต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม จุดนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการเมืองระดับท้องถิ่นของไทยไปอย่างมาก เพราะต้องเสนอกรอบนโยบายที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่น ขณะที่เทศบาลองค์กรท้องถิ่นระดับล่าง การประกาศนโยบายที่น่าสนใจจะมีผลเป็นอย่างมากที่ผู้สมัครจะต้องมีวิธีคิดใหม่ๆ มากกว่าสถานะของผู้กว้างขวางในระบบอุปถัมภ์แบบเดิม เพราะเทศบาลมีกรอบอำนาจหน้าที่ชัดเจน และมีพื้นที่จำกัดในการทำงาน
ส่วนกระแสของคนรุ่นใหม่จะต้องมีกระแสปลุกเร้ามากพอสมควร เนื่องจากในระดับประเทศยังเป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐบาลไม่จัดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษพร้อมกับการเลือกตั้งเทศบาล เพราะรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจยังใช้เกมเดิมไม่จัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หากมีการเลือกตั้งไปพร้อมกันจะทำให้มีกระแสความต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งประเทศเป็นไปอย่างคึกคัก ถือเป็นการลดทอนความสนใจของคนหนุ่มสาวที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปี ที่มีความสนใจเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับประเทศ สนใจการใช้อำนาจของรัฐบาลรวมทั้งการกำหนดกติกาการเมืองที่ไม่เหมาะสม ทำให้กลุ่มเยาวชนถูกเชื่อมร้อยกับการเมืองท้องถิ่นไม่มากนัก และหากกลุ่มเป้าหมายนี้ให้ความสนใจการเมืองท้องถิ่นมากขึ้นในรอบ 7-10 ปี ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่เป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินโอกาสของการแพ้หรือชนะในสนามการเมืองท้องถิ่น

บูฆอรี ยีหมะ
นักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ประเมินว่าการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลจะมีความคึกคักมาก เมื่อพิจารณาจากผู้เสนอตัวรับสมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เช่น ใน จ.สงขลา จากเดิมเมื่อหลายปีก่อนมีผู้สนใจสมัครแข่งขันไม่มาก
แต่ครั้งนี้มีมากเป็นพิเศษทั้งเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครสงขลามี 5-6 ทีม หรือเทศบาลเมืองอื่นๆ มีผู้สมัครมากกว่าในอดีตอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาล คสช.ไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ เหมือนกับการแช่แข็ง แล้วเปิดโอกาสให้นายกเทศมนตรีและ ส.ท.ทีมเดิมทำหน้าที่รักษาการ หรือบางแห่งไม่มีนายกเทศมนตรีเพราะพ้นตำแหน่งจากการเสียชีวิตหรือเหตุอื่น จะมีปลัดเทศบาลทำหน้าที่
ดังนั้น ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้การบริหารงานของเทศบาลเหมือนทำงานประจำ ทำงานตามนโยบายรัฐบาล และเมื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทำให้บรรยากาศกลับมาคึกคักเป็นอย่างมากทั้งในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่บางรายเปิดตัวล่วงหน้านานหลายปี
รวมถึงประชาชนที่มีความตื่นตัวในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเลือกตัวบุคคลที่ให้ความไว้วางใจ และหากเทียบกับการเลือกตั้ง อบจ. เชื่อว่าการเลือกตั้งระดับเทศบาลจะมีความคึกคักมากกว่า เนื่องจากนายกเทศมนตรีและ ส.ท.จะต้องใกล้ชิดกับประชาชน มีความสัมพันธ์โดยตรงกับวิถีชีวิตในชุมชน
ขณะที่ผู้สมัครหน้าเก่าและหน้าใหม่สามารถประเมินได้ 2 แง่มุม ประการแรกผู้สมัครนายกเทศมนตรีที่เคยทำหน้าที่รักษาการ จะได้เปรียบจากการทำหน้าที่ต่อเนื่องยาวนานก่อนมีการรัฐประหาร มีการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาหลายด้าน
บางรายหากวางเป้าหมายเพื่อจะสมัครอีกก็จะมีฐานเสียงที่หนาแน่น ประการต่อมาหากมองในแง่ลบจะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้นำท้องถิ่นอาจจะได้แสดงศักยภาพ ความรู้ความสามารถไม่มากนักภายใต้บริบททางการเมืองที่ไม่ปกติของระบบรัฐรวมศูนย์ในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง
สำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ที่ใช้โอกาสนี้เสนอตัวเข้ามาท้าชิงกับอดีตนายกเทศมนตรีก็อาจเสียเปรียบด้านฐานเสียง แต่จะต้องมีนโยบายที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่าจะทำได้ดีกว่าหรือไม่ จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าได้อย่างไร รวมทั้งชี้จุดอ่อนข้อบกพร่องที่อาจทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสจากการทำงานในอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าการหาเสียงจะมีความเข้มข้น โอกาสจะแพ้หรือชนะอยู่ที่การนำเสนอนโยบาย เพราะเทศบาลถือเป็นเขตชุมชนเมืองที่มีคนชั้นกลางรู้เท่าทันนักการเมืองพอสมควรและจะทราบดีว่าผู้สมัครนายกเทศมนตรีรายใดมีอาชีพประวัติ หรือมีที่มาเป็นอย่างไร
ขณะที่การคุมเกมในการเลือกตั้งก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของ กกต. จะต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ทำให้ประชาชนไว้วางใจ โดยเฉพาะการใช้ข้อห้ามตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองทุกระดับที่มีตำแหน่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการหาเสียงให้กับผู้สมัครนายกเทศมนตรี
แต่เชื่อว่าผู้สมัครบางส่วนจะต้องแอบอิงกับฐานการเมืองระดับชาติในจังหวัด และฐานของนายก อบจ.หรือ ส.อบจ.ที่เพิ่งเลือกตั้งไป เนื่องจากในบริบทเดิมการเลือกตั้ง ส.ส.และนายก อบจ.ที่ใช้เขตเลือกตั้งทั้งจังหวัดก็ต้องพึ่งพากลไกการขับเคลื่อนจากนักการเมืองท้องถิ่นทั้งเครือข่ายของผู้บริหารเทศบาลและ อบต. เมื่อมีการเลือกตั้งเทศบาลก็ต้องใช้ระบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การเตรียมความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ ตามแผนการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ กกต.จะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และเมื่อ กกต.ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาล โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะออกประกาศผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 และวันรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564
ในขณะนี้ กกต.ได้มีการประสานกับทาง กกต.ของแต่ละจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยในการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนดไว้ว่าให้ กกต.มอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นคนจัดการการเลือกตั้ง สำหรับการป้องกันการทุจริต กกต.จะควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ชอบด้วยกฎหมาย และโปร่งใส แน่นอนว่าในแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการไต่สวนสืบสวนและหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เมื่อได้รับเบาะแสก็จะเข้าไปตรวจสอบในทันที ขณะเดียวกัน กกต.จะกำชับท้องถิ่นให้ช่วยกันดูแล ส่วนการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประชุมของ กกต.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image