รายงาน : จังหวะ การเมือง ปฏิรูป และ ปรับเปลี่ยน เพื่อไทย ยุคใหม่

จังหวะก้าว เดอะ เชนจ์ เมกเกอร์ คือ จังหวะก้าวแห่งการเปลี่ยนผ่านอันแหลมคมยิ่งของแนวโน้มการเมือง “ใหม่” ภายในพรรคเพื่อไทย

หากเป็นเมื่อปี 2544 ก็ต้องเรียกว่า “เวิร์กช็อป”

ปรากฏมาพร้อมกับภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่มิได้อยู่ในชุดสูท ตรงกันข้าม กลับเป็นเสื้อเชิ้ตขาว ผูกเนกไทสบาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ยาเสพติด”

Advertisement

แต่คราวนี้ แม้จะมีการเปิดตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นโครงการในความรับผิดชอบของ นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์
ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะ “ผู้อำนวยการ” โครงการ

เป็น “รุ่นใหม่” เป็น “หน้าใหม่” เด่นชัด

อย่าได้แปลกใจ หากการโหมโรง “โครงการ” จะมีการนำร่องโดย 2 หมอ 1 คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 คือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

Advertisement

และก่อนหน้านี้คือ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

อาจกล่าวได้ว่า การเปิดตัว เดอะ เชนจ์ เมกเกอร์ เป็นการเปิดตัวบรรดาคนที่เคยอยู่ “เบื้องหลัง” ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ครบถ้วน

คนเหล่านี้ทำงานแบบเงียบๆ

หากมองจากชื่อ ชั้นและประสบการณ์ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อาจเป็นคนตั้งแต่ยุคก่อนสถานการณ์ เดือนตุลาคม 2516

เป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกับ นายอากร ฮุนตระกูล

ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อาจมีบทบาทก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 และ นพ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี 
มีบทบาทนับแต่ปี 2520 เป็นลำดับ

นี่คือคนร่วมสมัยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รุ่นเดียวกับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

จากรุ่นของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ รุ่นของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รุ่นของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นี่แหละที่มีส่วนแวดล้อมอยู่โดยรอบ นายทักษิณ ชินวัตร

และ ณ วันนี้ ภาระตกอยู่กับรุ่น นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์

ในยุคหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 บรรยากาศของรัฐบาลอาจเป็นปฏิบัติการ “เวิร์กช็อป” แต่เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564

คำที่นำเสนอเข้ามาคือ “แฮ็คคาทอน”

การคัดสรรบุคคลอันยอดเยี่ยมจำนวน 100 คนให้มาร่วมคิด ร่วมนำเสนอเพื่อปรับประสานไปเป็น “นโยบาย” เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

หากมองจาก ส.ส.ระดับเขต อาจมีสภาวะ “แปลกแยก”

แปลกแยกเหมือนกับเมื่อแรกที่ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบาย SME และมีเสียงทักท้วงว่าเป็นอะไรกันแน่

เพราะเคยได้ยินแต่ EMS

จากมุมมองของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้มีส่วนร่วมในการ CARE คิด เคลื่อน ไทย ถือว่านี่คือจังหวะก้าวแห่งการ “ดิสรัปต์” ครั้งใหม่ในพรรคเพื่อไทย

กระนั้น ความเป็นจริงจะปรากฏออกมาอย่างไร ยังต้องใช้ “เวลา”

ยอมรับเถิดว่าจากพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2541 กับพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 มาถึงพรรคเพื่อไทยในปี 2564

มีความจำเป็นต้อง “เชนจ์”

แม้จะชื่นชมจาก “บุญเก่า” บารมีเดิมแค่ไหน แต่เมื่อผ่านยุคแห่ง “เยาวชนปลดแอก” มาแล้ว พรรคเพื่อไทยก็จำเป็นต้องปรับ จำเป็นต้องเปลี่ยน

ปรับและเปลี่ยนเพื่อรักษาความเป็น “แชมป์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image