ถามว่าเหตุปัจจัยใดทำให้พรรคเพื่อไทยต้องชูภาพและบทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร ถี่ยิบอย่างเป็นพิเศษนับแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา
เพราะว่ามองเห็น “ปัญหา” ใน “รัฐบาล”
ปัญหาที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในห้วงปลายปี 2563 มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ปัญหา” และ “ความขัดแย้ง” จำแนกออกได้ 2 อย่าง
1 เป็นปัญหาและความขัดแย้ง “ภายใน” ของรัฐบาลเอง ขณะเดียวกัน 1 เป็นปัญหาและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ “ประชาชน”
เสียง “ออกไป ออกไป” นั่นแหละคือ “สัญญาณ”
เป็นสัญญาณอันส่งผลสะเทือนไม่เพียง “ภายใน” ของรัฐบาล ของพรรคพลังประชาชน หากแต่ยังทำให้ “ระหว่าง” รัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลถ่างห่างออกไป
จำเป็นที่ “พรรคเพื่อไทย” ต้องปรับเพื่อ “รับมือ”
หากไม่มีการขับเคลื่อนญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ สังคมคงสัมผัสไม่ได้ว่า
ความขัดแย้งภายในของรัฐบาลมีมากเพียงใด
เอาเฉพาะ “ภายใน” ของ “พลังประชารัฐ” ก็หนัก
การเบียดขบระหว่าง นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น ในเรื่องความหวาดระแวงในเรื่อง “คะแนน”
เด่นชัดว่า “ปิด” ไม่มิด
การเบียดขบระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชก็เป็นเรื่องที่รู้กันสนั่นเมือง
ยังระหว่าง “ภูมิใจไทย” กับ “พลังประชารัฐ” อีกเล่า
สายตาจากพรรคประชาธิปัตย์ สายตาจากพรรคภูมิใจไทย ที่ทอดมองไปยังพรรคพลังประชารัฐ จึงระคนไว้ด้วยความหวาดระแวง ไม่พอใจ
เจ็บปวดยิ่งแต่ก็จำใจต้องอยู่
หากดูจากการขับเคลื่อนของ กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งมาลงเอยที่ CARE TALK เด่นชัดยิ่งว่ามีบทสรุปอย่างไร
เป็นบทสรุปจากผลสะเทือนด้าน “เศรษฐกิจ”
เมื่อประสานเข้ากับ ความผิดพลาด ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดของไวรัส โควิดจากเมื่อปี 2563 มายังปี 2564
ก็เด่นชัดยิ่งใน “ชะตากรรม” ของประเทศ
การชูภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาจึงมีเป้าหมาย 2 ประการ กล่าวคือ 1 ชูเพื่อให้เกิดภาพเปรียบ เทียบระหว่างการเป็นนายกรัฐมนตรี
ใครมี “วิสัยทัศน์” ใคร “ไร้” ความสามารถ
ขณะเดียวกัน 1 ก็เป็นการเน้นจากพื้นฐานความสำเร็จในอดีต สร้างความมั่นใจที่จะก้าวต่อไปสู่อนาคตใหม่อันเปี่ยมด้วยความหวัง
“ความหวัง” ต่างหากคือจุดสำคัญในการสร้าง “ความศรัทธา”
ความหมายทั้งหมดของพรรคเพื่อไทยก็คือ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2565 ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคเพื่อไทยล้วนมีความพร้อม
เป็นความพร้อมตาม “ยุทธศาสตร์” ใหม่
นั่นก็คือ ปักธงลงไปยัง 350 เขตทั่วประเทศ ตั้งเป้าเอาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ประสานเข้ากับจำนวนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากพันธมิตรอีกไม่ต่ำกว่า 100
ฐานที่มั่นอยู่ที่ “สภาผู้แทน” เพื่อ “ปิดสวิตช์” 250 ส.ว.