รายงานหน้า2 : ส่องโหวต‘แตกแถว’ ปรากฏการณ์‘งูเห่า’สภาฯ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผล‘อภิปราย’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีการลงมติรัฐมนตรีทั้ง 10 คนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา มี ส.ส.จากฟากรัฐบาลและฝ่ายค้านหลายคนแหกมติพรรคโดยลงคะแนนสวนทางกับพรรคต้นสังกัด

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ปัญหา ส.ส.โหวตสวนมติพรรค เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาโดยตลอด ระหว่างความเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ในฐานะผู้ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ที่จะสามารถใช้สิทธินั้นแทนประชาชนได้ ในการตัดสินใจทางการเมือง ถือเป็นหลักการ ขณะที่นักการเมืองภายในพรรคก็ต้องมีมติให้สอดคล้องกับความเห็นของพรรค ประเด็นนี้เป็นเรื่องคู่ขนานกันระหว่างการตัดสินใจที่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.หรือ ตัดสินใจภายใต้มติพรรค เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาถ้ามติพรรคกับเอกสิทธิ์ ส.ส.สอดคล้องกัน
ยกตัวอย่างพรรคก้าวไกลมีมติโหวตไม่เห็นด้วยกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หาก ส.ส.เห็นพ้องกันก็ไปด้วยกันได้ แต่เมื่อมี ส.ส.ตัดสินใจไม่เป็นไปตามมติพรรค ยอมรับว่าประเด็นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้เกิดงูเห่าได้ง่าย เพราะเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไม่มีผลต่อบทลงโทษทางการเมือง หากพรรคต้องขับ ส.ส.ออกไปภายใน 30 วัน แต่พรรคการเมืองจะไม่ทำเช่นนั้น และรัฐธรรมนูญยังล็อกเอาไว้อีกว่า หาก ส.ส.รายนั้นลาออกก็จะพ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. จึงทำให้มีกลุ่มงูเห่าแฝงตัวอยู่ในพรรคต่อไปได้ ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากมาก เพราะเป็นเรื่องของหลักการและมาตรการที่จัดการได้ยาก
หากพิจารณาจากกฎหมายพรรคการเมืองกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พบว่ายังมีความย้อนแย้ง ขัดกับสภาพความเป็นจริงในทางการเมือง เนื่องจากการเมืองถูกออกแบบให้มีพรรค ขณะเดียวกันพรรคก็มี ส.ส.จากตัวแทนของประชาชนที่มีเจตจำนงเฉพาะบุคคล ปัญหานี้สะท้อนถึงหลักนิติศาสตร์กับหลักรัฐศาสตร์ในโลกจริงของการเมืองจะไม่สอดคล้องกัน เพราะบางครั้ง ส.ส.มีเอกสิทธิ์ แต่บางเรื่องพรรคไม่เห็นด้วย ดังนั้นการเป็น ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนก็มี
ผลกระทบทันที
ขณะที่หลายฝ่ายพยายามเสนอว่าการตัดสินใจในเรื่องของเอกสิทธิ์ พรรคไม่จำเป็นต้องมีมติหรือข้อบังคับ ทำให้ตัวแทนประชาชนสูญเสียเอกสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนบุรุษไปรษณีย์ในการเสนอความเห็น พรรคไม่มีสิทธิที่จะมีมติโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาตลอดว่าสุดท้าย ส.ส.จะต้องตัดสินใจในนามพรรคหรือเอกสิทธิ์ส่วนตัว
ดังนั้น สภาพการณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเปิดโอกาสให้มีงูเห่าได้ง่ายมาก เพราะให้ ส.ส.มีเอกสิทธิ์เต็มที่ แต่ไม่มีผลกับมาตรการในการกำหนดระเบียบปฏิบัติของพรรค หาก ส.ส.รายนั้นไม่ลาออกจากพรรคด้วยตัวเอง และอาจมีการขยายเผ่าพันธุ์ทำให้พรรคการเมืองพรรคนั้นสูญเสียเอกภาพไปในที่สุด เช่น พรรคก้าวไกลได้รับบทเรียนมาจาก ส.ส.ที่ย้ายไปภูมิใจไทย แต่ล่าสุดพรรคจะไม่ขับ 4 ส.ส.ออกจากพรรค และ ส.ส.กลุ่มนี้อาจสร้างความปั่นป่วนได้อีก หรือตั้งก๊วนเพื่อดึงคนออกจากพรรค
จะเห็นได้ว่าเอกสิทธิ์ ส.ส.และมติพรรคหาจุดสมดุลได้ยาก เพราะพรรคต้องให้โอกาสตัดสินใจจากเอกสิทธิ์ของตัวบุคคล ไม่ใช่จะทำตามมติพรรคทุกเรื่อง ดังนั้น จุดสมดุลสำคัญพรรคการเมืองต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. หรือสิ่งที่พรรคจำเป็นต้องขอมติเพื่อให้ผลต่อยุทธวิธีทางการเมือง แต่ในการปฏิบัติจริงเป็นไปได้ยากทั้งในพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
หากติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทยที่แสดงออกถึงความไม่พอใจ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ในพรรคพลังประชารัฐ น่าจะเป็นหนังเรื่องยาว แม้ว่า ส.ส.พลังประชารัฐต้องการแสดงจุดยืนบางอย่าง แต่เชื่อว่าแรงกระเพื่อมรอบนี้พรรคภูมิใจไทยคงไม่จบแค่การเคลียร์ใจ แต่ปัญหาน่าจะไปถึงการต่อรองที่ลงตัวด้วยการขอเพิ่มโควต้ารัฐมนตรีช่วงที่มีการปรับ ครม.

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. ดังนั้นหากพรรคการเมืองไปลงโทษ ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคในเรื่องรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พรรคนั้นอาจจะเดือดร้อนในภายหลัง เพราะระเบียบหรือข้อบังคับพรรคไม่ได้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นว่ารัฐสภาอาจจะไม่ใช่ที่ที่ใช้ชี้ความผิดหรือความถูกต้อง แต่กลายเป็นการชี้ว่าใครมีพวกมากกว่ากัน ทั้งที่ควรเป็นสถานที่ตัดสินในเรื่องถูกผิดสภาชี้ชัดได้ แต่เมื่อมติพรรคใหญ่กว่าสมาชิกพรรค หรือสมาชิกพรรคเกรงใจมติพรรคก็จะทำให้เห็นว่าการออกเสียงจะทำเหมือนพวกมากลากไป
ในยุคก่อนเคยมีพรรคการเมืองขับ ส.ส.ออกจากพรรค แต่หลังจากใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้การขับจะมีปัญหา เพราะให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ไว้ หากโดนขับออกก็ไปอยู่พรรคอื่นได้ในเงื่อนไขที่กำหนด ขณะที่การโหวตสวนมติพรรคก็อาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง และคงหนีไม่พ้นถูกมองเป็นเรื่องของการต่อรองทางการเมือง เน้นความสำคัญของกลุ่มการเมืองภายในพรรคที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกภาพ กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของ ส.ส.ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจกับพรรค
เพราะฉะนั้นต้องถามว่าต้องการเห็นว่าสภาเป็นสถานที่ชี้ให้เห็นถึงความถูกต้องหรือไม่ ถ้าคิดได้ก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก หรืออยากเห็นสภาเพื่อเป็นสถานที่สำหรับพวกมากลากไป ดังนั้น ต้องวางจุดสมดุลให้เหมาะสมบางเรื่องก็ควรเป็นมติพรรค บางอย่างก็ต้องให้โอกาส ส.ส.ตัดสินใจได้เองบ้าง และการแสดงออกส่วนตัวถ้าไม่เห็นด้วยกับมติพรรคก็ยังมีวิธีการอื่นนอกเหนือจากการโหวตสวนเพื่อแสดงตัวตน
ที่ชัดเจน
สำหรับทางออกที่ดีก็คงต้องปล่อยให้กระแสสังคมรับรู้เรื่องแบบนี้ไปนานๆ เนื่องจากกติกาเปิดช่องไว้ และขณะนี้ผลจากโหวตสวนมติพรรค หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำให้บางพรรคการเมืองขนาดใหญ่เจอผลกระทบพอสมควร เพราะบางพรรครัฐบาลร่วม แสดงออกถึงความไม่พอใจ แต่เชื่อว่าทุกอย่างคงยุติได้ด้วยการต่อรอง พรรคที่ออกมามีปฏิกิริยาก็ยังไม่พร้อมที่จะแตกหัก เพราะความต้องการทำงานเป็นรัฐบาลร่วมกันยังอยู่เหนือสิ่งอื่น ไม่มีอะไรใหม่ที่น่าสนใจ

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

เรื่องงูเห่ามีสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอยู่ 2 ประการ คือ 1.ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความรู้จักมักคุ้นทำให้เกิดการใช้ “การเมืองแบบไม่เป็นทางการ” เพราะในการเมืองไทย มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า พรรคเดียวกัน แต่คนละพวก หรือไม่ก็ พวกเดียวกัน แต่คนละพรรค
ปัจจัยที่ 2 คือ กลไก กติกาในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้เปิดช่องให้ ส.ส.สามารถหาพรรคสังกัดได้ใน 30 วัน ในกรณีที่ถูกขับออกจากพรรค ทำให้บรรดาบทลงโทษซึ่งจะเกิดกับบุคคลที่มีพฤติกรรมงูเห่า ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะควบคุม กำกับได้
เราจะเห็นกรณีการเกิดงูเห่าแต่ละครั้ง จบลงด้วยการ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในพรรค และใช้มาตรการภายในพรรค เช่น ไม่ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ หรือ ไม่ส่งลงรับสมัครเลือกตั้งสมัยหน้า เพียงเท่านั้น เพราะแม้ถูกขับ ส.ส.ยังมีทางเลือกในการที่จะหาพรรคใหม่สังกัดอยู่
สำหรับการเมืองไทย เราคงไม่คาดหวังว่า ส.ส.จะลาออกเอง นี่คือปัจจัยเกื้อหนุน จากกติกา ซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงกันว่า ระหว่างเรื่องการเป็นตัวแทนพรรค กับการเป็นตัวแทนประชาชน อะไรสำคัญกว่ากัน เพราะถ้าไม่ให้เอกสิทธิ์ในการคุ้มครอง ส.ส.เลย ส.ส.ก็จะอยู่ภายใต้อาณัติของพรรค จนละเลยเสียงของประชาชนไป ทั้งนี้ ต้องบอกว่า การใช้เอกสิทธิ์ของ ส.ส.ดังกล่าว ก็ต้องเป็นไปโดยการใช้วิจารณญาณและดุลพินิจอย่างเหมาะสม ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจด้วย การมีฟรีโหวต ต้องอยู่บนหลักเหตุผล และข้อมูลเชิงประจักษ์ จะทำให้การใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการไม่ปฏิบัติตามมติพรรคนั้น ดูแล้วมีน้ำหนักเพียงพอแต่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ที่เกิดงูเห่าไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจเช่นนี้ แต่มีการวิ่งเต้น การล็อบบี้กันเกิดขึ้น
การควบคุมกำกับทิศทางการเมืองในสภา ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เป็นกลไกในสภา แต่สุดท้ายเราก็เห็นว่า การควบคุมกำกับยังไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน การไปใช้กลไกอื่นๆ ที่ มากกว่านี้ คงเป็นช่องทางควบคุมกำกับได้ยาก หากจะกำกับได้จริงคงต้องใช้ระบบมุ้ง หรือกลุ่มย่อยทางการเมือง (Political faction) ก็อาจจะกำกับได้ดีขึ้นจริง เพราะหัวหน้ามุ้งมีบารมีสูง ทำให้คนในกลุ่มตัดสินใจตามได้ แต่ก็จะนำการเมืองไปสู่จุดเดิม ที่มีการต่อรองอำนาจ และผลประโยชน์ แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบรัฐสภา
ฉะนั้นการกำกับความจริง อยากให้สังคมเป็นผู้กำกับมากกว่า ด้วยการตรวจสอบนักการเมืองที่มีพฤติกรรมงูเห่า และในสมัยหน้าก็ไม่ควรจะไปเลือกบุคคลเหล่านี้อีก แต่หาก ส.ส.ฟรีโหวต ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ด้วยการละเมิดมติพรรค ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากฟรีโหวตโดยไม่ได้มีหลักคิดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็ควรจะต้องเป็นการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม ด้วยการประเมินนักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน

Advertisement

พินสุดา วงศ์อนันต์
อาจารย์ประจำสำนัก วิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ส.ส.ฝ่ายค้านหรืองูเห่า โหวตสวนมติพรรคสนับสนุนรัฐบาลเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. ที่สามารถทำได้ ดังนั้นพรรคต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีบทลงโทษ อาจถึงขั้นไล่ออกจากพรรค แต่วิธีดังกล่าว ส.ส.พรรคก้าวไกล อาจย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น เพราะ ส.ส.งูเห่า ต้องการโครงการ งบประมาณจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาพื้นที่ตนเองมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พปชร. ที่โนโหวตให้กับรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นเด็กดื้อ ที่กล้าสวนมติพรรคหาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. สั่งลงโทษ ส.ส.กลุ่มดังกล่าวจริง ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ อาจย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นไม่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างใด เพราะ ส.ส. ดังกล่าวยังอยู่ในซีกรัฐบาลเหมือนเดิม และเพิ่มอำนาจต่อรองได้มากขึ้น แต่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ไม่กล้าขับไล่ ส.ส.ดังกล่าวออกจากพรรคจริง เป็นการเล่นละคร เพื่อตบตาพรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงความไม่พอใจเท่านั้น
ปัญหาการโหวตสวนมติพรรคของฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล คือ การบริหารจัดการภายในพรรค ที่ไม่เป็นเอกภาพ เกิดรอยร้าวภายในพรรค แต่ไม่ถึงขั้นแตกแยก หรือแตกหัก ประกอบกับรัฐบาลบริหารมาครึ่งเทอมหรือ 2 ปีแล้ว ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล อยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจ เพื่อจัดสรรผลประโยชน์บ้าง เพราะเหลือเวลาอีก 2 ปี ก่อนสภาครบวาระและเลือกตั้งใหม่ ถ้าไม่ปรับ ครม. หรือจัดสรรผลประโยชน์ใหม่ อาจเกิด ส.ส. งูเห่าในสภาอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image