อจ.ฟันธง ปรับ ครม.! ต่อรองโควต้า-อัพเกรดวุ่น

อจ.ฟันธง ปรับ ครม.! ต่อรองโควต้า-อัพเกรดวุ่น

หมายเหตุคำพิพากษาศาลอาญาคดีการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีผลให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคพลังประชารัฐ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ พ้นจากตำแหน่ง และต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการต่อการปรับเปลี่ยนภายในรัฐบาล

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

กรณีรัฐมนตรีในสาย กปปส. ต้องพ้นตำแหน่งจากคำพิพากษาศาลอาญา มองว่าเวลานี้กลุ่ม กปปส.ไม่มีความสำคัญหรือจำเป็นอะไรอีกแล้วกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า นายสุชาติ ชมกลิ่น คนเหล่านี้สามารถคุมสภาพพรรคได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้บริการนักการเมืองจากซีก กปปส. ซึ่งลงตัวพอดีกับการที่มีคำพิพากษาของศาล จากนี้คงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเก้าอี้บางส่วนให้กับ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะกลุ่มภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.ภาคใต้หลายที่นั่ง แต่ไม่ได้มีส่วนแบ่งจากอำนาจตรงนี้ จึงเป็นโอกาสที่อาจจะต้องมีการทบทวนให้กลุ่มสายภาคใต้ บวกกับความระส่ำระสายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ พล.อ.ประวิตรยืนยันชัดเจนว่าการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐจะต้องชนะให้ได้ บวกกับการที่ กปปส.หลุดตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน ก็อาจมีการเลือกตั้งซ่อมอีกหลายครั้งหลายเขตในภาคใต้ จึงเป็นโอกาสของพรรคพลังประชารัฐสายภาคใต้

ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้มีกรณีงูเห่าประสงค์จะย้ายจากพรรคก้าวไกลไปพรรคภูมิใจไทย ผนวกเข้ากับการงดลงมติไม่ไว้วางใจของกลุ่มดาวฤกษ์ในพรรคพลังประชารัฐให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย สร้างความไม่พอใจให้กับซีกของพรรคภูมิใจไทยอย่างมาก จากการแสดงออกทางการเมืองด้วยการวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งอาจมีผลต่อรัฐบาลระยะยาว แสดงว่าภูมิใจไทยต้องการต่อรองเช่นเดียวกัน เพราะตอนนี้ภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่มีเสถียรภาพมากพอๆ กับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งจำนวนคนทั้งเอกภาพ ทั้งเสถียรภาพ บางทีพรรคภูมิใจไทยอาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ ขณะที่บารมีของ พล.อ.ประวิตรยังคุม ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ไม่ได้ จึงคิดว่าประเด็นนี้อาจทำให้เกิดข้อเรียกร้องจากพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน การปรับเที่ยวนี้อาจจะต้องมีการปรับใหญ่ แต่ต้องได้ส่วนแบ่ง ได้ตำแหน่งแห่งที่เพิ่มจากกรณีนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี หากการปรับครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อการบริหารภาพลักษณ์ อันดับแรก 1.”กระทรวงศึกษาธิการ” ต้องปรับแน่ และเข้าทาง พล.อ.ประยุทธ์ด้วย เพราะนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด บวกกับสังคมคนหนุ่มสาวกดดันให้ปรับ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ปรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2.ถ้าต้องทำ อาจปรับ “กระทรวงพาณิชย์” เพราะหากดูจากการตอบคำถามในศึกซักฟอก ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ตอบแบบคลุมเครือ เหมือนเป็นการผลักภาระให้กับข้าราชการประจำในการจัดการเรื่องถุงมือยาง ซึ่งสังคมคลางแคลงใจมากและอาจจะต้องมีการปรับโยกย้าย

Advertisement

ส่วนที่ 3.ต้องมาดูที่ “กระทรวงแรงงาน” ซึ่งเป็นกระทรวงใหญ่และมีข้อเรียกร้อง ว่าที่ผ่านมาของการดำรงตำแหน่ง 5-6 เดือน ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม แรงงานก็ไม่ได้รับการเยียวยา มาตรการต่างๆ ก็ไม่ชัดเจน มิหนำซ้ำยังมีกรณีแรงงานต่างด้าวที่ทะลักเข้ามาจนนำมาสู่ปัญหาโควิดรอบสอง จึงต้องปรับเพื่อให้รัฐบาลไปได้

ที่สำคัญ คือการปรับให้พรรรคร่วมรัฐบาลสมประโยชน์ในทางการเมือง เพื่อประคับประคองรัฐบาลชุดนี้ต่อไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งคงต้องปรับด่วน เพราะขณะนี้ขาดไป 3 ตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเขย่า

2 ปีแล้วที่ไม่มีการปรับใหญ่ ในทางการเมืองถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนโยกย้าย ให้กลุ่มก้อนต่างๆ ได้มีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรีกันบ้าง ต้องปรับ ต้องกระจายตำแหน่งแห่งที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปรับ ครม.ครั้งนี้ประชาชนต้องการเห็นความเข้มแข็งของการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม มากกว่าการต่อรองระหว่างพรรคการเมือง ต้องการบุคคลมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าไปทำหน้าที่ โดยเฉพาะในกระทรวงดิจิทัลฯ พรรคพลังประชารัฐควรมีบุคคลภายนอกที่มีความเหมาะสมมากกว่า กลุ่มบุคคลที่เสนอตัวจากพรรคการเมือง

นอกจากนั้นในส่วนรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทำงานในเชิงตั้งรับได้ดี แต่สถานการณ์หลังโควิดจะต้องทำงานเชิงรุก เนื่องจากจะมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายด้าน ดังนั้นอาจจะต้องอาศัยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่านี้

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการอาจมองว่าเป็นเกรดเอ มีงบประมาณจำนวนมาก แต่อำนาจการจัดสรรงบมีไม่มาก เนื่องจากงบถูกผูกไว้ด้วยระบบการบริหารจัดการ ฉะนั้นการปรับ ครม.ควรนำบุคคลที่มีบารมี และสนใจงานด้านการศึกษาเข้ามาทำงาน รวมถึงกระทรวงแรงงานก็ควรปรับเพื่อตอบโจทย์หลังพ้นโควิดว่า จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างในภาคแรงงานกลับมาให้เร็วที่สุด

แต่เงื่อนไขในการปรับก็จะมีปัญหาจากกลุ่มรัฐมนตรีช่วยในพรรคเดิมโควต้าเดิม ต้องการอัพเกรดมาทำหน้าที่ ถามว่าการอัพเกรดเหมาะสมหรือไม่สำหรับบุคคลที่ออกมาโยนหินถามทาง มีคุณสมบัติเหมาะกับงานหรือไม่ ถ้ามองในแง่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบการศึกษา การจ้างงานวันนี้ยังไม่เห็นใครที่จะเหมาะกับการอัพเกรด เพราะรัฐมนตรีช่วยบางคนยังไม่มีผลงานอะไรที่ชัดเจน

หลังจากนี้ประเมินว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีท่าทีในการต่อรองมากที่สุด จากกรณีล่าสุดมีการวอล์กเอาต์ในการประชุมสภา ซึ่งไม่แน่ใจเพื่อเป็นเงื่อนไขในการปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยให้เป็นรัฐมนตรีว่าการหรือไม่ หรือจะขอโควต้าเพิ่ม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คงจะนิ่งจากปัญหาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจำนวน ส.ส.ที่ลดลง ถึงที่สุดก็คงไปขอต่อรองโควต้าเดิมไว้ นอกจากนั้นในกลุ่มของพรรคเล็กก็ต้องการมีบทบาทบ้าง

ในการปรับ ครม.ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ หรือ “3 ป.” คงต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ลงตัว ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ในโอกาสนี้พล.อ.ประยุทธ์คงจะตัดสินใจปรับใหญ่รอบเดียวจบ เนื่องจากสถานการณ์ในระยะต่อไปจะมีเดิมพันสูง หากยังใช้วิธีการปรับแบบเดิม จะมีผลกระทบในด้านผลงาน

หาก 3 ป.มีบารมีจริง ไม่สร้างภาพ มุ้งทั้งหลายก็ต้องรับฟังด้วยความสงบ และขอให้มองภาพรวมในอนาคต เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการวัดใจ เพื่อให้มีมืออาชีพจากกลุ่มเทคโนแครตมีโอกาสเข้ามาทำงาน

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การปรับ ครม.ภายหลัง 3 รัฐมนตรีสิ้นสภาพ ไม่ใช่แรงกดดันจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นโอกาสนี้นายกฯสามารถพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่เข้าไปทดแทนได้ทันที โดยไม่ต้องประวิงเวลาให้เนิ่นนาน ขณะที่การเลือกตับบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งจะเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากต้องคำนึงถึงรอยปริร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐ หากพิจารณาจาก 2 รัฐมนตรีที่พ้นสภาพ นายณัฏฐพลเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 นายพุทธิพงษ์ อยู่ในลำดับ 3 มาจากเครือข่าย กปปส.

เมื่อดูในลำดับบัญชีรายชื่อถัดไปน่าสนใจว่า จะได้รับโอกาสเลื่อนไปทำหน้าที่รัฐมนตรีได้จริงหรือไม่ หรือจะต้องนิ่งเฉย เนื่องจากอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีจากผลของการต่อรองโดยกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ย้ายพรรคเข้ามา และที่ผ่านมามีรัฐมนตรีช่วยหลายรายต้องการไปทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการในตำแหน่งที่ว่างเพียง 2 เก้าอี้ และหลังจากนี้การต่อสู้เพื่อช่วงชิงตำแหน่งภายในพรรคจะทวีเข้มข้นมากขึ้น

ต้องดูว่าพรรคพลังประชารัฐจะสรรหาบุคคลใดไปทำหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อตอบโจทย์การทำงาน แม้ว่าสังคมต้องการบุคคลที่ขับเคลื่อนงานสำคัญได้ทันที มีความคิดก้าวหน้า แต่เชื่อว่าการคัดสรรบุคคลน่าจะยึดกรอบเดิมเพื่อทำให้ภายในพรรคมีความสงบมากที่สุด

หากพิจารณาแนวทางการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในปี 2562 พบว่ามีแนวคิดใช้ สส.บัญชีรายชื่อคุม ส.ส.เขต การสรรหาตัวรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ยังไม่ได้สร้างความก้าวหน้าเพื่อนำประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่จะเป็นการรักษาสถานภาพในปีกของอนุรักษนิยมแบบขวาสุด ดังนั้นคงไม่คาดหวังว่าจะมีการใช้ตัวบุคคลปรับ ครม.เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นหลัก

สำหรับในพรรคประชาธิปัตย์จะมีปัญหาจากการต่อรองมากที่สุด กรณีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยคมนาคมพ้นจากตำแหน่ง โควต้านี้ยังเป็นเหมือนชามข้าวของ ส.ส.เขตพรรคในภาคใต้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนลดลง และไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช จะได้ ส.ส.เขตกลับมาเท่าเดิมหรือไม่ ขณะเดียวกัน ส.ส.เขตภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐก็ยื่นข้อต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีในโควต้าภาคใต้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายเชื่อว่ากระแสที่เกิดขึ้นคงไม่มีอำนาจต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะหลังจากอภิปรายไม่วางใจแล้ว รัฐบาลยังมีเสถียรภาพมั่นคง ฉะนั้นการต่อรองของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคขนาดเล็กจำนวนมากจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังกุมสถานะของการมี 250 ส.ว.อยู่ในมือ พรรคการเมืองต่างๆ จึงอยู่สถานะเสียเปรียบ ดังนั้นพรรคการเมืองเดิมที่ร่วมรัฐบาลจะเกาะเกี่ยว เพื่อรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีไว้เพื่อทำงานตามนโยบายพรรคต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image