รายงานหน้า2 : วงเสวนา‘รัฐธรรมนูญ’ วัดใจจุดยืน‘พรรคร่วมรบ.-ส.ว.’

หมายเหตุ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดยมี ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) ร่วมเสวนา

อนุสรณ์ ธรรมใจ

รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้ แต่สามารถเป็นกติกาสูงสุดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนและรัฐบาล หากมีรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานประชาธิปไตย จะทำให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ บางคนบอกว่าให้มองประเทศพม่าเปรียบเทียบกับไทย

แต่ทำไมไม่เปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ให้เปรียบเทียบว่าสังคมไทยต้องอยู่แถวหน้าของเอเชีย ต้องมีความก้าวหน้า สังคมเศรษฐกิจแบบยุโรป แต่เมื่อดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดทางให้มีแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากประชาชน

Advertisement

ดังนั้น ต้องทำให้ทุกคนมีเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่าหวังว่าบ้านเมืองนี้จะดีขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวชัดเจนว่า ประชาธิปไตยจะอยู่มั่นคงได้ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาชัดว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจการสถาปนาเป็นของประชาชน จะไม่สนใจเจตนาของ ส.ว.และ ส.ส.ที่ยุบพรรคตัวเองเพื่อไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีสิทธิแก้ไขได้ นั่นหมายความว่า วันที่ 17-18 มีนาคม รัฐสภาต้องเดินหน้าวาระ 3 จะแก้ได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร ถ้า ส.ว.คว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รู้ว่าใครมีจุดยืนแบบใด และพรรคการเมืองที่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับไปร่วมตั้งรัฐบาลนั้นจะทำอย่างที่ประกาศไว้หรือไม่

Advertisement

แน่นอนคนจำนวนมากคาดว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำสูงมาก แต่เราจะรณรงค์ต่อสู้ต่อให้รัฐบาลทำประชามติ ถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

หากมองโลกในแง่ดีว่าจะมี ส.ว. 1 ใน 3 เสียง เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นแก่สังคมไทยไม่ต้องขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญอีกจะขอคารวะอย่างยิ่ง หวังว่าจะมีคนแบบนี้อยู่บ้าง ส.ว.ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้เลือกคุณมาเป็น ส.ว. เพราะคุณได้ตอบแทนไปตอนเลือกมาเป็นนายกฯแล้ว ต่อจากนี้ให้มาทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้หรือไม่

ดังนั้น จึงขอเสนอร่างโมเดลการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากตัวแทนประชาชนโดยตรง จะลดความขัดแย้งลงมาก สิ่งสำคัญคือการกำหนดกรอบเวลา เพราะมีคนชอบซื้อเวลา จะไม่ยอมแพ้ต่อการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเคลื่อนไหวและต่อสู้อย่างสันติเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ได้รับการสถาปนาให้เกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้

วรรณภา ติระสังขะ

รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย แต่อย่าถูกใครหลอกว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญต้องเป็นฉันทามติของคนในสังคม ควรจะถึงเวลาที่จะพูดคุยกันว่าฉันทามติของคนในสังคมคืออะไร เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางการเมือง ที่จัดสรร และการวางตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองไว้อย่างสมดุล รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศ ไม่ปรับตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจกัน

กลายเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจว่าจะอธิบายอย่างไร ประชาชนจึงไม่ศรัทธาหรือรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญในอนาคตควรจะออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นทั้งเครื่องมือที่เป็นทางการ และเครื่องมือที่ไม่เป็นทางการ คือรัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร และมีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดสิทธิพลเมือง มีเนื้อหาเคารพสังคมพหุนิยม ที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย

นอกจากนี้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน จะทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป

แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดีสามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน เพราะนายปรีดีได้พูดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ผ่าน 1.การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย 2.เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และ 3.สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยควรจะมีระบบการเลือกตั้งที่คัดสรรคนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน รวมถึงการมีองค์กรทางการเมืองที่มีดุลยภาพ และสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงศาลด้วย นอกจากนี้พรรคการเมืองสามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้ เพราะเป็นตัวเชื่อมนโยบายกับประชาชน

ดังนั้น การยุบพรรคจึงเป็นการทำลายอุดมคติบางอย่างของคนในสังคม เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยสามารถสอดแทรกใส่ในรัฐธรรมนูญได้ เช่น การเก็บภาษีหลายรูปแบบ

แนวคิดที่สำคัญคือการทำให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่เกิดจากการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ผ่านระบบกฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ ภายใต้การตรวจสอบ และภายใต้โครงสร้างทางอำนาจของรัฐธรรมนูญที่สมดุล เพื่อให้ดุลยภาพการเมืองเดินต่อไปด้วย

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ในส่วนแรกอยากชวนให้ทุกคนร่วมกันคิดว่าเมื่อเราตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 มีปัญหาและปลายทางรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีฉบับที่ก้าวหน้าควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ในส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี 3 เสาหลักรัฐธรรมนูญที่ “ก้าวหน้า” หรือมี 3 ก้าว คือ 1.ก้าวพ้นจากวิกฤต หมายความว่าในประเทศที่มีคนหลาย 10 ล้านคน เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความเห็นเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรให้กติกาสูงสุดของประเทศเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น การมีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับไม่เพียงแต่จะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่จะทำให้ไม่มาเป็นเงื่อนไขวิกฤตทางการเมืองด้วย 2.ก้าวสู่ประชาธิปไตย นอกจากจะมีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้ว รัฐธรรมนูญควรเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญสากล 3.ก้าวทันโลกอนาคต ในตอนนี้เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญออกแบบโครงสร้างรัฐที่มีความคล่องตัวว่องไวในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อมองย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ 60 อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก้าวแรกคือให้ทุกฝ่ายยอมรับ แต่การร่างรัฐธรรมนูญ 60 ประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเปิดให้แสดงความเห็น และเมื่อมีฝ่ายคัดค้านก็ถูกจับกุม แค่ก้าวแรกก็ตกม้าตายแล้ว ก้าวที่สองการเป็นประชาธิปไตย หมายถึง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความถดถอยในรายละเอียดของบางสิทธิเสรีภาพ อย่างถ้าในรัฐธรรมนูญ 50 ระบุ ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน แต่ในรัฐธรรมนูญ 60 เขียนเพียงว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่ได้เขียนว่าได้มาตรฐานและเหมาะสม จะเห็นได้ว่ามีความถดถอยในรายละเอียดต่างๆ ของประชาชนถดถอยลง

ต่อมา ก้าวที่สาม รัฐธรรมนูญ 60 ก้าวทันโลกแห่งอนาคตหรือไม่ เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และรัฐธรรมนูญยิ่งยาวดัชนีประชาธิปไตยยิ่งต่ำลง ต่อให้เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คิดนโยบายใหม่แต่ไม่ตรงกับสิ่งที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่คิดได้แม้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และรัฐธรรมนูญควรก้าวหน้าวางหลักประกันใหม่ๆ อย่างสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดความสำคัญของการกระจายอำนาจลง ไม่มีการวางหลักประกันว่าองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นคนในท้องถิ่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจสักคำ นี่เป็นสามก้าวที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถพาเราก้าวพ้นวิกฤต ก้าวสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และก้าวเท่าทันโลกได้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ตอนนี้เดินมาถึงทางแยกอีกครั้งหนึ่ง ทางหนึ่งนำไปสู่โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แต่อีกทางหนึ่งคือการเดินย้อนกลับถอยหลังทำลายหลักการ และหาทางไปต่อลำบาก

ในตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่แก้ไขยากมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ตัวมันเองจะแก้ยากอยู่แล้ว แต่ยังมีคนคั่นกลางทำให้ลำบากกว่าเดิม

โดยเฉพาะมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยว่าอำนาจรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยมีสาระสำคัญ รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขต้องทำประชามติ 2 รอบ

ประชามติรอบที่ 1 ถาม “ก่อน” ว่าจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ประชามติรอบที่ 2 เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ประชาชนเห็นชอบหรือไม่

แต่ตามกระบวนการในมาตรา 256 (8) กำหนดให้ต้องทำประชามติหลังผ่านวาระที่ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ และตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติหลัง ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ และค่อยลงประชามติ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ออกมา

ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ก็มีคนบอกว่ามีปัญหา คำที่มีปัญหาคือคำว่า “ก่อน” มีกลุ่มคนตีความได้ 2 แบบ คนกลุ่มแรกคือ ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ด้านคนกลุ่มที่สอง ก่อนเริ่มเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

สรุปคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติก่อน คือก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
ดังนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 3 ตามมาตรา 256 (8) ทำประชามติก่อนเพื่อถามประชาชนว่า อยากให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ในขณะเดียวกันมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนเกือบ 250 คน ที่แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ชอบ ส.ส.ร. เพราะถ้ามีแล้วจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ไปเขียนอะไรก็ได้รวมถึงประเด็นหมวด 1 หมวด 2 ด้วย คนพวกนี้ก็วนอยู่แค่ว่าห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เด็ดขาด และมีตัวแทนกลุ่มออกมาพูดแล้วว่าจะไม่ให้ผ่าน เหตุมาจากการห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2

ผมอยากเรียนท่าน ส.ว.ที่จะลงประชามติในวันที่ 17 มีนาคมนี้ อำนาจอยู่ในมือของท่าน ถ้ามั่นใจว่าเหตุผลนี้ฟังขึ้นจะลงมติโหวตได้เลย แต่ต้องอธิบายต่อประชาชนด้วย อย่าลืมว่าร่างปัจจุบันนี้กำลังจะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ว่าระบบการเลือกตั้งจะดีจะร้ายอย่างไร ไม่มีทางที่ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเขียนให้พวกคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในการเมืองไทยต่อไปได้ หรือเขียนให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช.ยังอยู่

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 1 ปีเต็มที่ได้ต่อสู้มา คือโอกาสที่มากขึ้น เป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวกฎหมายที่เป็นตัวอักษร แต่ต้องการสร้างสังคมแบบใหม่ รัฐธรรมนูญเป็นแค่เครื่องมือและที่ทำมาทั้งหมดเป็นบันไดที่จะทำให้พวกเราก้าวต่อไปข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image