เศรษฐกิจไทย 2021 ผ่านเลนส์ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ต้องประคับประคอง ทะยานปี’65

หมายเหตุ“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มุมมองต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดรอบ 2 และประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศต่อไป

ในปี 2564 ยังเป็นปีที่ต้องประคับประคอง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ เชิญชวนให้คนต่างชาติมาเที่ยวไทย รัฐบาลยังคงเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 ต้องได้ 4% ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น ทุกฝ่ายรวมถึงภาครัฐเองจะทำเต็มที่ ปีนี้เน้นการทำอะไรค้างคาและเป็นปัญหาให้แล้วเสร็จ ปีนี้หากเป็นไปได้อยากให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งก่อสร้างโครงการค้างท่อต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ และทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในประเทศมากขึ้นอีกด้วย ส่วนในปี 2565 แม้จะยังประเมินเศรษฐกิจในอนาคตไม่ได้ แต่คาดว่าการเรียกเก็บภาษียังไม่สูงมาก ในปี 2564 จึงต้องช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจ หากการฉีดวัคซีนเป็นไปได้ด้วยดีก็จะจบปัญหา จะจบปัญหาของผู้ประกอบการในประเทศ

ซึ่งหลังจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และกระทรวงการคลัง ซึ่งกำลังหารือและเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งในการเตรียมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โกดังพักหนี้ และคลินิกแก้หนี้ ความชัดเจนจะไม่เกินเดือนเมษายนนี้ และกลางปีนี้น่าดำเนินการแล้ว เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ทางภาครัฐช่วยเลื่อนจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ย ในปี 2563 ส่วนใหญ่ได้มีการชำระหนี้แล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 แต่ยังเหลือประมาณ 20-30% ที่ยังรอการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งการช่วยเหลือในลำดับต่อไปของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ คือ จะระบุและแยกให้ชัดเจนว่า หากบางกลุ่มต้องการสู้ต่อ เพื่อรักษาการจ้างแรงงาน ในกรณีนี้อาจช่วยในการปล่อยซอฟต์โลนให้เป็นทุนหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ไปต่อไม่ไหว แนะนำให้โอนทรัพย์สินให้ธนาคาร แต่หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อสามารถขอเช่ากับธนาคารได้ในราคาพิเศษ โดยใช้ซอฟต์โลนที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้มารักษาธุรกิจ ซึ่งมองว่าในเรื่องของซอฟต์โลน อาจไม่มีการขยายแล้ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้ช้ำมากแล้วในเรื่องของการปลดหนี้ จึงอยากให้ช่วยเหลือในส่วนของการสร้างงานและการจ้างงาน คาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว หากผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แล้ว ก็สามารถแต่ขอซื้อคืนกิจการจากธนาคารได้ ซึ่งในรายละเอียดของการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

Advertisement

ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ อาทิ ธปท. ร่วมมือกับ 21 สถาบัน เตรียมจัดมหกรรมแก้หนี้ ตั้งแต่ปัจจุบัน-เมษายนนี้ เพื่อต้องการแก้ไขให้ครบทุกกลุ่ม ที่มีประมาณ 20-30% เช่น กลุ่มหนี้บัตรเครดิต กลุ่มผู้กู้รายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นต้น โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ บนสมมติฐานวัคซีนเข้ามาครบถ้วน ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำอีก และไม่มีการเมืองระหว่างประเทศ หากเป็นเช่นนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้

อีกเรื่องที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจ หลังจากนี้ได้ คือ การที่รัฐบาลร่วมกับ ธปท.เปลี่ยนให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น ต่างจากแนวเดิมที่หากผิดนัดเพียงงวดเดียวจะถูกคิดเบี้ยผิดนัด จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด และเปลี่ยนในส่วนของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกได้ไม่เกิน 3% ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เจ้าหนี้จะกำหนดอัตราเบี้ยผิดนัดการชำระหนี้ได้เอง โดยทั้ง 2 กรณีจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นลูกหนี้ทุกกรณีด้วย

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐยังเดินหน้าผลักดันงบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท หลังจากนี้ จึงอยากให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเรื่องการลงทุน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ อย่างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่เลื่อนจากกำหนดการเดิมหลายครั้ง หรือการก่อสร้างถนนต่างๆ และรถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 นี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพื่อหารายได้เข้าประเทศต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แล้วมาลุกลามช่วงต้นปี 2563 ทำให้พฤติกรรมการออมเงินของประชาชนเปลี่ยนไป ซึ่งจากการประเมินในปี 2563 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการออมเงินเพิ่มขึ้น 11% จากปี 2562 ที่มีการออมเพียง 2-3% เท่านั้น หรือมีเงินออมประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องหามาตรการมาดึงดูดให้คนกลุ่มนี้ ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งเรื่องอุปโภค บริโภค และการท่องเที่ยว

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ต้องการผลักดันให้นโยบายหรือมาตรการเก่า อย่างการกระตุ้นการใช้จ่ายที่มีอยู่เดินหน้าไปก่อน ยังไม่อยากให้เพิ่มมาตรการใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ คือ เมนูหลักยังเหมือนเดิมแต่ไปเพิ่มเติมอะไรในเมนู สิ่งที่จะทำต่อไป คือ ปัจจุบันยังเหลืองบประมาณที่สามารถดึงมาใช้ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้ ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องไปคิดมาว่าจะนำไปเติมในส่วนไหน เบื้องต้นคาดว่าอาจมีการปรับปรุงและพัฒนา โครงการคนละครึ่งให้ประชาชนใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น และคาดว่าในปีนี้ จะยังไม่มีการกู้เงินเพิ่มหากสถานการณ์โควิด-19 ยังนิ่ง ต้องดูตามสถานการณ์ไปก่อน

นอกจากการผลักดันโครงการค้างท่อของรัฐแล้ว อีกเรื่องที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไป คือ การเตรียมรับมือด้านการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะไปถึงหรือมากกว่า 4% หรือไม่ ในเรื่องของการลงทุนภาครัฐเดินหน้าเต็มที่อยู่แล้ว แต่อีกหนึ่งตัวกระตุ้นที่สำคัญคือ ทำอย่างไร เพื่อให้ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ตอนนี้จึงเป็นช่วงที่ไทยต้องปูพื้นเพื่อรอการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล มองว่าตอนนี้บริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีในไทยมีเยอะ ต่างชาติมองไทยเป็นตลาดใหญ่ ด้านคลาวด์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ ที่ไทยเองได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไทย ถือว่าพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ในอนาคตต้องสำรองงบประมาณในการส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อรองรับการจ้างงานใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย

สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เริ่มหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและเตรียมความพร้อม เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเวทีโลก ซึ่งในอนาคตเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกว่าเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งไทยเองเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น ภาครัฐบาลเองก็ได้มีการสนับสนุนในเรื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และคาดว่าอาจมีการผลิตคาร์บอนซิงค์มาใช้มากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสังคมคาร์บอนในอนาคต ซึ่งต้องพัฒนาคู่กับนโยบายลดโลกร้อนด้วย ในอนาคตทั้งเรื่องดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นหลักสำคัญในเศรษฐกิจโลก ไทยเราควรเป็นศูนย์กลางและต้นแบบในเรื่องเหล่านี้ ก็จะหารือและทำเป็นยุทธศาสตร์ชาติต่อไป เป็นการปูพื้นเพื่อให้ภาคเอกชนในและนอกประเทศลงทุนต่อไป

ส่วนเรื่องวัคซีนที่ภาคเอกชนเป็นกังวลว่าจะสามารถซื้อมาฉีดเองได้เมื่อไหร่ หรือจะสามารถนำมาฉีดในจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวก่อนไหม เรื่องนี้มีคำตอบแน่นอน แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างหารือว่าจำนวนวัคซีนที่มีอยู่จะเพียงพอมากน้อยแค่ไหน ต้องดูตามความเหมาะสม ส่วนภาคเอกชนที่ต้องการซื้อมาฉีดเองนั้น ทางภาครัฐยินดีอยู่แล้ว แต่ต้องติดตามข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง อย่างในวันที่ 19 มีนาคมนี้ จะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หารือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อหาทางออกทั้งในเรื่องของวัคซีนและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ภูเก็ตเป็นโมเดล ด้านการท่องเที่ยว และคาดว่าหากความเชื่อมั่นกลับมาการท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาส 4 โดยก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) แน่นอน ที่จะนำผลหารือและข้อเสนอภาครัฐเข้าหารือ จึงอยากให้ภาคเอกชนคลายกังวลในส่วนนี้ด้วย และตอนนี้ความเชื่อมั่นของไทยในตลาดโลกไม่ได้ตกลง ความเชื่อมั่นยังดีอยู่

อย่างไรก็ตาม ย้ำในปี 2564 ต้องเดินหน้าทำ 2 เรื่องควบคู่กันไป ทั้งในเรื่องของโครงการรัฐที่เปรียบเสมือนเมนูเก่าๆ ต้องทำให้แล้วเสร็จในปีนี้ และการปูพื้นฐานเรื่องดิจิทัล เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต ส่วน จีดีพีปี 2564 ยังคาดหวังในเติบโตที่ 4% แม้จะยังไม่สามารถเติบโต หลังงจากปี 2563 ที่ติดลบ 6.1% ได้ยังขาดอีก 2% แต่เชื่อว่าในปี 2565 ไทยจะมีจีดีพีสูงกว่า 2% อย่างแน่นอน เพราะการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นเริ่มฟื้นจากการติดลบ ตอนนี้เริ่มกลับมาเป็นบวก และภาคการท่องเที่ยวเองคาดจะกลับมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และปี 2565 ก็จะกลับมาสดใสแล้ว ซึ่งเฉพาะภาคการท่องเที่ยวน่าจะช่วยดันจีดีพีประเทศประมาณ 1% ได้สบายๆ

**************

บทสัมภาษณ์พิเศษนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาการสัมมนาเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ในวันที่ 25 มีนาคม เวลา 08.30-12.00 น. ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพฯ โดยหนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลิกโควิดเป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ” นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บรรยายพิเศษ “Next step ฟื้นประเทศไทย” และเสวนา “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image