บทนำวันศุกร์ที่19มีนาคม2564 : บทบาทรัฐสภา

ที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเริ่มประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ทำให้เกิดการโต้แย้งกันว่า จะสามารถลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ได้หรือไม่ โดยรัฐบาลและ ส.ว.เห็นว่า จะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้ร่างแก้ไขตกไปก่อน แล้วไปทำประชามตินับหนึ่งใหม่ ขณะที่ฝ่ายค้านเห็นว่า น่าจะลงมติในวาระที่ 3 ได้ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงมติ ยังไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

มีการอภิปรายใน 2 ทิศทางใหญ่ๆ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในการประชุมครั้งนี้ว่า รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐสภาต้องเลือกระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมาย กับปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนไหนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเลย ศาลไม่ได้มีคำวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนว่าคนมีอำนาจแก้ไขกฎหมายคือรัฐสภา คำวินิจฉัยของศาลไม่ได้อยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และศาลไม่ได้ระบุไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องลงมติในช่วงใด หรือจะต้องลง หรือไม่ลง ทั้งนี้รัฐสภามีอำนาจ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่ใช้ ตนถือว่าเป็นความผิดอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น ไม่ควรให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ตกไป

รัฐสภาได้ใช้เวลาไปพอสมควร ทั้งศึกษาและจัดทำร่างแก้ไขก่อนนำเข้ารัฐสภา สิ้นเปลืองงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนไปไม่น้อย ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งและความตึงเครียดในสังคมไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเกิดปัญหาโต้แย้งขึ้น หากรัฐสภามีความจริงใจที่จะแก้ไข หรือยกร่างใหม่ ก็สามารถผนึกกำลัง ผนึกความคิดผลักดันให้ความพยายามครั้งนี้ไปต่อได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากรัฐสภาเห็นเป็นเรื่องประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่ม ก็น่าเสียดาย และน่าห่วงว่า เรื่องนี้ จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมประเทศไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image