รายงานหน้า2 : วิพากษ์โหวตวาระ2-3 กฎหมาย‘ประชามติ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีจะมีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อโหวตวาระ 2-3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7-8 มีนาคมนั้น

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เตรียมประสานรัฐบาลขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายนนั้น หลักใหญ่ใจความของการประชุมรัฐสภารอบนี้คงจะหนีไม่พ้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซี่งเป็นกฎหมายสำคัญในกระบวนการรับฟังเสียงและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางประชาธิปไตย ผ่านการออกเสียงประชามติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ และเป็นการดำเนินการให้เกิดสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อสังเกตถึงร่างพระราชบัญญัตินี้ว่าน่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ เพราะมีการพิจารณามาตราที่ยากไปแล้วนั้น สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีที่ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายได้ลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระที่ 3 เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลและการขับเคลื่อนประเทศต่อไปนั้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าการผ่านกฎหมายฉบับนี้อาจกระทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการประชามตินี้มีมูลเหตุแห่งปัญหาหลายประการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายฉบับเดิมที่ตราขึ้นในปี พ.ศ.2559 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและประชาชนบางส่วนอย่างหนักว่าเป็นกฎหมายประชามติที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกจนเกินจำเป็น นำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นที่ผิดต่อกฎหมายดังกล่าว
หากร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีส่วนที่จำกัดสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและมีมาตราที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อดำเนินการกับผู้มีความคิดเห็นต่าง ส่วนตัวเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลย่อมแสดงความคิดเห็นอย่างถึงที่สุดเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ซึ่งจะทำให้การผ่านกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติในครั้งนี้ไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร
นอกจากนี้สัญญาณสะดุดอีกอย่างคือการที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้ยอมรับถึงการสื่อสารที่ผิดพลาดจนอาจทำให้การแก้ไขร่างกฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่แล้วเสร็จทันเวลานั้น
แม้จะมีการออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการปรับปรุงร่างดังกล่าวให้ทันการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ แต่ตนเองเชื่อว่าความไม่พร้อมดังกล่าวอาจส่งผลต่อความครบถ้วนในการพิจารณากฎหมายประชามติในที่ประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประชามตินี้จะทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนจะยื่นเรื่องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะถูกนำมาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้ร่วมตัดสินอนาคตของประเทศ ด้วยเหตุนี้เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม รัฐบาลเองย่อมที่จะต้องผ่านร่างกฎหมายประชามติที่เอื้อต่อเสถียรภาพของตนเองให้มากที่สุด ในขณะที่ผู้ประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านย่อมที่จะต้องการกฎหมายประชามติที่เปิดกว้างให้มากที่สุด ดังนั้นการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในสมัยประชุมวิสามัญที่จะถึงนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและยากที่จะราบรื่น

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

การประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เมษายนนี้ จะเป็นอย่างไร จะต้องรอผลการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในวันที่ 1-2 เมษายน เพื่อพิจารณามาตราอื่นที่เหลือ ตั้งแต่มาตรา 10 ถึงมาตรา 66 โดยมีหลักการว่าจะต้องปรับให้เข้ากับมาตรา 9 ที่มีการลงมติไปแล้ว และต้องระวังไม่ให้การปรับแก้ขัดกับรัฐธรรมนูญ
โดย กมธ.จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะช่วยดำเนินการได้ จากนั้น กมธ.จะดูร่วมกันโดยใช้เวลา 2 วัน ส่วนตัวคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา และจะส่งให้สภาได้ดูก่อนล่วงหน้า เพื่อพิจารณาเป็นรายมาตราในวาระ 2 หลังจากนั้นก็เข้าสู่วาระ 3 เพื่อลงมติโดยไม่มีการอภิปราย หากไม่ผ่านร่างก็ตกไป
หากผ่านก็จะต้องพักรอไว้ 5 วัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายดูว่ามีสาระสำคัญเรื่องใด ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาจจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนได้
ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากคำแปรญัตติของ กมธ.เสียงข้างน้อย โดยรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทำให้ กมธ.ต้องเดินหน้าต่อไป หากถามว่าผลงานของ กมธ. ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่
ขอเรียนว่าเป็นผลงานของรัฐบาลจากการทำหน้าที่ของ กมธ. 48 คน เป็น ส.ว. 15 คน ส.ส.รัฐบาล 15 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 14 คน ที่เหลือมาจากตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ดังนั้น หากถามถึงความรับผิดชอบในการทำกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลน่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่า เพราะสามารถใช้เสียงส่วนใหญ่ในการโหวตให้ชนะได้ทุกเรื่อง
หน้าตาของกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นหน้าตาของ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นชอบ เพียงแต่การประชุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติไว้ในมาตรา 9 เมื่อนำไปอภิปรายในสภาก็ทำให้เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำแปรญัตติ กมธ.เสียงข้างน้อย เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นเกมของฝ่ายใด แต่เป็นเรื่องของเหตุผลที่สามารถโน้มน้าวจูงใจได้ดีกว่า รัฐสภาเสียงข้างมาก ก็จะเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง และหากวิเคราะห์สาเหตุเชื่อว่ามาจากหลักการและเหตุผลของ กมธ.เสียงข้างน้อยเป็นเหตุผลที่ดีกว่า
เนื่องจากกฎหมายประชามติไม่ได้ออกแบบเพื่อทำรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ต้องดีไซน์เป็นกฎหมายกลางให้ตอบโจทย์การทำประชามติทุกกรณี กมธ.จึงมีการเปิดช่องให้สภาหรือประชาชนสามารถเสนออีก 2 ช่องทางในการแปรญัตติได้
อีกประการที่ทำให้ชนะเสียงข้างมาก การลงมติในวันที่ 18 มีนาคม จะต้องลงมติ 2 รอบ รอบแรกเห็นด้วยกับร่างเดิมหรือเห็นด้วยกับร่างที่มีการแก้ไข หากเห็นด้วยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรของรัฐบาล
ส่วนรอบที่ 2 รัฐสภาจะโหวตเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากหรือข้างน้อย การโหวต 2 รอบทำให้เกิดความสับสน แต่ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุกล่าวอ้างในการโหวตใหม่ เพราะหากผู้โหวตเห็นว่าอะไรไม่ชัดเจนก็ควรจะสอบถามกับประธานการประชุมก่อนลงมติ
ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ได้ผ่านมาตรา 9 ไปแล้วก็จะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อออกแบบกฎหมายประชามติให้มีการเสนอเพื่อทำประชามติได้ 5 ช่องทาง
แต่ท้ายที่สุดใครจะเสนออย่างไรก็ต้องจบที่ ครม.ที่ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณเห็นสมควรจะให้ทำหรือไม่ มีความจำเป็นหรือไม่
ดังนั้น ร่างที่เสนอจึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะจะไปจบที่ ครม.เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 166 ส่วนกรณีที่จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องดูว่า กมธ.มีการชี้แจงให้เกิดความเข้าใจได้หรือไม่ในวันที่ 7-8 เมษายน แต่จะต้องรอผลการประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 1-2 เมษายนนี้
สำหรับกฎหมายฉบับนี้เริ่มจากวาระ 1 รัฐบาลจะให้ผ่านหรือไม่ก็สามารถทำได้ ก่อนวาระ 2 ในขั้นแปรญัตติรัฐบาลก็มี กมธ.เสียงส่วนใหญ่มากกว่าฝ่ายค้าน และในการพิจารณาในขั้นตอนต่อไปส่วนตัวมองโลกในแง่ดี หากร่างกฎหมายผ่านก็จะมีเครื่องมือในการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ในการทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากรัฐสภาคว่ำกฎหมายหรือส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้กฎหมายประกาศใช้ล่าช้า ก็ยังสามารถทำประชามติได้
เนื่องจาก พ.ร.ป.การทำประชามติปี 2552 ยังมีผลใช้บังคับ หากจะทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญก็ใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นกรอบดำเนินการได้

พินสุดา วงศ์อนันต์
อาจารย์สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ร่างกฎหมายประชามติถือเป็นผลพวงของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หากดูการลงมติ หรือผลโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.อีก 250 คน ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือปฏิรูปการเมืองตามที่เคยอ้างไว้ เพื่อครองอำนาจและรักษาผลประโยชน์พวกพ้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว อาจถูกตีตกไปเช่นเดียวกับแก้รัฐธรรมนูญวาระที่ 3
ปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านประชามติก่อน และเสียง ส.ว.อีก 250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง แม้รัฐบาลครบวาระ 4 ปีแล้ว แต่ ส.ว.ยังทำหน้าที่อยู่เพื่อเป็นฐานการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกปิดตายหรือล็อกโครงสร้างไว้ เพื่อให้รัฐบาลและผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญดังกล่าว อยู่ยาว
ถ้าระหว่างทาง รัฐสภาผ่านกฎหมายประชามติ สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ อาจทำให้รัฐบาลสั่นสะเทือน ไม่สามารถอยู่ยาวได้
รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม จนมีคนพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญดีไซน์เพื่อพวกเรา สะท้อนให้เห็นปัญหาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ที่ยึดโยงกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน
สะท้อนจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าถ้าอยากแก้รัฐธรรมนูญ แน่จริงต้องแก้กฎหมายเกี่ยวข้องให้ได้ก่อน ถือเป็นการท้าทายประชาชนโดยตรง เพราะรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคอยู่ ส่งผลและเป็นช่องโหว่ให้เกิดเผด็จการซ่อนรูปในรัฐสภาที่อ้างมาจากประชาชนรูปแบบหนึ่ง
หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง ภาคประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้อง พร้อมกดดันให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ควบคู่กับพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปและประชาธิปไตย ตามแนวทางสันติเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อประชาชนโดยแท้จริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image