รายงานหน้า2 : ประเมินสถานการณ์ม็อบ ‘นปช.’เคียงข้าง‘น.ศ.’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการต่อกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจุดยืนเคียงข้างการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษา และนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. ที่นัดหมายชุมนุม วันที่ 4 เมษายน

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

เชื่อว่าแกนนำ นปช.มีปัญหาดูคล้ายกับไม่เชื่อใจนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. และการนัดชุมนุมในวันที่ 4 เมษายน เชื่อว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คงไม่ไปร่วมกับนายจตุพร ที่มีเป้าหมายเพียงแค่ขับไล่นายกรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่นายณัฐวุฒิจะออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะยืนยันจุดเดิมในแนวประชาธิปไตยถือว่าเป็นกำลังใจให้กลุ่มเยาวชน สำหรับสิ่งที่แถลงอาจสะท้อนภาพให้เห็นว่าการต่อสู้ยังเป็นหน้าที่หรือไม่ ที่จะต้องทำให้จบ แต่จะทำอย่างไรก็ต้องดูความพร้อมอีกระยะ แค่คาดว่าคงไม่นาน เพราะที่ผ่านมาการตั้ง 3 เงื่อนไขของกลุ่มเยาวชน มีบางเรื่องทำให้ประชาชนไม่กล้าจะติดตาม ทำให้กระแสความน่าสนใจเคยพุ่งสูงเมื่อกลางปีก่อนลดน้อยลง และปัจจุบันกลุ่มแนวร่วมทั้งหลายก็ไม่เคยประกาศจะลดเงื่อนไขบางเรื่อง ยังยืนยันแนวเดิมเพราะเชื่อว่ายังสามารถปลุกเร้าคนรุ่นเดียวกันได้ การเคลื่อนก็เป็นการจัดตั้งมวลชนชั่วคราว เพราะไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนการปักหลักพักค้าง
ดังนั้นต้องรอดูว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันกระแสการเคลื่อนไหวจะพุ่งสูงด้วยปัจจัยอะไรบ้าง เชื่อว่ากลุ่มแนวร่วมใหม่ๆ รวมทั้งกลุ่ม นปช. ที่จะออกมาเคลื่อนไหวผสมโรง จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ หรืออาจจะรอให้มีจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ฟันธงไว้ล่วงหน้าว่าตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป บ้านเมืองจะหาความสงบไม่ได้ จะมีกลุ่มที่สนับสนุนและไล่รัฐบาล แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดความรุนแรง มวลชนที่ขับไล่ก็อาจจะนวดไปเรื่อยๆ เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนก็คงปกป้องรัฐบาลด้วยวิธีการแบบเก่าที่เคยใช้ได้ผลดี เพราะฉะนั้นทั้งนายณัฐวุฒิ นายจตุพร และ นปช. คงทราบดีว่าการทำมวลชนเพื่อต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันจะไม่เหมือนในอดีต เพราะการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ออกมาต่อสู้ไม่ได้เอาอำนาจเข้าตัว หรือไม่ได้สู้เพื่อแย่งชิงอำนาจให้กับพรรคการเมืองที่อยู่ข้างหลัง หรือบางช่วงมีมวลชนออกมาต่อสู้เพื่อทำให้มีการรัฐประหาร แต่มีบทพิสูจน์แล้วว่าเหมือนเป็นการทำนาให้นกกินจากผลของการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ
หากการออกมาของอดีตแกนนำม็อบรุ่นใหญ่อย่าง นปช. ต้องดูว่ามีเจตนาอย่างไร ประชาชนจะให้ความเชื่อถือจริงหรือไม่ ประกอบกับการทำไอโอ จะต้องมีการโจมตีในโซเชียลมีเดีย กรณีการเสนอนิรโทษกรรมตัวเองหรือจุดอ่อนเรื่องอื่นที่เคยทำไว้ ในการเคลื่อนไหวของมวลชนในยุคก่อนก็จะมีปัญหาพอสมควร แต่ถึงที่สุดเชื่อว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ต้องการให้แตกหัก เพียงแต่สร้างกระแสความรู้สึกให้กว้างขวางออกไป และหากจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การยุบสภา ก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่อาจจะเกิดจากเนื้อสนิมที่เป็นความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐมากกว่า
แม้ว่าผู้คนอาจจะเบื่อรัฐบาลชุดนี้พอสมควร จากสิ่งที่นายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะหงุดหงิด พูดท้าทายหลายเรื่อง สายตาของท่านที่มองผู้ที่เคลื่อนไหวเชื่อว่ายังมีเบื้องหลัง หากตัดคนสนับสนุนไปได้ทุกอย่างก็จะหยุด ไม่ได้มองว่าการเคลื่อนไหวมีพื้นฐานของพลังบริสุทธิ์ โดยเฉพาะการพูดท้าทายให้ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ ก็จะเป็นปัญหาพอสมควร ส่วนตัวไม่ได้หวังผลการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทุเลาความขัดแย้ง เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าตั้งไว้เพื่อประวิงเวลา ไม่ได้จริงใจจะปรองดองหรือสมานฉันท์ เหมือนที่ คสช.เคยประกาศไว้ว่าจะทำเรื่องนี้ หลังมีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่วันนี้ปัญหาถูกปล่อยให้บานปลายหนักกว่าเดิมยากจะเยียวยา

นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

Advertisement

ก่อนอื่นต้องบอกว่านายณัฐวุฒิเป็นผู้นำมวลชนที่สื่อสารได้อย่างมีศิลปะในการพูด ในการจูงใจ โดยคำที่พูดนั้นสามารถแสดงจุดยืนของเขาออกมาได้อย่างชัดเจน หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมนายณัฐวุฒิถึงต้องออกมาแถลงหลังจากพ้นโทษอย่างแท้จริง ส่วนตัวสรุปได้ว่า สาเหตุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองค่อนข้างมาก กลุ่มคนของนายณัฐวุฒิที่เคยอยู่ นปช.เอง ก็มีการเปลี่ยนจุดยืน ปรับทัศนคติ ย้ายข้างบ้างก็มี แม้แต่ในส่วนของการเมืองในพรรค ก็มีการแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ด้วยจุดนี้ที่ทำให้นายณัฐวุฒิอยากออกมาแสดงความชัดเจนในตัวเอง เพราะหลายคนอาจสงสัยว่าหลังจากพ้นโทษ นายณัฐวุฒิจะเปลี่ยนข้างหรือไม่ แนวคิดอุดมการณ์จะเป็นอย่างไร
หากวิเคราะห์ตามถ้อยคำที่สื่อสารจะพบว่าจุดยืนไม่เปลี่ยน อุดมการณ์ชัดเจน คือต้องการที่จะให้ประเทศชาตินี้ ประชาชนได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน กล่าวคือ สุดท้ายอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ยืนยันในจุดนี้ ทั้งยังแสดงความ “เห็นด้วย” กับข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน พร้อมทั้งประกาศตัวชัดเจนว่าจะยืนเคียงข้างนิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ จะยืนอยู่ข้างเยาวชนราษฎร
ขณะเดียวกัน เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่บางคนพยายามยัดเยียดให้เยาวชนว่าเป็นคนที่มุ่งร้าย โค่นล้ม ทำลายสถาบัน ด้วยการปฏิเสธว่าไม่จริง เขามองว่าเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้มีความตั้งใจมุ่งร้ายเช่นนั้น ชัดเจนว่าทิศทางที่นายณัฐวุฒิจะสู้ต่อ คือทิศทางเดียวกับเยาวชน สู้เพื่อให้ประเทศชาติ ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน และเรียกร้องให้ปลดปล่อยเยาวชนออกจากเรือนจำ จะสังเกตเห็นว่านายณัฐวุฒิให้ความสำคัญกับส่วนนี้ จากคำพูดประมาณว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นปัญหาที่เกิดจากผู้ใหญ่ แต่สุดท้าย คนที่ต้องออกมาแก้ คือเยาวชน ซึ่งการที่เขาได้พบกับพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร ซึ่งบอกว่าเขาได้รู้จักนายณัฐวุฒิเมื่ออายุ 11 ปี นายณัฐวุฒิบอกว่า ลูกเขาก็อายุ 11 ปี ณ เวลานี้ ซึ่งหมายความว่า การต่อสู้ตรงนี้อาจจะกลายเป็นคนรุ่นใหม่ เยาวชนอายุน้อย จะต้องออกมาแก้ปัญหาให้กับผู้ใหญ่ที่ก่อเอาไว้ ซึ่งนายณัฐวุฒิเองก็มองว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ผู้ใหญ่ควรจะออกมาแก้ปัญหา ไม่ใช่โยนภาระทั้งหมดให้เยาวชน จึงมองว่า ควรเอาเยาวชนออกมาจากเรือนจำ ไม่ควรจับกุม คุมขังเขา เพียงเพราะมีจุดยืนที่จะต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนในสังคม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นายณัฐวุฒิได้สื่อสารออกไปนั้นได้ผล เพราะมีพลังสำหรับคนที่อยู่ซีกข้างประชาธิปไตย เป็นกำลังใจให้คนข้างนี้ว่า อย่างน้อยคนอย่างนายณัฐวุฒิที่ต้องประสบชะตากรรม เข้าไปรับโทษในเรือนจำ แต่เมื่อเขาออกมายังยืนยันจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจน ทั้งยังประกาศว่าเขาไม่ได้เสียใจที่เดินเส้นทางนี้แล้วต้องติดคุก เขาไม่กลัวที่จะสู้ต่อเพื่อให้คนไทยได้มาซึ่งอำนาจสูงสุด เป็นการส่งพลังให้คนที่ยืนข้างนี้สู้ต่อ เพราะยังมีคนอยู่ในขบวนการ บางส่วนอาจจะอยู่ในคุก แต่คนที่ออกมายังยืนหยัด สืบสานอุดมการณ์ด้วยกันต่อไป แต่จะด้วยรูปแบบอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของอนาคต แต่ในแง่ฝั่งตรงข้าม ถามว่าส่งผลหรือไม่ คิดว่าไม่เกินความคาดหมายของกลุ่มคนฝ่ายตรงข้าม ที่มองว่ากลุ่มคนที่ออกมาต่อสู้ตรงนี้จะยังยืนหยัดสู้ต่อ เขาคงไม่ได้คิดว่าจะส่งผลสะเทือนอะไร เพียงแค่ไม่ได้พวกใหม่ ไม่ว่าอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามก็ได้รับรู้แล้วว่า มีคนที่อยู่ในทิศทางการต่อสู้ โดยไม่ละทิ้งอุดมการณ์เดิม

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การออกมาแถลงของนายณัฐวุฒิ คงไม่ได้หวังผลในทางการเมืองระยะสั้น แต่ต้องการแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการให้กำลังใจกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ แม้ว่าการเคลื่อนไหวในระยะต่อไปไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ขณะที่บรรดาแกนนำของกลุ่มเยาวชนถูกจับกุมดำเนินคดี และหากมีบุคคลแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองที่สนับสนุนก็อาจจะเป็นผลในทางจิตวิทยา สะท้อนภาพให้เห็นว่าการออกมาแถลงของนายณัฐวุฒิเป็นเพียงการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบรรดาเยาวชน แต่การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นจริงยังมีเงื่อนไขอีกมาก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย รวมทั้งไม่แน่ใจว่ากลุ่ม นปช.จะมีพลังอยู่จริงหรือไม่ นอกจากนั้นประเด็นในข้อเรียกร้องทางการเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม มีมิติที่หลากหลาย เพราะวันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างทางอุดมการณ์ มีทั้งกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มเสรีนิยม และอุดมการณ์ด้านอื่น ดังนั้น บริบทจึงแตกต่างจากการเคลื่อนไหวเมื่อ 10 ปีก่อน มีเพียงฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ต่อสู้กันชัดเจน ขณะที่นายณัฐวุฒิออกมาก็เป็นสัญญาณที่ดีในเชิงสนับสนุนการเคลื่อนไหว แต่จะทำให้เกิดการระดมมวลชนหรือไม่ ก็ยังมีเรื่องที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้าอีกหลายประการ
การเปิดตัวทำให้มีความเชื่อว่าอาจมีความเป็นไปได้ในการลดเงื่อนไขข้อเรียกร้องบางประการจาก 3 ข้อ ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน เนื่องจากการมีแกนนำที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นนายณัฐวุฒิหรือนายจตุพรก็อาจจะมีการปรับประเด็น หรือทำให้ประเด็นเหล่านั้นไม่เกิดปัญหากับการเคลื่อนไหว โอกาสที่จะทำให้มีข้อสรุปเหลือประเด็นเดียว คือการขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีความเป็นไปได้ เพราะถ้าหากยังมี 3 เงื่อนไขเดิมก็เป็นทั้งผลในเชิงบวกและลบในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นจากประสบการณ์ของบรรดาแกนนำ คงมีการปรับแนวทาง อุดมกาณ์ วิธีปฏิบัติในการเคลื่อนไหวที่อาจจะไม่เป็นจุดอ่อน หรือถูกนำมาหยิบยกเพื่อโจมตีเหมือนการเคลื่อนไหวช่วงปลายปี 2563
สำหรับจังหวะหรือโอกาสที่จะไปร่วมกับคนรุ่นใหม่คงไม่เห็นง่ายๆ เพราะว่าแม้กระทั่งการแถลงที่เกิดขึ้น ก็ยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ เมื่อมีคำถามว่าจะกลับมามีบทบาทในการเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวอีกหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องของอนาคต ตรงนี้จึงไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะกลับมาเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำ มีเพียงการประกาศสนับสนุนยืนเคียงข้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนมากกว่า และการแถลงเป็นการแสดงจุดยืนส่วนบุคคล โดยไม่เอาเผด็จการ มีจุดยืนในเส้นทางประชาธิปไตยเหมือนเดิม
รวมทั้งการแสดงจุดยืนทางอ้อมของกลุ่ม นปช.ด้วย เพราะมีบุคคลระดับแกนนำ นปช.หลายรายมาร่วมแถลง บางช่วงนายณัฐวุฒิยังพูดถึงที่มาที่ไปของการยุติบทบาท นปช.ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกับนายจตุพร แม้ว่าจะมีแนวทางเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันบ้างในระยะหลัง ดังนั้นคงต้องรอดูอีกว่ากลุ่ม นปช.จะสามารถฟื้นคืนแนวร่วมทางอุดมการณ์ได้หรือไม่ ภายใต้บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากอุดมการณ์ความคิดที่หลากหลายของประชาชนในสังคม และการใช้กฎหมาย ใช้อำนาจรัฐที่เข้มข้นในการควบคุมการเคลื่อนไหวของมวลชนต่างจาก 10 ปีก่อน ไม่มีการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เรื่องเหล่าจึงเป็นเงื่อนไขที่ท้าทายว่าการชุมนุมของ นปช.จะกลับมาได้หรือไม่
ขณะที่กลุ่ม นปช.เคยร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรเมื่อปลายปี 2563 โดยประกาศที่มาจากแต่ละพื้นที่ แต่ระยะหลังกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ประกาศชื่อตัวเองโดยเข้าร่วมกับคณะราษฎร จึงต้องดูว่ามวลชนเหล่านี้จะกลับมาร่วมกับ นปช.อีกหรือไม่ และต้องติดตามการชุมนุมของนายจตุพร ในวันที่ 4 เมษายน จะถือว่าเป็นประตูด่านแรกที่มีการเช็กเรตติ้งของ นปช. ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ยังฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนเดิมหรือไม่ ในวันนี้จะมีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนการปรับจูนแกนนำมวลชนของคนรุ่นใหม่และ นปช. ก็คงไม่ยาก เพราะมีข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมของสังคม และความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image