บทนำวันจันทร์ที่5เมษายน2564 : ฐานะการคลังไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ออกเอกสารชี้แจงประเด็นจากกรณีที่มีข้อวิจารณ์ถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศว่า เริ่มมีความเสี่ยง สรุปได้ว่า แม้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2565 ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโต เพราะการลงทุนภาครัฐต้องรวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สามารถช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกด้วย ซึ่งมูลค่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีอยู่ที่กว่า 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการเร่งนำนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใหม่ๆ มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้งบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินหรือเงินกู้จากภาครัฐ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การลดวงเงินงบประมาณนั้นเคยดำเนินการมาแล้วในอดีต เช่น ปีงบประมาณ 2553 ลดกรอบวงเงินจากปี 2552 ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

เรื่องระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP นับตั้งแต่ปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลรุนแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลังจึงได้ตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว จำนวน 338,761 ล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้สาธารณะคงค้างส่วนที่เหลือ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 49.34 ในปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 53.21 แต่รัฐบาลคาดว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย เศรษฐกิจและสังคมจะฟื้นตัว ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะปานกลาง (ปี 2565-2568) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่ไม่เกินร้อยละ 60 และอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังถูกจัดอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังระบุว่า กระทรวงการคลังมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ที่ 2.47 มีค่าสูงขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1.44 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ยังคงต่ำกว่าระดับขีดเตือนภัยที่อยู่ที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด แต่ยังคงมีพื้นที่ว่าง (room) ในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น ทั้งหมดนี้ถือเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารอีกครั้งจากทางการว่าการคลังของไทยยังเข้มแข็ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางเศรษฐกิจยังมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นมากสุดในรอบ 18 ปี ที่เป็นการบ้านของรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครัวเรือนที่จะต้องประคับประคองแก้ไขปัญหานี้ต่อไป เพราะตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าคนไทยยังมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และมีคนไทยที่ตกอยู่ในสภาพนี้มากขึ้นทุกปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image