บทนำวันศุกร์ที่23เมษายน2564 : 77% เห็นควรแก้ไข

สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 22,830 ตัวอย่าง กระจายตามเพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ระหว่างวันที่ 1-19 เมษายนที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในสัดส่วนร้อยละ 77.5 ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขณะที่ร้อยละ 22.5 บอกว่าไม่ต้องการแก้ไข โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา และไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก

เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า คณะบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ร้อยละ 39.1 รัฐสภา ร้อยละ 30.8 คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 13.6 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 12.7 และ 2.6 เสนอให้เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามลำดับ การสำรวจยังสอบถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการไปลงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.2 บอกว่าจะไปออกเสียงประชามติแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ตอบว่า ไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่สนใจ และเบื่อการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยกร่างโดยคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 2557 มีการทำประชามติ ภายใต้การควบคุมเข้มงวด ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้รณรงค์เสนอความเห็น เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทำให้นักการเมืองบางกลุ่มระบุว่า ดีไซน์เพื่อพวกเรา ในการเลือกตั้งเดือน มี.ค.2562 เกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.จำนวนมาก ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่ระบบคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยและโต้แย้ง สุดท้าย พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามามากที่สุด ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคอันดับสองได้จัดรัฐบาล ส่วนการลงมติรับรองนายกรัฐมนตรี มี 250 ส.ว.เข้ามามีส่วนด้วย ประเด็นนี้สำคัญอย่างมาก คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นจริง ทำให้การเมืองไทยมีปัญหามาตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image