รายงานหน้า2 : ประเมินผลกระทบศก. คุมเข้มโควิดรอบ 3

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและตัวแทนภาคเอกชน กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 3

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จากการออกประกาศคุมเข้มสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่มีการยกระดับความเข้มข้นขึ้น อาทิ ห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน งดการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด และงดจัดกิจกรรม งานสังสรรค์หรือรวมกลุ่มกันที่มีคนมากกว่า 20 คน เป็นต้น พบว่า หลังจากประกาศออกมาบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านอาหารแล้วกว่า 70% การควบคุมในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับช่วงการคลี่คลายกิจกรรมที่เกิดการแพร่ระบาดระยะที่ 1 ช่วงปี 2563 คือ ห้างสรรพสินค้ายังสามารถเปิดได้ แต่ต้องเลื่อนเวลาปิดเป็น 21.00 น. ร้านอาหารยังสามารถซื้อขายได้ แต่ไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ แต่ก็มีบางเรื่องการคุมเข้มครั้งนี้ยังมีความยืดหยุ่นกว่าครั้งก่อน
อย่างบางกิจการยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่จากความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง รายวันเกินพันคน ส่งผลจิตวิทยาการใช้จ่ายของภาคประชาชนใช้จ่ายน้อย เคยมองว่าจะลดลงวันละ 10-20% เป็นหายไปประมาณวันละ 20-30% คิดเป็นมูลค่าต่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจวันละ 4-6 พันล้านบาท หากรัฐใช้เวลา 1 เดือนผ่านมาตรการควบคุมสถานการณ์อย่างที่ประกาศใช้ จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 1.2-1.8 แสนล้านบาทต่อเดือน และตัวเลขความเสียหายจากนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐควบคุมสถานการณ์ได้เร็วแค่ไหน หากรัฐบาลคุมสถานการณ์แพร่ระบาดลดลงได้แล้ว พร้อมกับเร่งอัดฉีดงบประมาณ รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเร่งฟื้นภาคท่องเที่ยวจะช่วยดันเศรษฐกิจปีนี้อยู่ในกรอบขยายตัวได้ 2.5-3.0%
ส่วนกรณีกระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปี 2564 เหลือ 2.3% จากเดิม 2.8% จะดูว่ากระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดจากปัจจัยอะไรบ้าง หากปรับลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯยังคงประมาณการจีดีพีไว้เท่าเดิม อยู่ที่ 2.8% จากกรอบขยายตัว 2.5-3.0% เบื้องต้นประเมินจากกระทบจากการระบาดโควิดระลอก 3 และคาดว่ารัฐจะเร่งลดการแพร่ระบาดให้คลี่คลายภายใน 2 เดือนไม่เกินเดือนพฤษภาคม ก็จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เทียบกับรัฐบาลเตรียมอัดงบประมาณกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 3.8 แสนล้านบาท วงเงินต่อระบบเศรษฐกิจจะทดแทนกัน เป็นเหตุผลที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯคงคาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 2.8%
แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน และรัฐบาลขยายหรือเพิ่มมาตรการคุมเข้มขึ้นในช่วงนั้น อาจส่งผลให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 2-3 แสนล้านบาท เป็น 3-4 แสนล้านบาทได้ในรอบ 2 เดือนจากการแพร่ระบาด หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2564 โตเหลือเพียง 0.4-1.6% เท่านั้น และยังมีสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ในช่วงไตรมาส 2 เรื่อยไป ต้องดูว่ารัฐบาลจะอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เท่าไหร่ และต่อเนื่องทันเหตุการณ์
จากที่ได้สำรวจธุรกิจและภาคประชาชนถึงข้อเสนอในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 3 คือรัฐบาลต้องรีบอัดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ไปพร้อมกับลดการแพร่ระบาดไวรัส ออกมาตรการทันก่อนสถานการณ์เริ่มคลายตัว อย่างมาตรการคนละครึ่ง ควรเริ่มช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาส 2/2564 พยุงการใช้จ่ายและจีดีพีไม่ติดลบหนัก เพราะจากการประเมินในขณะนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 จะลดลงเหลือขยายตัวแค่ 4-6% จากเดิมน่าจะโตถึง 9% เพราะไตรมาส 2
ปีก่อนติดลบหนัก ดังนั้น จึงต้องรีบอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรืออย่างช้าต้นเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นแรงสนับสนุนในช่วงไตรมาส 3/2564 และไตรมาส 4/2564 ต่อไป ทุกมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมนั้นอาจเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และ ม33 เรารักกัน เป็นต้น หรือมาตรการใหม่ก็ได้แต่ต้องออกมาตรการเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ
ภาคที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่มองว่าการส่งออกในเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัว 8% หรือกระทรวงการคลังมองไว้ 11% แต่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจมองว่าการส่งออกมีโอกาสเติบโต 4-5% เพราะยังมีปัญหาด้านขาดตู้คอนเทนเนอร์ เรือขนส่ง และราคาสินค้าไทยยังสูง รัฐควรดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อนอยู่ในระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่เข้ามาแทนการบริโภคและการท่องเที่ยวที่หายไปบางส่วน และมาฟื้นการท่องเที่ยวให้เข้าไทยได้อีก 3-5 ล้านคนในช่วงปลายปีนี้

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

Advertisement

ขณะนี้รัฐบาลได้ปรับมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้นแม้ยังไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ แต่ตอนนี้ก็ถือว่าใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์แล้ว การไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน รวมถึงงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ และงดการรวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมสังสรรค์ที่ต้องรวมตัวกันมากเกิน 20 คน มาตรการเหล่านี้เหมือนการระบาดโควิดรอบแรกในปี 2563 แต่ต้องยอมรับว่าการล็อกดาวน์ใดๆ ไม่ว่าให้ปิดมากหรือปิดน้อยก็มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจแน่นอน เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ เกิดความไม่สะดวกในการรับบริการ การใช้จ่ายต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ประกาศข้อกำหนดเหล่านี้มีผลบังคับใช้ 14 วัน หากรัฐบาลไม่ขยายเวลาออกไปอีก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังไม่มากนัก
ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้มาตรการควบคุมเพิ่มเติมออกมา เป็นเพราะประเมินแล้วพบว่า การระบาดโควิดระลอก 3 นี้มีความรุนแรงสูงกว่าระลอก 2 พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่อง แม้จะปรับลดลงได้บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในหลัก 2 พันคนต่อวัน ประกอบกับอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ในอัตราเร่ง พบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดตอนนี้ มีอาการรุนแรงในระดับกว่า 200 คน โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตลงของนักแสดงตลกชื่อดัง ส่งผลให้คนกลัวมากเข้าไปอีกเป็นผลกระทบเชิงลบต่อจิตวิทยาของประชาชนโดยรวม กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น เพราะคนพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด
การประกาศใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์แบบนี้ส่งผลโดยตรงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหาร ไม่สามารถให้บริการลูกค้าแบบนั่งในร้านได้ แม้จะเปิดให้ขายแบบซื้อกลับบ้านได้ แต่ลูกค้าคงไม่ได้มีมากเท่าเดิม เนื่องจากร้านอาหารแต่ละร้านให้บริการแตกต่างกันตามแต่พฤติกรรมของลูกค้า ที่บางรายเน้นซื้อกลับบ้าน บางรายเน้นนั่งรับประทานที่ร้าน หรืออาจได้ทั้ง 2 รูปแบบ โดยร้านค้าที่ถูกกระทบแรงๆ เป็นร้านค้ารายย่อย เพราะแม้ลูกค้ามีจำนวนไม่มากเท่าเดิมก็ไม่สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ได้ ต้องเรียนรู้ระบบใหม่ และมีค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มนั้นๆ ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการบางรายไม่ได้เตรียมตัวรับมือไว้ หรือบางรายปรับตัวไม่ทัน ก็ต้องปิดกิจการชั่วคราวอีกครั้ง
มีการประเมินเบื้องต้นคือ หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ภายใน 1 เดือน จะสร้างความเสียหายต่อภาพรวมเศรษฐกิจประมาณ 0.5% ของจีดีพี ขณะนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้หาย 0.5% หากเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตในอัตราเร่งอีก ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสาธารณสุขไทย เพราะศักยภาพในการรับมือไม่น่าจะไหวแล้ว ทั้งจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วย อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงยังไม่มีวัคซีนต้านไวรัสเข้ามา จึงมองว่าเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะทำให้จีดีพีสูญเสียไปอีก 0.5% ทำให้ 2 เดือนนี้จีดีพีจะหายไป 1% และหากใช้เวลาคุมถึงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งรวมเป็น 3 เดือน ประเมินว่าอาจทำให้จีดีพีติดลบประมาณ 1.5% ได้ ซึ่งหากประเมินผลกระทบในภาพรวมพบว่าการระบาดระลอก 3 นี้ทำให้จีดีพีไทยทั้งปี 2564 โตได้เพียง 1.5-2% เท่านั้น จากเดิมที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าจะโตถึง 4% ได้
ด้านภาคอุตสาหกรรมในด้านการผลิต ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ในลักษณะนี้ไว้แล้วตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคการผลิตส่วนใหญ่ดำเนินการได้ตามปกติ แต่อาจมีบางรายที่ได้รับผลกระทบ
บ้าง โดยในส่วนของผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกขณะนี้ถือว่าธุรกิจดำเนินการได้ดีมาก เพราะการระบาดรอบแรก ทั่วโลกประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ การส่งออกจึงชะลอตัวลง แต่ตอนนี้หลายประเทศกลับมาเปิดธุรกิจตามปกติแล้ว จึงสามารถส่งออกสินค้าได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด อาทิ ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้หากเทียบกับภาคบริการหรือการท่องเที่ยวแล้ว พบว่า ภาคผลิตยังถูกกระทบค่อนข้างน้อย
ทิศทางครึ่งหลังของปี 2564 ประเมินว่าในไตรมาส 3/2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากนัก เนื่องจากไตรมาส 3 จะเป็นช่วงการเร่งนำเข้าวัคซีนต้านไวรัส จึงเป็นช่วงระดมกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งส่วนนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้คือ 100 ล้านโดสได้หรือไม่ ส่วนในไตรมาส 4/2564 ผลกระทบจากโควิดยังมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่มากนัก แต่บรรยากาศในภาพรวมจะดีขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวในด้านจิตวิทยาของประชาชน เพราะผู้ได้รับวัคซีนมีเพิ่มขึ้น ความมั่นใจเริ่มกลับมา แต่กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้จริงๆ มองว่าคงต้องรอไปเป็นปี 2565 แทน

ฐนิวรรณ กุลมงคล
นายกสมาคมภัตตาคารไทย

หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีคำสั่งให้ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และเชียงใหม่ งดนั่งรับประทานอาหารในร้านและซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น ลดเวลาการขายได้ถึง 21.00 น. เป็นเวลา 14 วัน เบื้องต้นมองผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร คาดว่าจะทำให้ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัดดังกล่าวสูญเสียยอดขายกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปจากระบบกว่า 14,000 ล้านบาท ตามจำนวน 14 วันที่รัฐบาลประกาศไว้ จากเดิมที่ประเมินว่าผลกระทบ
จากการระบาดระลอก 3 จะทำให้ยอดขายของร้านอาหารหายไปกว่า 70% แต่เมื่อไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานที่ร้านได้ยิ่งทำให้ยอดขายหายไปมากขึ้นอีก
สิ่งสำคัญในตอนนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องการขอให้รัฐบาลผ่อนผันการใช้มาตรการออกไปก่อน 7 วัน หลายร้านมีการสต๊อกวัตถุดิบไว้เพื่อเตรียมจำหน่ายในแต่ละวัน หรือขอให้พิจารณาเปิดให้นั่งทานในร้านที่ได้รับตรามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (เอสเอชเอ) ที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
เห็นแล้วว่า ต้นตอการระบาดไม่ได้เกิดขึ้นที่ร้านอาหารแต่อย่างใด รัฐบาลออกมาตรการก็เพราะต้องการเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จะสามารถลดลงได้ แม้จะพร้อมและยินดีปฏิบัติตามแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวมสูงมาก
ขณะนี้ผ่านเดือนเมษายนไปแล้ว รัฐบาลใช้เวลาคุมโควิดระลอก 3 นี้ 1 เดือนแล้ว คาดว่าต้องควบคุมการระบาดอีกอย่างน้อยเดือนพฤษภาคมทั้งเดือน รัฐบาลจะต้องวางแผนออกมาอย่างชัดเจน เมื่อมีการกำหนดระยะเวลา รัฐบาลก็ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีกฎระเบียบอะไรออกมาอีกบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนรับมือท่ามกลางภาวะวิกฤต การไม่ให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน หากแจ้งล่วงหน้าก่อน จะช่วยให้ผู้ประกอบการเร่งขายของเพื่อระบายสต๊อกให้ได้มากที่สุด
แม้ล็อกดาวน์จะยังไม่ใช้เต็มรูปแบบเหมือนรอบแรก ปี 2563 แต่ไม่ได้แตกต่างมากนัก เพราะรัฐสั่งปิดธุรกิจบริการจำนวนมาก บรรยากาศภาพรวมก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดการใช้จ่ายมากนัก บวกกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดรอบแรกยังอยู่ กำลังซื้อ ความเชื่อมั่น ทุกอย่างยังไม่สามารถฟื้นได้ และกลับมาทรุดอีกครั้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการระดับกลางลงมา จึงมองว่า เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการออกมาแบบนี้ก็ต้องเตรียมเม็ดเงินเยียวยาและช่วยเหลือธุรกิจด้วย ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการช่วยเหลือของรัฐยังไม่ทั่วถึงเป็นการเหวี่ยงแหไปทั่ว หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่เยียวยาผ่านการสนับสนุนเม็ดเงิน หรือการแจกเงินให้กับพลเมืองเหมือนกัน แต่ต่างจากประเทศไทยตรงที่ทุกคนได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน
สมาคมฯได้หารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอยู่ระหว่างการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงถึงผลกระทบที่ได้รับ รวมทั้งมาตรการที่จะทำให้รัฐบาลมั่นใจว่า ร้านอาหารหรือภัตตาคารที่ปฏิบัติตามมาตรฐานของสาธารณสุขจะไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อ สะท้อนได้จากการเกิดคลัสเตอร์ใหม่อยู่ในสถานบันเทิงเป็นหลัก และผลจากการประชุม ศบค.มีสถิติที่กระทรวงสาธารณสุขสำรวจจากผู้ที่ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก พบว่ามีผู้ติดโควิดจากการรับประทานอาหารในร้านอาหารแบบรวมเป็นกลุ่มใหญ่ สมาคมฯจะชี้แจงหลักปฏิบัติของร้านอาหารที่ได้รับตรามาตรฐานเอสเอชเอว่ามีมาตรการดูแลสุขอนามัยอย่างดี และเมื่อครบ 14 วันแล้วจะจัดโต๊ะนั่งแบบเว้นระยะห่าง มีฉากกั้น รวมทั้งให้ร้านอาหารยกระดับเพื่อให้ได้รับตรามาตรฐานเอสเอชเอเพิ่ม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งลูกค้าและพนักงานเอง
ส่วนข้อเสนอต้องการให้รัฐบาลช่วยเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติม ให้ช่วยสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การผ่อนผันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างน้อยในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปี การลดค่าใช้จ่ายทั้งภาษีและค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการจ่ายชดเชยค่าแรงของพนักงานในสัดส่วน 50% หรือผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคม 3 เดือน เรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การนำเข้าและกระจายฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชน ต้องครอบคลุมทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ หากยังไม่มีการฉีดวัคซีนจะเกิดความเสี่ยงในการระบาดไวรัสและสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายเซ็กเมนต์ ส่งผล กระทบโดยตรงกับภาพรวมเศรษฐกิจด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image