รายงาน : คำถาม ผู้ใหญ่ #ย้ายประเทศกันเถอะ ยัง ‘ตลก’ หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นกรณี “พระเครื่องอาลัว” ไม่ว่าจะเป็นกรณี #ย้ายประเทศกันเถอะ สะท้อนให้เห็น “หน่ออ่อน” ของการปะทะ

เป็นการปะทะในทาง “ความคิด”

เป็นความคิดไม่เพียงแต่เนื่องมาจากผลสะเทือนแห่งการปรากฏขึ้นของ “ธรรมกาย” หากแต่สัมพันธ์กับการท้าทายในแบบของ “เพนกวิน”

นั่นก็คือ มีทั้งเรื่องของ “วัฒนธรรม” และ “การเมือง”

Advertisement

ยิ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์ #ย้ายประเทศกันเถิด ที่เริ่มขึ้นจากความปรารถนาจะดิ้นรนในทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการ “รุ่นใหม่” จำนวนเล็กๆ

แต่เพียง 2 วันก็มีคนเข้าร่วมทะลุหลัก “5 แสน”

นั่นก็คือ มีทั้งเรื่องของ “เศรษฐกิจ” ที่ต้องการการคลี่คลาย ขยายตัว ประสานเข้ากับความอึดอัดคับข้องใจในทาง “การเมือง”

เหล่านี้จึงมิได้เป็นเรื่อง “ตลก” ในแบบ “ล้อกันเล่น”

ยอมรับเถิดว่า กรณี “พระเครื่องอาลัว” เป็นการทะลวงเข้าไปอย่างลึกซึ้งไปยังสภาพอันเสื่อมโทรมและเน่าเฟะในแวดวงของ “ศาสนา”

ไม่ว่าเรื่องของ “จตุคาม” ไม่ว่าเรื่องของ “อภินิหาร”

ในเมื่อการปรากฏขึ้นของ “พุทธพาณิชย์” มากมายไม่เคยได้รับความสนใจของ “พศ.” ปล่อยปละละเลยให้ทำมาหากินกันอย่างโจ่งแจ้ง

แล้วเหตุใดเพียงมี “พระเครื่องอาลัว” เกิดขึ้นก็ต้องบุกไปถึงร้าน

พลันที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ้างเหตุผลว่าเป็นการลบหลู่ไม่ควรทำคำถามก็ตามมาอย่างอัตโนมัติ

ไม่ว่าภาพจาก “อยุธยา” ไม่ว่าภาพจาก “สุรินทร์”

เรามองเห็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ มากด้วยวัยวุฒิ ยืนประจันหน้ากับเจ้าของร้านซึ่งเป็น “คนรุ่นใหม่” ต้องการเสนอ “นวัตกรรม” ใหม่ทางการค้าออกมา

นี่คือเรื่องของ “รุ่น” นี่คือเรื่องของ “วัย”

พลันที่ #ย้ายประเทศกันเถอะ กลายเป็น “ไวรัล” อย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน จาก “เฟซบุ๊ก” ไปยัง
“คลับเฮาส์” พร้อมกับฐานรองรับกว่า 5 แสน

เหมือนกับเป็นเรื่องของ “สัมมา อาชีวะ” ปกติ

เพียงแต่สัมมา อาชีวะครั้งนี้มิได้เป็นเรื่องในประเทศ ตรงกันข้าม พวกเขาเสนอ “ความฝัน” ที่ออกจากประเทศไปทำมาหากินใน “ต่างแดน”

อาจมิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่

แต่เมื่อสอบเข้าไปในรายละเอียดปรากฏว่า ในจำนวน 5 แสนกว่านั้นเป็นคนในวัย 30 ลงมา และมิได้จำกัดเพียง “บัณฑิต” ซึ่งเพิ่งจบ

หากมีแม้กระทั่ง “นักเรียน” ระดับ “มัธยม”

บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่อง “ตลก” เป็นไปไม่ได้ บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องประชดประเทียดและ “เสียดสี” แต่หากมองเป็นประเด็นทาง “การเมือง”

นี่ย่อมสะท้อนภาวะอึดอัดและคับข้องใจ

ในทางสังคมวิทยา การเกิด “ช่องว่าง” ระหว่าง “วัย” มิได้เป็นเรื่องใหม่แต่พลันที่เกิดปรากฏการณ์ “โบขาว” ในทางความคิด ในทางการเมืองขึ้น

เกิดกรณี “นักเรียนเลว” เกิดกรณี “เยาวชนปลดแอก”

ทั้งยังมิได้วูบมาแล้วหายไปราวกับเป็น “ผีพุ่งใต้” หากแต่มีการปะทะกันข้ามปีจากเดือนกรกฎาคม 2563 กระทั่งมายังเดือนพฤษภาคม 2564

“ผู้ใหญ่” ทั้งหลายไม่รู้สึกแปลกและ “แปร่ง” เลยหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image