‘วิษณุ’ ถึง ‘โทนี’ อีกมุมจากเนติบริกร ครอบครัวชินวัตร กับ เส้นทางสู่รองนายกฯ

‘วิษณุ’ ถึง ‘โทนี’ อีกมุมจากเนติบริกร ครอบครัวชินวัตร กับเส้นทางสู่รองนายกฯ

ใน Clubhouse x CARE Talk : คิดเคลื่อนไทย พลิกฟื้นวิกฤตโควิด กับ Tony Woodsome ตอนล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถามว่าคิดอย่างไรกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกฯสมัยที่เขายังครองอำนาจ ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549

ทักษิณ ตอบโดยใช้คำว่า เสียดายถึง 2 ครั้ง

เสียดายแรก อุตส่าห์ไปเรียนถึงเบิร์กลีย์ การใช้กฎหมายของท่าน น่ารังเกียจมาก

เสียดายที่สอง เพราะเป็นคนชวนเขาจากเลขาฯ ครม. มาเป็นรองนายกฯ

Advertisement

“ผมพลาดมาก ผมผิดไปแล้ว ผมต้องขอโทษด้วย” 

ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่นายทักษิณ พูดถึงมือกฎหมายคนนี้ ผ่านพื้นที่สาธารณะ

กลับกัน นายวิษณุ ได้บันทึกเรื่องราวของช่วงเวลาสำคัญของชีวิตนี้ ระหว่างการก้าวจาก “ข้าราชการประจำ” ไปสู่ตำแหน่งทางการเมือง เป็น “นักการเมือง” อย่างที่ถูกพาดพิงในคลับเฮาส์ตอนล่าสุด

Advertisement

เป็นบันทึกส่วนตัว จากการทำงานใกล้ชิดอดีตนายกฯ 7 คน เดินขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะ “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ เรื่อยมาถึง นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ นายทักษิณ ชินวัตร ผ่านหนังสือชื่อ โลกนี้คือละคร ในซีรีส์เรื่องเล่าจากเนติบริกร ชุดที่ 1 ของตัวเขาเอง ที่สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์จนครบ

เขายอมรับว่า จุดเปลี่ยนชีวิต มาถึงในช่วงกลางปี 2545 เมื่อ นายทักษิณ เป็นนายกฯ มาได้ปีเศษ

วิษณุ เล่าว่า “วันหนึ่งนายกฯทักษิณอารมณ์ดีถามขึ้นว่า คุณอยู่มาครบ 4 ปีจนต่ออายุฯแล้วหนึ่งหน หนนี้ถ้าผมไม่ต่อให้ คุณจะไปทำอะไร ผมเรียนไปว่า กำลังอยากกลับไปอยู่จุฬาฯ แต่ว่าไม่ได้ ปีหน้าลูกผมเรียนจบกฎหมายที่จุฬาฯ คงไปเรียนต่อที่เมืองนอก

ผมอาจขอลาออกไปสอนหนังสืออยู่เมืองนอก และอยู่กับลูกก็ได้ โดยเฉพาะถ้าได้สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับที่ลูกเรียน

นายกฯทักษิณ เปรยว่า มีคนบอกว่าน่าจะให้คุณไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ผมไม่ได้ตอบอะไร เพราะอันที่จริงตอนนั้นผมก็รักษาการในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งอยู่แล้ว” 

จากนั้น วันหนึ่งในราวเดือนสิงหาคม 2545 ผู้ใหญ่ที่ผมคุ้นเคย และเคารพนับถือคนหนึ่ง คือ คุณชัชวาล อภิบาลศรี และเพื่อนเรียน วปอ.รุ่น 39 รุ่นเดียวกับเขา อีกคนชื่อ คุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ชวน “วิษณุ” ไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหาร ส.บ.ล.วังบูรพา

“การสนทนาแกล้มอาหารมื้อนั้น ในระยะแรกๆ ก็ยังเป็นเรื่องสัพเพเหระ หนักเข้าก็เป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผมได้ปรารภจุดแข็ง-จุดอ่อนของนายกฯทักษิณ ให้คุณบรรณพจน์ฟัง ตามประสาคนรู้จักกัน และวิตกว่า คุณทักษิณหลังคดีซุกหุ้นไม่เหมือนกับเมื่อก่อน เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เหมือนคนไม่มีอะไรมายื้อยุดฉุดยั้งอีกแล้ว จึงอาจระมัดระวังน้อยลง ฟังคนน้อยลงเหมือนอั้นมานาน และให้ความสำคัญแก่เป้าหมายปลายทางมากกว่าวิธีการจนอาจพลาดได้ง่าย

“เช่น มักคิดว่าถ้าเจตนาดีจะช่วยคนจน จะปราบยาเสพติด จะทำให้ประเทศเจริญแล้ว วิธีการอะไรก็ช่างมัน ไหนจะมีเงิน ไหนจะมีสติปัญญา ไหนจะมีพวกพ้องเสียงเชียร์มาก ไหนจะมีเสียงในสภาท่วมท้น ไหนจะหมดชนักปักหลัง

“คนอย่างนี้ผมเห็นมามากแล้ว ว่าจะคึกคะนอง ดุจอินทรชิตที่ได้ฤทธิ์จากพระเป็นเจ้า จนบิดเบือนกายินทร์ เหมือนองค์อมรินทร์ทรงคชเอราวัณได้

“ข้อสำคัญคือ เกรงว่ารูปโฉมประเทศไทยจากนี้ไป จะเป็นรัฐตำรวจ มากกว่านิติรัฐ” 

อีกสาเหตุหนึ่งคือ นายวิษณุ แนะนำว่า รัฐบาลขาดมือกฎหมาย

“และข้อสำคัญคือรัฐบาลขาดมือกฎหมาย ผมไม่ได้แนะให้ตั้งใครมาเป็นมือกฎหมาย แต่แนะไปว่ารัฐบาลควรพึ่งพาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มาก ขยันหารือเข้าไว้ขณะนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ พ.ศ.2540 เพิ่งมีผลใช้บังคับเต็มอัตรากับรัฐบาลชุดนี้เป็นชุดแรก จึงควรระวังอิทธิฤทธิ์ ซึ่งผมเชื่อว่าจะพลาดเข้าสักวัน

“หากไม่อยากหารือกฤษฎีกาเพราะกลัวช้า ก็อาจทำอย่างที่รัฐบาลอาจารย์สัญญา พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชาติชายเคยทำ คือตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลเอาไว้ประจำทำเนียบ จะได้เรียกใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา เราได้คุยกันแม้กระทั่งว่า ใครน่าจะเป็นที่ปรึกษาบ้าง ผมให้ชื่อไปราวสิบคน ก็คนดังๆ ในเวลานี้แหละครับ แต่มาวันนี้ คนเหล่านั้นกลายเป็นอยู่คนละข้างกับคุณทักษิณทั้งนั้น” 

“คุณบรรณพจน์กินไป ฟังไป จดไป ไม่พูดไม่จา ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของท่านอยู่แล้ว พอลับหลังคุณบรรณพจน์ ผมยังแอบนินทากับคุณชัชวาลว่า ที่คุณบรรณพจน์จดไป คงหายหกตกหล่นกลางทางหมด เหลือไปถึงนายกฯ ทักษิณ สักหนึ่งในสิบส่วนกระมัง ! 

“สามวันต่อมา คุณหญิงพจมาน เชิญผมไปพบที่บ้าน กระดาษที่คุณบรรณพจน์จดไปวางอยู่ข้างหน้า คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟังอีกหนว่า ใครเป็นอย่างไร นายกฯเป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาสิบคนที่ผมเสนอแนะนั้นผมรู้จักไหม ไว้ใจได้ไหม คุณหญิงถามอย่างคนไม่รู้ โดยไม่เสริมหรือออกความเห็นเสียเองแม้แต่ประโยคเดียว” 

ทั้งนี้ ในหนังสือ โลกนี้คือละคร ช่วงที่พูดถึง นายทักษิณ นั้น “คุณหญิงพจมาน” หลังบ้านจันทร์ส่องหล้า ถือเป็นคนที่ “เนติบริกร” คนนี้ประทับใจ

นายวิษณุ ยอมรับว่า ก่อนหน้าที่ นายทักษิณ จะเป็นนายกฯ เขาเล่าเรื่องที่ “ไม่ค่อยประทับใจ” ที่พบเจอกับลูกน้องคนสนิท ทั้งคนใกล้ชิด หรือแม้แต่ “ความปากไว” ของนายทักษิณ

แม้นายวิษณุจะยังได้เจอนายทักษิณอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมือง จนกระทั่งวันที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไป จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายทักษิณจึงให้ไปพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อซักซ้อมกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล และการที่รัฐบาลจะเข้าทำงาน

“หลังจากนั้นก็เคยเชิญผมและครอบครัวไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านร่วมกับแขกคนอื่นๆ อีกหลายครั้ง

“คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือคุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็นโรคไตต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่าจะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้ เอาใจใส่ดูแลแม้แต่อาหารการกิน การเดินการเหิน จนภริยาผมบอกว่า ทีหลังอย่ามาชวนไปอีก เพราะเกรงใจคุณหญิงเหลือกำลัง” 

นี่คืออีกมุมที่ นายวิษณุ บันทึกไว้ถึง นายทักษิณ ! 

อ่าน – โทนี พูดถึง ‘วิษณุ’ บอก ใช้กฎหมาย น่ารังเกียจ รับพลาดมาก ชวนมาเป็นรองนายกฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image