รายงานหน้า2 : ถึงเวลา‘ฝ่ายค้าน’ ซักฟอกรบ.แก้‘โควิด’เหลว

หมายเหตุความเห็นนักการเมือง-นักวิชาการ กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมหารือร่วมกัน เพื่อยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ฝ่ายค้านมองว่าบริหารงานล้มเหลว

วิรัช รัตนเศรษฐ
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล

การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมการยื่นญัตติอภิปรายปมการแก้ปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลตามมาตรา 152 นั้น ต้องรอทางพรรคฝ่ายค้านยื่นก่อน เพราะไม่ทราบว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นแบบลงมติไม่ไว้วางใจ หรือญัตติที่ไม่ไว้วางใจโดยที่ไม่ต้องลงมติ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลบริหารสถานการณ์โควิดได้ดีและสามารถตอบคำถามได้ทุกคำถามได้อยู่แล้ว ในวันนี้เราสามารถบริหารวิกฤตส่วนนี้ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ หากเทียบกับแถวยุโรปเราก็สามารถบริหารได้ดีกว่า หรือแม้แต่ในเอเชียเราก็สามารถบริหารได้ดีกว่า ฉะนั้นมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่อง
ส่วนทางพรรคจะมีการเตรียมตั้งรับ หรือตั้งองครักษ์ขึ้นมาหรือไม่นั้น ก็ต้องให้ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นมาก่อน เรายังไม่รู้โจทย์เลยว่าเขาจะถามเรื่องอะไร เราจะไปเตรียมการไว้ก่อนไม่ได้ ถือว่าวันนี้ฝ่ายรัฐบาลเราพร้อม โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลพร้อมและมั่นใจว่ารัฐบาลก็พร้อมที่จะตอบไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายแบบลงมติหรือไม่ลงมติก็ตาม แต่ตอนนี้ให้รัฐบาลบริหารสถานการณ์โควิดก่อน อย่าเพิ่งมาท้วงมาติงอะไร เพราะวันนี้เราทำดีที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งหากจะติในเรื่องที่สร้างสรรค์เราก็พร้อมน้อมรับ และหากติเพื่อทำลายเราก็คงไม่ฟัง
แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่วันนี้เป็นวิกฤตของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือในการแก้ปัญหาเช่นนี้เขาไม่เอาการเมืองมาเล่นกันหรอก หากจะเอาจังหวะนี้มาทำลายก็แล้วแต่ แต่รัฐบาลก็พร้อมตอบคำถามได้ตลอด

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Advertisement

กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ เป็นโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะได้ซักถามและให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะได้ใช้เวทีของรัฐสภาชี้แจงการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับทราบ
เป้าหมายในการอภิปรายครั้งนี้คงจะหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นการแก้ปัญหาการระบาดของสถานการณ์โควิด เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทั้งฝ่ายค้านและภาคประชาชน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายภาคส่วนยังมองว่ารัฐบาลยังดำเนินการไม่เต็มที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอำนาจส่วนใหญ่และงบประมาณที่ใช้ในการบริหารงานอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ การบริหารงานของรัฐบาลยังขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ อาทิ การกำหนดมาตรการรับมือที่เร่งด่วน รวดเร็ว และชัดเจน การสร้างความเชื่อมั่นและการบริหารจัดการวัคซีนให้คลอบคลุมโดยเร็ว รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับกระทรวงการสาธารณสุขในการพัฒนาระบบสาธารณสุข การให้ความสำคัญกับความมั่นคงมนุษย์ และการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์และพยาบาล จะเป็นส่วนหน้าในการรับมือกับภัยความมั่นคงใหม่ นับเป็นภัยคุกคามที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงในโลกปัจจุบัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากกว่าการที่จะทุ่มสรรพกำลังเพื่อรับมือภัยความมั่นคงทางการทหารแบบดั้งเดิมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลที่นับวันจะลดบทบาทลงและไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้
เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรัฐบาล หรือนำไปสู่การยุบสภาแต่อย่างใด เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ความต่อเนื่องของการดำเนินงานยังมีความสำคัญ หากต้องเปลี่ยนมือ หรือเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ยิ่งจะทำให้สถานการณ์วิกฤตลง หลักใหญ่ใจความของการอภิปรายตามมาตรา 152 คือการเปิดเวทีกลางปีให้เกิดการตรวจสอบการบริหารราชการของประเทศในสถานการณ์เร่งด่วน ดังนั้น สิ่งที่จะตามมาคือการเฝ้ามองว่า ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการอภิปรายดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศมากน้อยเพียงใด และคำตอบคงจะอยู่ที่รัฐบาลจะรับฟังแล้วนำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

การอภิปรายทั่วไปเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาจุดอ่อนข้อบกพร่องในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยรัฐบาลควรนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงการทำงาน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาในการจัดการพอสมควร การอภิปรายหากไม่เป็นการเมืองมากเกินไปก็น่าจะเป็นประโยชน์ หมายความว่าฝ่ายค้านจะต้องหยิบข้อมูลจากการบริหารที่เป็นปัญหา เพื่อนำมาพูดให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องพูดเพื่อมุ่งเอาชนะ สร้างความรู้สึกเกลียดชัง และควรลดการใช้สำนวนโวหารให้น้อยลง
รัฐบาลควรเปิดใจกว้างอย่ามองว่าฝ่ายค้านจะเอาชนะ หรือดิสเครดิตทางการเมือง แต่ขอให้อดทนฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าคิดว่าที่ผ่านมาทำถูกทุกเรื่องไม่มีอะไรผิดพลาด แต่ขอให้ตั้งใจฟัง เพื่อนำไปปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดีขึ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความมั่นใจว่าในสถานการณ์วิกฤตในขณะนี้จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากนโยบายของรัฐบาล เชื่อว่าหลังการอภิปรายครั้งนี้ทุกฝ่ายจะสะท้อนปัญหาในปัจจุบัน เพื่อมุ่งหาทางออกจากภาวะวิกฤตของคนในชาติ
ชุดข้อมูลฝ่ายค้านจะหยิบยกมาอภิปรายมีมากมายหลายประเด็น มีรายละเอียดในเชิงลึกที่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลในการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เชื่อว่าหากพรรคฝ่ายค้านทำการบ้านดีๆ จะมีข้อมูลที่น่าสนใจ ที่ลึกมากกว่าสิ่งที่ปรากฏในเนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอ หรือข้อมูลในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
แต่ถึงที่สุด หลังการอภิปรายครั้งนี้คงเป็นไปไม่ได้และเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทยมีความละลายใจ และถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าประชาชนจะเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลล้มเหลว หรือไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร แต่ไม่แน่ใจว่าหากฝ่ายค้านมีข้อมูลลึกที่มีการทุจริตเกิดขึ้นจะมีการทบทวนและตัดสินใจเป็นอย่างอื่นหรือไม่
สำหรับบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนบางยี่ห้อ ฝ่ายค้านบางพรรคอาจจะหยิบยกมาอภิปรายอีก หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาละเอียดอ่อน กระทบกับความรู้สึกของประชาชน ทำให้มีการประท้วงคล้ายกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ส่วนตัวเห็นว่าควรจะไม่มีเรื่องนี้ แต่ฝ่ายค้านก็ควรชั่งน้ำหนักว่าควรนำเสนอหรือไม่ ส่วนรัฐบาลก็ไม่ควรมุ่งปกป้องโดยไม่สนใจเรื่องอื่น ยกตัวอย่าง เช่น หากบริษัทผลิตวัคซีนบางแห่งไม่สามารถส่งมอบได้ตามเวลาที่กำหนด ก็น่าจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ มองถึงข้อเท็จจริง ไม่มีอคติ โดยเน้นถึงการบริหารจัดการของบริษัทอย่าพยายามไปโยงเรื่องอื่น
ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาโควิดที่มีเสียงวิจารณ์จากประชาชนน่าจะสะท้อนไปถึงรัฐบาลมากพอสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้จองฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นก่อนเดือนสิงหาคม 2564 เปิดให้วอล์กอินได้ หรือให้เอกชนสั่งวัคซีนทางเลือกได้ ก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ทำด้วยความรวดเร็วโดยเฉพาะการลดเวลาเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนบางยี่ห้อ และแต่ละเรื่องที่มีปัญหาก็ต้องปรับปรุงให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
สำหรับข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้าน อาจจะกระทบถึงความเชื่อและการตัดสินใจของประชาชนโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่มีทางเลือกเพียง 2 ยี่ห้อ ดังนั้น รัฐบาลควรจะหาช่องทางสื่อสารกับประชาชนให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลวเนื่องจากมาตรการของรัฐเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทำให้ถูกมองว่าไม่มีแผนงานที่ชัดเจน มีการแก้ไขปัญหาตามเสียงวิจารณ์ของประชาชน รัฐบาลควรมีหลักการและตั้งสติให้ดี ขอให้คิดวางแผน แล้วบริหารจัดการให้เป็นระบบ

Advertisement

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เจตนาของฝ่ายค้านคงจะทำให้ประชาชนเข้าใจแล้วเห็นว่ารัฐบาลมีความผิดพลาดอย่างไร เชื่อว่าขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจเชื่อว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ฝ่ายค้านคงไม่ได้ตั้งใจจะตีรวน หรือจะให้รัฐบาลฟอกขาวจากการอภิปราย หรือให้โอกาสชี้แจงผลงาน แต่ถ้าหากรัฐบาลพลิกสถานการณ์วางเกมให้ดี ใช้เวทีอภิปรายครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์ มีชุดข้อมูลอธิบายชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะการทำงานย่อมจะมีข้อบกพร่อง หรือมีข้อผิดพลาดได้บ้าง
ประเมินว่าฝ่ายค้านใช้โอกาสในช่วงรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง จึงอาจจะถือโอกาสอภิปรายเสนอไอเดียวิธีคิดใหม่ๆ ให้ประชาชนเห็นว่าแตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วล้มเหลว ในข้อเท็จจริงอาจเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น หรือสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำในอนาคต แต่ประชาชนบางส่วนไม่ได้มีความมั่นใจมากนัก ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริงก็ถือว่าเป็นปัญหาของรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข แม้ว่าจะสำเร็จหรือไม่เป็นสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดจากระบาดจากโควิด ถือเป็นวิกฤตของคนในชาติคงไม่ง่ายเหมือนการใช้กฎหมายแก้ปัญหาเรื่องอื่น
รัฐบาลควรทำให้ประชาชนมั่นใจว่าสิ่งที่พูดไว้สามารถทำได้จริง เช่น การกำหนดวันให้วอล์กอินเข้าไปฉีดวัคซีน กำหนดว่าวันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะต้องเปิดภาคเรียน ต้องทำให้ได้จริง อย่าพูดกลับไปกลับมาทำให้สับสน อย่าทำอ้ำอึ้งทำให้ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้มีความชัดเจน บางเรื่องพูดไปแล้ว เมื่อมีปัญหา คนพูดต้องกลับไปอธิบายซ้ำในสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ อย่าตั้งเป้าหมายไว้แต่ทำไม่ได้ หรือทราบว่าเป้าหมายเดิมทำยาก แล้วจะเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ ที่น่าสนใจอย่าพยายามทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ทำงานแก้ปัญหาโควิด ดูเหมือนจะแย่งซีนกันเอง หรือชิงการนำหรือไม่ มีความสามารถในการประเมินเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาโควิดในอนาคตได้จริงหรือไม่
ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจในการใช้กฎหมายไปทั้งหมด ก็น่าสงสัยว่าทำไมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลง ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีใครจะออกมาชี้แจงเหตุผลหลังจากผลงานไม่ตรงตามที่คาดหมายไว้ ทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลนี้มีความสามารถจริงหรือไม่ จะให้ประชาชนคิดด้วยหลักการอะไร จะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลมาถูกทาง
แถมปล่อยให้มีเชื้อโควิดในเรือนจำโผล่มาครั้งแรกตัวเลขหลักพัน ขณะที่ผู้ต้องขังถูกล็อกดาวน์ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง และก่อนหน้านี้ผู้ป่วยใน กทม.เมืองผู้ป่วยหรือญาติต้องประกาศหาเตียงเพื่อนอนรักษาตัว สิ่งเหล่านี้ฝ่ายค้านน่าจะมีข้อมูลมากพอสมควร
ขณะที่การแก้ไขวิกฤตเบื้องต้นขอเพียงรัฐบาลพูดหรือนำเสนออะไรไว้แล้วขอให้ทำได้จริง ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา ทั้งการวอล์กอินเข้าไปฉีดวัคซีน หรือการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงมีเพียงพอกับความต้องการ หรือตามเป้าหมาย ทำให้มีหลายยี่ห้อ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่มีใช้ขณะนี้มีความปลอดภัยจริง ทำให้ง่ายในการเข้าถึงวัคซีน เชื่อว่ายังพอมีเวลาที่รัฐบาลสามารถทำได้ เพราะอย่างน้อยนายกรัฐมนตรีได้รวบอำนาจไปหมดแล้ว สามารถสั่งงานได้เหมือนผู้นำในระบบเผด็จการ
เพราะฉะนั้นการบริหารงานของรัฐบาลควรเป็นไปตามที่ทีมแพทย์แนะนำ ควรทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเชื่อว่าหลังการอภิปรายของฝ่ายค้านนายกรัฐมนตรีคงตอบได้ดีมีเหตุผลทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการรับฟัง เพราะนายกรัฐมนตรีทำงานแก้ปัญหา
โควิดด้วยตัวเองมานาน คงไม่ต้องให้ทีมงานเตรียมข้อมูลให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image