รายงานหน้า2 : ธุรกิจใหญ่-เอสเอ็มอี ฝ่าโควิดระลอก3

หมายเหตุความเห็นภาคธุรกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบ 3 ที่เกิดการแพร่เชื้ออย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

จากการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ระลอกนี้ เหมือนเป็นการดับฝันภาคธุรกิจที่มีความหวังว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ผู้ประกอบการหลายรายลงทุนเงินก้อนสุดท้าย หวังฟื้นกิจการในปีนี้ หลังจากที่มีการลำบากมานานนับปี แต่เมื่อมีการระบาดระลอกนี้ก็ย่ำแย่กันทุกราย การระบาดครั้งนี้มันแรงกว่าลึกกว่าการระบาดรอบที่ผ่านมา ในแง่การระบาดก็ไม่รู้ว่าปลายทางมันจะอยู่ที่ไหน จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แล้วเมื่อไหร่ที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ในขณะนี้ก็มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 3,000 คนต่อวัน มันไม่ได้อยู่แค่เพียงคลัสเตอร์แล้ว มันเริ่มมีการระบาดกระจายไปตามโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทห้างร้านด้วย

หากถามว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เมื่อมันอยู่ภายใต้ภาวะที่คนไม่อยากเดินทางให้มีการใช้จ่าย ไม่มีความมั่นใจหรือไม่มีอารมณ์ที่จะใช้จ่ายเงินนั้น การหาทางออกคือการที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน แต่ขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของระบบการจัดการวัคซีน ล่าสุดมีการเปิดให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรบริษัทไปติดต่อเพื่อรับการฉีดวัคซีนแต่กลับไม่มีการตอบรับชัดเจน จึงไม่แน่ใจว่าตกหล่นหรือไม่ แล้วผู้ประกอบการจะได้รับการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเมื่อไหร่ ยังไม่มีคำตอบ อย่างธุรกิจการขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่ทำอยู่ก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (ซัพพลายเชน) กว่า 700 ราย ทำให้มีการพบปะผู้คนจำนวนมาก ดังนั้น สมควรจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบให้สักที

Advertisement

สำหรับการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ -2.6% โดยรายได้ของธุรกิจค้าปลีกอยู่ที่ -16% ในขณะที่การบริโภคของประชาชนภายในประเทศอยู่ที่ -0.5% หมายความว่าเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มที่แย่ลง ส่วนการคาดการณ์จีดีพีของปี 2564 จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์อยู่ที่ 1.5-2.0% ประกอบกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย อยู่ที่ 0.8-1.6% จึงคิดว่าเศรษฐกิจภาพรวมของไทย จีดีพีปี 2564 น่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 2.0%

กรณีรัฐบาลกำลังจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 7 แสนล้านบาทนั้น ไม่แน่ใจว่าจะนำไปใช้ในส่วนไหน ถ้าหากใช้ในการเสริมสภาพคล่องธุรกิจนั้นคิดว่าก่อนที่จะนำเงินส่วนนี้มาใช้ อยากให้ทำการปรับปรุงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) และพักทรัพย์ พักหนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้นด้วย ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายอยากจะเข้าถึงแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมเวลาที่ผ่านมาหลังจากประกาศใช้มาตรการเดือนกว่าก็ยังมีคนเข้าถึงอยู่ในระดับน้อยอยู่ดี แม้แต่ธุรกิจที่ยังมีผลกำไรก็ยังเข้าถึงไม่ได้ ส่วนธุรกิจธนาคารเองก็มีความกังวลในการปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องการปกป้องตนเอง กลัวปัญหาหนี้เสีย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรก็อยากให้เป็นมาตรการที่ตรงจุดและกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้

สำหรับข้อเสนอสมาคมโรงแรมเสนอให้ตั้งกองทุนช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น เข้าใจว่าการที่ผู้ประกอบการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลังจากที่มีสถานการณ์เช่นนี้กับธนาคารพาณิชย์มันยาก การจะใช้เงินทุนเข้าไปให้กับธุรกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วหรือมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวยากนั้น จึงสนับสนุนให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือภาคธุรกิจได้ในทันที ส่วนเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุนนั้นก็คิดว่าจากเงินในมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) และพักทรัพย์ พักหนี้ที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น จึงคิดว่าสมควรจะนำเงินส่วนนี้มาช่วยได้

Advertisement

หากถามว่าตั้งกองทุนไปแล้ว ฐานะของกองทุนจะติดลบไหม คำตอบคือ แน่นอน เคยเกิดกรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในตอนนั้นก็มีบางธุรกิจไปต่อได้ และบางส่วนที่เน่าไป กลายเป็นต้นทุนของประเทศที่ต้องรับผิดชอบไป เพื่อการฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวม

พรชัย รัตนตรัยภพ
ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เจอปัญหาต่างๆ คือ 1.มีกิจการที่ปิดไปไม่สามารถดำเนินการได้ 2.ธุรกิจที่ยังไม่ถูกปิดก็ยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เพราะว่าห่วงโซ่อุปทานขาดช่วง 3.ความต้องการของผู้บริโภคหดตัวลง ประชาชนซื้อน้อยใช้น้อยตามกำลังทรัพย์ที่มี 4.บางโรงงานมีการติดเชื้อโควิดกัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้

เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อได้ ก็ต้องมีความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 จึงมีข้อเสนอกับทางรัฐบาล คือต้องมีการฉีดวัคซีนกับแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ตามนิคมอุตสาหกรรม ให้ครบ 100% ผู้ประกอบการมีความยินดีอย่างมาก มันเป็นความเสี่ยงของธุรกิจที่ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว หากมีพนักงานแรงงานติดเชื้อขึ้นมา ทำให้แรงงานคนอื่นๆ ก็ต้องกักตัวกัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เหนือสิ่งอื่นใดกว่าทุกเรื่อง ต้องให้มีการฉีดวัคซีนกับพนักงาน แรงงาน ที่สถานประกอบกิจการยังเปิดดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะโรงงานรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะยังมีคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก

ต่อมาปัญหาโลกแตก คือ เงินในระบบที่ไม่สามารถกู้ยืมได้ ยังคงไม่สามารถกู้ได้เหมือนเดิม เหมือนกับการสัมภาษณ์ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ได้เลย แต่ผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงสภาพคล่องอย่างมาก โครงการสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ ตัวใหม่นี้ยังไม่ตอบโจทย์ เป็นการมองภาพที่กว้างเกินไป กิจการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คาดว่าจะเหลือวงเงินกู้อีกจำนวนมากเหมือนเดิม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ไม่สามารถช่วยได้ขนาดนั้น แม้ว่ากิจการจะมีสินทรัพย์มาค้ำประกันก็ตาม เพราะทางสถาบันการเงินดูผลประกอบการของกิจการเป็นหลัก สถาบันการเงินกลัวว่าสินทรัพย์ที่ยึดจากการค้ำประกันได้มานั้นก็ไม่สามารถขายต่อได้

อยากเสนอมาตรการช่วยเหลือซื้อขายลูกหนี้การค้า (แฟคตอริ่ง) ออกมามากกว่า ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีมีการค้าขายกับบริษัทที่มีผลประกอบการดีมีความพร้อมสูง ก็อยากจะให้รัฐบาลช่วยนำเงินมาสนับสนุนตรงนี้น่าจะดีกว่า ให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนมาดำเนินการต่อ ตอนนี้มีเฉพาะห้างสรรพสินค้า ปกติมีการทำแฟคตอริ่งกันอยู่แล้ว

อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายให้กับสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือกับเอสเอ็มอีที่มีลูกค้าปลายทางการเงินที่มั่นคง บิลควรจะขายลดได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากๆ โดยรับทั้งใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อที่สถานประกอบการจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้

เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อตอนนี้ คือ 1.สถานประกอบการต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี 2.ต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3.มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน บางคนมีหลักทรัพย์แล้วแต่ก็ยังไม่ปล่อยกู้อยู่ดี จึงอยากให้ ธปท.ช่วยกับสถานประกอบการที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ออกสินเชื่อแฟคตอริ่งที่มีดอกเบี้ยต่ำ การตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีตอนนี้ ก็ยังไม่มีความรวดเร็ว น่าจะให้สถาบันการเงินช่วยปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง อัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่า คนที่ดำเนินกิจการอยู่ถ้าไม่มีเงินทุนหมุนเวียนก็ไม่สามารถไปต่อได้

การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านตัวโครงการเราชนะ ม33 เรารักกัน ช่วยในเรื่องของกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ดี ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคก็ได้รับผลดีไปด้วย โครงการที่ผ่านระบบเหล่านี้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กได้โดยตรง ตอนนี้รัฐบาลกำลังจ่ายเงินชดเชยแรงงาน ตามระบบประกันสังคม อย่างไรก็ตาม อยากให้เงินกู้รอบใหม่ 7 แสนล้านบาท ได้นำไปใช้ในการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานสำหรับเด็กจบใหม่ มีการเข้าระบบประกันสังคมถูกต้อง คิดว่าการจ้างงานกับเด็กจบใหม่จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีกว่าการให้เงินไปใช้เฉยๆ

ตอนนี้มีความต้องการแรงงานในระบบน้อย ต้องมีการช่วยจ่ายค่าจ้าง รัฐบาลอาจจะกลัวได้ว่ามีการจ้างงานแบบหลอกลวง ก็สามารถใช้วิธี ให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไปแล้ว 3-6 เดือน ค่อยมาเบิกกับทางภาครัฐได้ เด็กจบใหม่หางานทำได้ยากมาก เป็นการให้โอกาสเด็ก อยากให้มีการทำงานเลี้ยงตัวเอง มากกว่าการรับเงินเปล่าๆ มาใช้ เมื่อมีการทำงานในระบบแล้ว ก็ไม่ต้องให้เงินช่วยเหลือแบบ เราชนะ เรารักกัน เพราะตอนนี้รัฐบาลมีการจ่ายเงินช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน ไม่มีการตัดสิทธิในระบบอย่างเช่น ผู้ที่ถือบัตรคนจน เมื่อเข้ามาทำงานในระบบแล้ว ก็ตัดสิทธิบัตรคนจนออกไป

ระบบนี้จะทำให้รู้เลยว่ามีการช่วยผู้ประกอบการ จ้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว เงินเหล่านี้ผ่านระบบประกันสังคมไปแล้ว จากคนที่ว่างงานไม่มีรายได้ กลายเป็นคนทำงานในระบบได้ ถ้าเป็นแบบนี้ได้คิดว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะจ้างงานเข้ามาในระบบอีกจำนวนมาก ช่วยให้กับเฉพาะเอสเอ็มอี ไม่ต้องช่วยกับธุรกิจรายใหญ่ หรือว่าจะช่วยก็สุดแล้วแต่ ทำให้เขาคิดว่าจ้างเด็กจบใหม่ทำให้มีต้นทุนต่ำ เพราะรัฐบาลช่วย 3-6 เดือน ทำให้คนจนในระบบ คนไม่มีรายได้ในระบบ ที่รอเงินเปล่าๆ จากรัฐบาล จะกลายเป็นคนมีอาชีพเข้ามาในระบบประกันสังคม จะได้ตัดสิทธิที่ได้รับต่างๆ ออกให้หมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image