รายงานหน้า2 : เสียงจากร้านอาหาร ยุคนั่งกิน25%-วอนรัฐแก้ถูกทาง

หมายเหตุเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารชื่อดังถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (โควิด-19) ระลอก 3 ตามคำสั่งของ ศบค.

สิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล
เจ้าของกิจการ ร้านอาหาร’รสดีเด็ด’

ในช่วงโควิดเข้ามาระลอกแรก ประชาชนยังพอมีเงินจับจ่าย เราปรับตัวได้ค่อนข้างไว ผลกระทบไม่ค่อยเจอ เพราะปรับเป็นดิลิเวอรี ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นประกาศบ่ายโมง 5 โมงเย็น เราปรับร้านได้ทันทีเพราะคุยกับลูกน้องที่ร้านตั้งแต่มกราคม ที่อู่ฮั่นเริ่มระบาด
พอเปิดให้เริ่มนั่ง มีการทำฉากกั้น เว้นระยะห่าง ร้านเราก็ปรับตัวได้ แต่หลังจาก มิ.ย.63 เป็นต้นมา แนวโน้มผู้ติดเชื้อสัญญาณดูค่อนข้างโอเค ดูดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มเดิน หลายร้านเตรียมพร้อมขายปีใหม่ แต่อยู่ดีๆ มีการประกาศผู้ติดเชื้อระลอก 2 ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างหนัก ผลกระทบรอบ 2 คือโดนปิด เริ่มติดขัด บริเวณที่อยู่คือกรุงเทพฯ ชั้นใน จึงมีผล กระทบค่อนข้างมาก
สิ่งที่เป็นปัญหาของทางร้านมากที่สุด สัญญาณอย่างแรกที่เห็นคือ “เวิร์กฟรอมโฮม” เพราะรอบใน กทม.มีออฟฟิศ สถานที่ทำงานค่อนข้างมาก ทำให้ฐานลูกค้าหายไป 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาที่ประกาศเวิร์กฟรอมโฮมระลอก 2 เริ่มเห็นชัดว่ายอดขายหายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ส่วนดิลิเวอรีในจุดนี้ พอคนเงินน้อยลง การจับจ่ายใช้สอยของคนก็เริ่มลดน้อยถอยลงไป รอบ 2 เริ่มออกอาการอย่างเห็นได้ชัด ร้านนั่งดื่มอีกร้านก็ต้องปิดกลางอากาศ ลงทุนไปตั้งเยอะ ก็ไม่ได้เปิดต่อ พอกลับมาเปิดอีกรอบ สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม
ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นจุดที่เริ่มเห็นอาการได้ชัดเจน ดิลิเวอรีที่เราเคยทำได้ดีในช่วงโควิดรอบแรก กลับไม่เป็นผล เห็นชัดว่าคนไม่มีเงิน ผู้บริโภคน้อยลง การจับจ่ายของลูกค้าต่อหัว ทุกอย่างน้อยลงหมด ประชาชนเริ่มไม่มีเงิน ทำให้ร้านอาหารเริ่มติดขัด
ที่ร้านเปิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ล่าสุดต่อไปอีก 2 เดือน หรืออะไรก็ตาม ภาครัฐไม่ได้ลงมาช่วยผู้ประกอบการ อย่างผม เราเป็นร้านอาหารที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน “ซอฟต์โลน” ลืมไปได้เลย ตลอดระยะเวลาที่มีมา เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ
แต่ พ.ร.ก.ที่ออกมาแบบนี้ ปัญหาคือ เรื่องค่าเช่า ถ้าเราไม่เปิดร้าน ค่าเช่าก็ต้องมีอยู่ และเราเลือกไม่ปลดพนักงานออกตั้งแต่โควิดรอบแรก แม้แต่คนเดียว ใช้วิธีพูดคุยกับพนักงาน ลดเงินเดือนลง 25 เปอร์เซ็นต์
แต่พนักงานยังคงเดิม เพราะเราปิดกิจการลงไม่ได้ ค่าเช่ายังเดิน ลูกน้องก็มีค่าใช้จ่าย เราเข้าไม่ถึงกลไกรัฐ ถ้ารัฐเข้ามาช่วยเรื่องค่าเช่า เรื่องเงินเดือนพนักงาน ร้านก็จะอยู่ได้ เราลำบาก ถ้าให้เราปิดเลย เราปิดไม่ได้
ตอนนี้ ถึงรัฐบาลประกาศให้นั่ง 1 คน ต่อ 1 โต๊ะ ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่คนตีความ ซึ่งผมได้ไปนั่งร้านสุกี้ เห็นเขานั่งโต๊ะเดียวหลายคนได้ จึงทำบ้าง อย่างร้านเรารับได้ 100 คน ก็จะรับลูกค้า แค่ 25 คน เราจะให้ลูกค้านั่งรวมกันเป็นครอบครัว เพราะถ้าเราไม่ทำให้เขานั่งทั้งครอบครัวได้ ลูกค้าก็เลือกที่จะไม่ทาน
ฉะนั้น มาตรการ 25%ในร้าน ใช้ไม่ได้ผลกับร้านอาหาร เพราะตามจริง ค่าเช่าไม่ได้ลดลงเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายปกติก็ยังคงอยู่
ถามว่าตอนนี้ยังไหวอยู่ไหม ถึงไม่ไหวเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ช่วง ม.ค.ก็ประชุมแผนธุรกิจยาวถึงสิ้นปี คิดถึงขั้นล็อกสนิทอย่างอู่ฮั่น แบบซอมบี้บุก ถ้าถึงขั้นนั้นเราต้องมีมาตรการให้ลูกน้องอยู่ในร้านเหมือนเดิม แต่ต้องปิดร้านเพราะเสี่ยง ซึ่งลูกน้องที่นี่ 70 เปอร์เซ็นต์ จะพักอยู่กับผม มีห้องให้อยู่ 30 ห้อง อาหาร 3 มื้อ ห่วงเรื่องลูกน้องติดเชื้อมากที่สุด
ทั้งนี้ การปรับแนวคิดของรัฐบาล โดยหลักการ ผมว่าเขาใช้คนไม่ถูกจุดในการแก้ไขปัญหา ทำไมไม่หาผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ หรือผู้ที่อยู่หน้างานจริงๆ ลงไปจัดการ
ไม่ใช่ให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาแก้ไขปัญหา ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข เพราะคุณไม่เคยรู้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารเจออะไรบ้าง ไม่เคยมีความเข้าใจ ถ้าจะลงมาดู ฟังความคิดเห็นของพวกเรา ว่าเราประสบอะไร เราแค่ต้องการแก้ปัญหาให้ถูกจุดมากกว่า
ดังนั้น ถ้าส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลได้ ร้านอาหาร ผู้ประกอบการทุกวันนี้ “เราเจ็บ” เราเจ็บในสิ่งที่เรารัก เราประกอบธุรกิจร้านอาหาร มันเป็นร้านที่เปิดมา 40-50 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อ-รุ่นแม่ จะปล่อยให้มันตายไป เป็นไปไม่ได้
ปัญหาจะแก้ได้ ถ้าภาครัฐแก้ให้ถูกทาง โดยการใช้คนให้ถูกงาน และรับฟังผู้ประกอบการบ้าง เพราะปัญหา เราเห็น ท่านอาจจะคิดว่าท่านทำถูก แต่ความเป็นจริงพอมาถึงเรา มันผิด

วิชาญ กุหลาบวรรณ
เจ้าของกิจการเบียร์หิมะ & ปัญญาซีฟู้ด เกษตรนวมินทร์

Advertisement

คําว่า 25 % ลูกค้าถามเยอะมาก 1 โต๊ะ 1 คนผมเองก็สับสนเพราะกำกวมมาก ลูกค้าก็บอกว่ามาด้วยกัน รถคันเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน จะให้นั่งกันอย่างไร
ในส่วนของผมตอนนี้ ก็ปรับตัวไป เราจะกั้นเป็นโซน ห้องหนึ่งจาก 20 โต๊ะ ให้ลูกค้านั่งประมาณ 10 โต๊ะ เว้นระยะห่างกันไป ส่วนโซนด้านนอกจะไม่เปิดแอร์ ยอดขายเต็มที่ก็ได้แค่ 25 % นึกภาพออกไหม จาก 100 โต๊ะเคยเต็ม 100 โต๊ะ และก็บอกว่าให้นั่งเหลือแค่ 25 โต๊ะ ยอดขายสูงสุดเราคือ 25 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะน้อยกว่านั้น 10-15 เปอร์เซ็นต์
การทำความเข้าใจยังน้อยมาก ถ้าเกิดบอกให้ชัดไปเลย ว่าครอบครัวเดียวกันนั่งด้วยกันได้ น่าจะดีกว่านี้
ล่าสุดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป 2 เดือน ที่ร้านสั่งอาหารทะเลเข้ามา ก็มีผลมาก เพราะไม่มีความแน่นอน สมมุติวันนี้สั่งปูทะเล สั่งกุ้งมังกร สั่งปลาเก๋า สั่งกั้ง เป็นๆ แพงๆ เข้ามา แล้วปุบปับมาบอกว่า “ห้ามนั่งที่ร้านแล้วนะ” หรือว่านั่งได้ แต่เว้นระยะห่าง ของพวกนี้จะขายยากทันที ไม่มีใครสั่งกุ้งมังกรใส่ถุงกลับไปกินบ้าน ผมก็เลยได้รับผลกระทบเยอะมากกับเรื่องพวกนี้
จึงปรับตัวมาขายข้าวแกง ราคาเราเริ่มต้นที่ 50 บาท รสชาติลูกค้าไม่ต้องห่วง เพราะเรารักษาคุณภาพร้านใหญ่ ของเหลือมา ขายไม่หมด เอาไปขายต่อ “เราไม่ทำ” เพราะจะให้ลูกน้องตักไปให้ครอบครัวที่บ้านกิน ถือเป็นการช่วยลูกน้องด้วย
ในอนาคตก็ยังคงขายข้าวแกงไปก่อน เพราะอย่างน้อยพนักงานยังมีข้าวกิน มีข้าวกลับไปเลี้ยงดูปากท้องคนในครอบครัวได้
ถามว่ากำไรไหม ไม่ได้กำไรอะไร ขายแกง 50 บาท ถ้าได้ก็คงได้ไม่เยอะ เพราะอย่าลืมว่าเรายังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม ค่าเช่ายังเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการมารองรับผู้ประกอบการ เปิดร้านก็ต้องมีแอร์ มีเปิดไฟ ใช้น้ำ ใช้อะไร มันก็ต้องสู้ครับ
ผมว่าในรัฐบาลมีคนที่มีความรู้ ความสามารถ เขามองเห็น แต่ว่าจะช่วย หรือไม่ช่วย เขาจะทำให้เราไปต่อได้ หรือว่าเราต้องหยุดอยู่แค่นี้ ผมว่าเขาฉลาด เขารู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร

ศุภศักดิ์ สุวรรณรัตน์
ผู้จัดการร้านต๋องเต็มโต๊ะ จ.เชียงใหม่

คําสั่ง ศบค.ให้ลูกค้านั่งกินอาหารในร้าน 25% ในส่วนการป้องกันก็กระทบพอสมควร เป็นกันหมดทั่วโลกนะ แต่มาตรการนั่งกิน 25% ใช้ในพื้นที่ระบาดสีแดงเข้ม แต่ตอนนี้เชียงใหม่เปิดนั่งที่ร้านได้แล้ว และมีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม หากต้องเปิดพื้นที่เพียง 25% ก็เพราะมีความจำเป็น
แต่ก็น่าจะมีการผ่อนปรนกันได้บ้างนิดหน่อยตามความเหมาะสม เช่น คนนั่งมาในรถคันเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน บ้านเดียวกัน มากันหลายคน รู้จักกันดีอยู่แล้ว จะมากันพื้นที่ 25% ก็ไม่เกิดประโยชน์ คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะรู้และอยู่ด้วยกันตลอด ก็เว้นตามความเหมาะสม ก็พอ
สำหรับร้านต๋องเต็มโต๊ะ ตั้งแต่เจอวิกฤตโควิด-19 รอบแรกจนถึงปัจจุบัน ก็ได้รับผลกระทบ แต่ครั้งนี้ไม่ได้ถูกสั่งปิดร้านยาวเหมือนรอบแรก เป็นการสั่งปิดในช่วงสั้นๆ
แต่ลูกค้าหลักของร้านตั้งแต่เปิดให้บริการมา คือ นักท่องเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศ ก็ได้รับผลกระทบประมาณ 70% ก็เยอะอยู่
แต่ตอนนี้เปิดให้บริการลูกค้าได้ สถานการณ์ก็ดีขึ้น และเรามีลูกค้าบางส่วนเป็นคนในพื้นที่เชียงใหม่ มาใช้บริการ และสั่งดิลิเวอรีตรงมาเลย เพราะเราไม่เข้าระบบไรเดอร์ แต่ลูกค้าสั่งไรเดอร์มารับอาหารกลับไปเอง
ช่วงนี้ก็ต้องทำใจ ทนกันหน่อย ไหวหรือไม่ไหวก็ต้องไหว ขอแค่รัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เช่น พนักงาน หรือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบและปิดไปเยอะ ก็ต้องช่วยเขาหน่อย ที่ผ่านมารัฐก็ทำพอสมควรแล้ว แต่อยากให้ดูหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา เพื่อช่วยๆ กัน
สำหรับทางร้านเราใช้วิธีการหมุนเวียนพนักงานมาทำงาน หรือลดเวลาลง แต่ให้ทุกคนได้มีอาชีพ วันไหนไม่ได้เข้างาน ยังสามารถมากินข้าวที่ร้านได้ เป็นการช่วยเหลือกันไป เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้

Advertisement

เสน่ห์ สมศรี
เจ้าของ ร้านคุณตุ๊ก (เจ้าเก่า) อีสานคลาสสิคชลบุรี จ.ชลบุรี

ถือว่าโชคดีที่ จ.ชลบุรี ได้ปรับพื้นที่จากสีแดงเข้มเป็นสีแดง ทำให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารได้โต๊ะละไม่เกิน 4 คน อย่างไรก็ตาม ยังต้องเน้นในเรื่องการเว้นระยะห่างประมาณ 1-1.5 เมตร ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้มีการปฏิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด
แต่ก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้จะเปิดให้นั่งรับประทานได้ แต่ประชาชนยังไม่ยอมออกมานั่งรับประทานอาหารกัน เนื่องจากการแพร่ระบาดยังมีอยู่มาก ทั้งที่ตลาดใหม่ชลบุรี ที่มีคนต่างด้าวติดโควิด-19 โรงงานอุตสาหกรรมที่ทางจังหวัดชลบุรีสั่งปิดไปแล้วถึง 3 โรงงาน จากการที่มีการตรวจเชิงรุก ต้องยอมรับว่าประชาชนกลัวกันมาก ส่วนใหญ่ก็จะมาสั่งและนำกลับไปรับประทานที่บ้าน
ทางร้านก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด และต้องดูแลลูกจ้างอีกด้วย โดยทางร้านจะลดราคาค่าอาหาร 10 % หากเป็นลูกค้าขาประจำและมีบัตรสมาชิก แจกน้ำดื่มทุกออเดอร์ที่สั่งเข้ามาแต่ละชุด
รวมทั้งให้รถจักรยานยนต์รับจ้างไปส่งให้กับลูกค้าถึงหน้าประตูบ้าน โดยลูกค้าจ่ายค่ารถเอง ทำให้ช่วงนี้การค้าขายลดไป 60-70 เปอร์เซ็นต์
การระบาดโควิด-19 รอบ 3 ยอมรับว่าแรง ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ วัคซีนที่ฉีดก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเอาอยู่ เพราะเข้ามาหลายสายพันธุ์ ทำให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ หยุดเชื้อเพื่อชาติ ต้องอยู่กับบ้าน ช่วงนี้ทุกคนกลัวกันหมด
จึงไม่กล้าออกมานั่งรับประทานในร้านกันเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงร้านอาหารอีกหลายแห่ง ในฐานะเลขานุการสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร บางร้านยังไม่ได้เปิดเลยทั้งที่มีลูกจ้างนับร้อยคน
ส่วน จ.ชลบุรียังได้รับอานิสงส์จากเยียวยาตามมาตรา 33 ที่ส่งประกันสังคม ยังได้รับเงินเยียวยาคนละ 3,000-4,000 บาท ก็ต้องขอบคุณ นาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ช่วยผลักดัน ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image