แฟลชสปีช : ‘ยุบสภา’ไม่มาไม่ถึง

หลัง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่ตีความกฎหมายเพื่อชี้นำวิธีปกป้องรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร ตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่า หากสภาโหวตให้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ตกไป ต้องยุบสภาหรือไม่ ว่า “ใช่ ถูก โดยธรรมเนียม”

การเมืองก็เข้าสู่กระแส “จะยุบสภาหรือไม่”

กระแสหนึ่งเห็นว่าเป็น “คำขู่” เนื่องจากรู้กันอยู่ว่า ยุบสภาหมายถึงการจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งกันใหม่

แต่อีกกระแสหนึ่ง เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกที่เกิดขึ้นจริง

Advertisement

กระแสไหนคือความเป็นไปได้

เรื่องนี้หากมองจากพื้นฐาน “อำนาจการยุบสภาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี”

เป็นที่รับรู้กันว่า จังหวะที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภานั้น ต้องเป็นช่วงที่ประเมินแล้วว่าตัวเองได้เปรียบในกระแสที่จะส่งผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหลังจากนั้น โอกาสที่จะชนะและกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกมีสูงกว่า

Advertisement

หรือไม่ก็จะเป็นว่า การอยู่ต่อไปยากลำบากเกินกว่าจะรักษาสถานะไว้ได้

หากเอาความน่าจะเป็นดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการประเมิน จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปเช่นนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ไม่อยู่ในฐานะได้เปรียบ หากยุบสภา โอกาสที่จะถูกถล่มหนักในช่วงหาเสียงมีสูงมาก และนั่นหมายถึงพรรคที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามมีสิทธิท่วมท้นที่จะชนะ จึงเป็นความเสี่ยงเกินไปสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากหวังว่าจะกลับมามีอำนาจได้อีกหลังการเลือกตั้ง

และหากมองในมุมว่าการอยู่ต่อไปจะเป็นแบบถูลู่ถูกัง ต้องเผชิญแรงต้านหนักและรุนแรงจนสุดท้ายไปไม่รอด ซึ่งยุบสภาอย่างไรเสียก็ดีกว่า เพราะโอกาสยังพอมี หรือเป็นการถอยที่ไม่บาดเจ็บเกินไป

จะเห็นได้ว่า วันนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” แม้จะถูกต่อต้านและโจมตี เข้าสู่โซนสถานการณ์เลวร้ายขนาดนั้น

กติกาโครงสร้างอำนาจรัฐทุกระดับยังเอื้ออำนวยให้อย่างเต็มที่, กลไกการจัดการต่างๆ ยังพร้อมที่จะรับใช้ ไม่แปรพักตร์ เปลี่ยนภักดีไปเป็นอื่น

ในส่วนของรัฐสภา อย่าว่าแต่ฝ่ายรัฐบาลที่เสพสุขอยู่ในอำนาจวาสนาเลยที่จะอกสั่นขวัญแขวน ที่ต้องหาทางไม่ให้การยุบสภาเกิดขึ้น แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่นึกถึงความยากลำบากที่จะต้องกลับไปหาเสียงเลือกตั้ง ย่อมอดไม่ได้ที่จะนึกว่า ที่อยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว

จะเว้นก็แต่ฝ่ายค้านที่มองเห็นโอกาสเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจหลังเลือกตั้ง และเกิดความฝันว่าจะได้ตำแหน่งแห่งหนในอำนาจที่เปลี่ยนมา

หากมองว่า “พลังมวลชน” จะกดดันรุนแรงและเร่าร้อน จนการอยู่ในอำนาจน่าจะเป็นอันตราย ทำให้ชีวิตเดือดร้อนมากกว่า เอาเข้าจริงไม่เป็นอย่างนั้น

แม้จะมีกระบวนการต่อต้านที่สาระหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยิ่งนับวันยิ่งชัดเจนว่าไม่มีพลังพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

สถานการณ์ด้านต่างๆ ดูจะเอื้อให้ “มวลชนอ่อนพลัง” เสียมากกว่า

อีกทั้งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ลึกจนยากจะเห็นดีเห็นงามไปด้วยกันได้ และดูเหมือนในฟากหนึ่งของความขัดแย้ง ที่สุดแล้ว ยังไม่มีใครที่จะเป็นตัวเลือกแทน พล.อ.ประยุทธ์

ความขัดแย้งที่สร้างความเกลียดชังในฝ่ายที่เห็นต่าง

ทำให้ “ทนไม่ได้ที่จะให้ฝ่ายที่เกลียดชังได้อำนาจ” มีอิทธิพลต่อการเลือกมากกว่า “ความเป็นห่วงว่าจะหายนะเพราะการบริหารงานเหมือนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรสักอย่าง”

“ยุบสภา” แม้จะเป็นคำตอบของประชาชนที่ห่วงใยประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ทางออกที่เป็นคำตอบของผู้มีอำนาจ

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image