รายงานหน้า2 : ความกังวลแผนบริหาร การกระจาย‘วัคซีน’

หมายเหตุนักการเมือง-ภาคเอกชน แสดงความคิดเห็นต่อแผนการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ระหว่างศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กับกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลต่อการ กระจายฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ตอนนี้ไม่มีการเมืองเบื้องหลังแล้ว เพราะมีแต่การเมืองอยู่เบื้องหน้าแล้ว เบื้องต้นมีความขัดแย้งแน่ๆ อยู่แล้ว เป็นเรื่องความขัดแย้ง และความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ เช่น การลงทะเบียนวัคซีนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อมาทาง กทม.ก็มีระบบ “ไทยร่วมใจ” ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่เปิดลงทะเบียนวันแรก แต่กลับได้ฉีดวัคซีนก่อนคนที่ลงทะเบียน “หมอพร้อม”
จึงเกิดคำถามว่ามีระบบการจัดความสำคัญอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดสต๊อกวัคซีนจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ ในการจัดสต๊อกการกระจายวัคซีนว่าพื้นที่ใดควรได้ก่อน และได้จำนวนเท่าใด ซึ่งวางยุทธศาสตร์ดังนี้ คือ 1.กลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มเสี่ยง และบุคลากรด่านหน้า เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญลำดับที่ 1 ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนใคร และ 2.พื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการระบาด เช่น แหล่งชุมชนแออัด การเคลื่อนย้ายประชากรมาก เมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม และสถิติการติดเชื้อ
ปัญหาคือ “หมอพร้อม” เป็นระบบที่ไม่เหมาะกับการทำนายและจัดสต๊อกวัคซีน ด้วยจำนวนคนที่ลงทะเบียนมากนั้นทำให้ สธ.ไม่มั่นใจว่าจำนวนที่ลงทะเบียนมาเป็นอุปสงค์ที่แท้จริงหรือไม่ จึงเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดที่ไม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ได้ปริมาณวัคซีนมากกว่าจังหวัดที่มีความจำเป็นมากกว่า อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คนที่ลงทะเบียนทิพย์ไม่มาฉีดวัคซีน และเกิดล้นสต๊อก ส่วนจังหวัดที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเยอะ กลับไม่ได้วัคซีน ต่อมาก็มี “ไทยร่วมใจ” ที่คนลงทะเบียนทีหลังได้ฉีดก่อน
ความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น อาจจะสะท้อนว่า คนคิดแผนอาจจะอยู่กันคนละกลุ่มไลน์ เกิดทะเลาะกันและขาดเอกภาพ แต่คนซวยคือประชาชน ทำให้การกระจายวัคซีนขาดยุทธศาสตร์เป็นแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดระบบเส้นสาย ระบบพรรคพวก ทุกอย่างจึงพัง
โดยระบบวอล์กอินต้องตามมาทีหลังและจะต้องมีสต๊อกจำนวนมากและเพียงพอ เพื่อให้สามารถเผื่อวัคซีนไว้ตามจุดต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันเรามีวัคซีนพอที่จะเผื่อแบบนี้ได้หรือไม่ ดังนั้น หากมีไม่เพียงพอก็สต๊อกวัคซีนไม่ได้ และหากระบบการจัดการไม่ดีพอก็จะเกิดการแออัดที่อาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ก็ได้ นอกจากนี้ ก็อาจจะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะล่าสุด กทม.ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมระบบจนเกิดการขายบัตรคิวฉีดวัคซีนขึ้น
นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 ที่มีการรวบอำนาจการตัดสินใจเรื่องการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนายอนุทิน ชาญวีรกูล มีอำนาจจำกัด พล.อ.ประยุทธ์ก็มักจะให้ความสำคัญกับ ศบค.ศปก. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น ผอ. เป็นการให้น้ำหนักกับฝ่ายความมั่นคงมากกว่าฝ่ายสาธารณสุข คือ นายอนุทินแทบจะไม่เหลืออำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ มีเพียงอำนาจการบริหารงานประจำวัน คือเหลือบทบาทน้อยมาก แต่หลายครั้งนายอนุทินกลับถูกสื่อตั้งคำถามเรื่องการบริหารโควิด-19 ซึ่งในใจนายอนุทินคงอยากจะบอกว่าให้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ สิ เพราะนายอนุทินไม่เหลืออำนาจแล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังๆ นายอนุทินก็ตอบคำถามสื่อแบบกระอ้อมกระแอ้ม ไม่สามารถให้คำมั่นอะไรได้ ลึกๆ เรื่องความเข้าใจในเรื่องสายบังคับบัญชา และขอบเขตอำนาจหน้าที่ ทำให้ผมก็เข้าใจ และเห็นใจนายอนุทิน อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบนายอนุทินอย่างแข็งขันต่อไป วันนี้สื่อจะต้องหันไปถาม พล.อ.ประยุทธ์แทน ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 และการ กระจายวัคซีน
นายอนุทินจึงเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะต้องถูกด่าและรับเผือกร้อน ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำงาน แต่พอมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น หรือสถานการณ์คลี่คลายลง พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่ามีความสามารถแก้ปัญหาได้กลายเป็นว่าได้เครดิตไปเลย สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ส่วนนายอนุทินก็เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง นอกจากนี้ ยังมีขบวนการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เสี้ยมให้การทำงานและการตรวจสอบของผมกับนายอนุทิน เป็นความขัดแย้งรุนแรง ทั้งที่ผมทำหน้าที่ตามปกติ และความจริงคู่ขัดแย้งของนายอนุทิน คือ พล.อ.ประยุทธ์
วันนี้เราต้องนำวัคซีนมาให้ได้เร็วที่สุด มีจำนวนที่เพียงพอ และมีวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นด้วย ส่วนจะทะเลาะกันอย่างไรก็เป็นเรื่องของคุณ แต่วันนี้อย่านำเรื่องการทะเลาะกันมาทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งนี้ ก็ต้องถามนายอนุทินว่าจะยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ขี่แบบนี้ต่อไปหรือไม่ และทุกวันนี้ที่อยู่ร่วมรัฐบาลนายอนุทินได้อะไร คืออยู่ไปก็เป็นแพะรับบาป อย่าเรียกว่าร่วมรัฐบาลเลย เป็นเพื่อนแบบนี้ก็เลิกคบแล้ว เพราะเวลามีปัญหาก็ทิ้งและโทษกัน

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

Advertisement

ขณะนี้ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลอยากให้กระจายให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทะเบียนแล้ว เพราะการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงฉีดให้คนไทย 70% ภายในปีนี้ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขับเคลื่อนไปได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ ในประเทศสำคัญที่มีการฉีดทั่วถึง ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ
สำหรับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยอมรับว่าเวลานี้คลายความกังวลอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันวัคซีนทางเลือกมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยถอดใจ เดินหน้ามาตลอด โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ผม และผู้บริหาร ส.อ.ท. ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผลักดันให้เกิดการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพื่อคนไทยที่มีความต้องการและพร้อมจ่าย โดยมีการลงนามความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา เวลานี้การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประสบความสำเร็จในการเตรียมนำเข้าวัคซีนยี่ห้อซิโนฟาร์ม จึงเป็นข่าวดีอย่างมากสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมา ส.อ.ท.มีความต้องการวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้กับแรงงานในระบบประมาณ 1 ล้านคน เอกชนพร้อมจ่าย จึงได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการจัดหา เบื้องต้นคาดว่าล็อตแรกที่จะนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านโดส น่าจะแบ่งให้ ส.อ.ท.ได้ประมาณ 3 แสนโดส ขณะที่ราคารวมค่าประกันและอื่นๆ ทั้งหมด น่าจะอยู่ที่โดสละประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ความต้องการวัคซีนในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องยนต์หลักเครื่องยนต์เดียวในการผลักดันเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออก ขณะที่ภาคการค้า บริการ ยังสะดุด ภาคการท่องเที่ยวหยุดนิ่ง ดังนั้น ความหวังจึงกลับไปที่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกจึงต้องระมัดระวังไม่ให้พนักงานโรงงานติดโควิด-19 หากติดเพียง 1 คน จะกระทบสายการผลิตทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อาหารแปรรูปมีความอ่อนไหวมาก บวกกับปัจจุบันการตรวจโรงงานจากลูกค้าต่างชาติก็ตั้งคำถามถึงการฉีดวัคซีน จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการประเมินแล้วว่าแม้จะเสียเงินปริมาณมากกับวัคซีนทางเลือก แต่คุ้มค่ากว่าและปลอดภัยที่สุดในเวลานี้
สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ผลิตโดยรัฐวิสาหกิจของจีน ฉีดให้คนจีนแล้วคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการฉีดทั้งประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจ เป็นวัคซีนที่ไทยควรนำเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก และไทยควรหาวัคซีนหลากหลายยี่ห้อมาตุนไว้ให้มากที่สุดแล้วกระจายฉีดทั่วประเทศ เหลือดีกว่าขาด หลายประเทศตุนเผื่อความต้องการจริง 2-3 เท่า เพราะหากไม่ได้ใช้อาจนำมาใช้กระตุ้นการท่องเที่ยว ฉีดให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทย กำหนดวันกักตัวให้ชัดเจน หรืออาจนำวัคซีนที่เหลือไปใช้ทางการทูตช่วยเหลือประเทศที่ติดชายแดนไทย

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ในเรื่องของการจัดระเบียบวัคซีนที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าการทำงานจะไปคนละทิศละทาง โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 จากเดิมที่ให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม แต่ตอนนี้มีการปรับใหม่ให้ไปลงทะเบียนผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น และเครือข่ายโทรศัพท์แทน รวมถึงกรุงเทพมหานครเอง ยังเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ไทยร่วมใจ ยิ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเข้าไปอีก ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของระบบการลงทะเบียนจะยิ่งสร้างความล่าช้าในขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐไม่ได้มีการพัฒนาระบบแต่เป็นการเปลี่ยนระบบใหม่โดยไม่ได้คำนึงถึงผลในอนาคต อีกเรื่องที่กังวลคือ ความชัดเจนของผู้ที่มีการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมไว้แล้ว หากต้องมีการลงทะเบียนใหม่จะเกิดความซับซ้อนขึ้นหรือไม่ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงรายละเอียดในส่วนนี้ เพื่อลดความสับสนให้กับประชาชนด้วย
อีกทั้งในการลงทะเบียนหมอพร้อม บางรายที่ลงทะเบียนไปแล้วส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกทุกวัน หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่มีความต้องการในการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการ และบริหารเรื่องการฉีดวัคซีนตามความเหมาะสมให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะรูปแบบที่เปลี่ยนใหม่ หรือการให้เครือข่ายมือถือ และเซเว่นฯ เป็นผู้เปิดรับลงทะเบียนเท่านั้น ไม่สามารถระบุหรือแยกได้ว่าใครมีความเสี่ยงสูง ต่ำ
นอกจากนี้ ในเรื่องของการบริหารวัคซีนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะกระจายไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเห็นด้วยกับแผนการดำเนินการดังกล่าว แต่อยากให้คำนึงถึงพื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมการผลิต หรือต้องช่วยพยุงให้ภาคธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจากภาคท่องเที่ยวและบริการด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ก็มีส่วนในการช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เช่นเดียวกัน หากยังไม่มีการกระจายฉีดให้ครบทั่วประเทศยังไงความกังวลก็ยังคงอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบทั้งประเทศโดยเร็วที่สุดต่อไป
ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ไม่เพียงแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเพียงอุตสาหกรรมเดียว ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบ และมีความต้องการในการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วเช่นกัน จึงอยากให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนมาให้อุตสาหกรรมเหล่านี้บ้าง อย่ามองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทันที ตอนนี้อยากให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีน หรือไม่ก็ควรมีการอนุญาตให้เอกชนเข้าถึงวัคซีนทางเลือก เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคคลในองค์กรได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งในส่วนนี้ภาคเอกชน รวมถึงภาคธุรกิจยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายเอง
ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมเจอในขณะนี้คือ ก่อนหน้านี้ได้มีการลงทะเบียนของวัคซีนผ่านหมอพร้อมไป แต่ถูกตีกลับเนื่องจากยังไม่เข้าข่ายผู้มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรค และสำนักงานประกันสังคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความต้องการเรื่องวัคซีนภายในโรงงาน เบื้องต้นเมื่อมีวัคซีนเข้ามาสำหรับกลุ่มนี้แล้วจะให้แรงงานออกไปฉีดนอกโรงงาน แต่ทางผู้ประกอบการอยากเสนอว่าให้ทางภาครัฐหาวัคซีนมาให้ ส่วนในเรื่องของบุคลากรต่างๆ ทางภาคเอกชนจะเป็นผู้ประสานเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด หรือความแออัดในสถานที่ฉีดวัคซีนที่ทางภาครัฐได้จัดเตรียมไว้ให้ เพราะตอนนี้ในหลายโรงงานยังไม่พบการติดเชื้อ หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจนส่งผลให้มีการติดเชื้อ อาจเกิดปัญหาในเรื่องของการผลิตได้
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนี้ มองว่าภาครัฐต้องเร่งผลักดันภาคการส่งออก เพราะหลายองค์กร อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น มองว่าภาคการส่งออกถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นจีดีพีของประเทศให้เติบโตได้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฟื้นตัวได้ดีกว่าภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ตอนนี้ไม่ได้มีความกังวลเรื่องช่องทางการลงทะเบียนหลากหลาย แต่มีความกังวลเรื่องความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน กับจำนวนของวัคซีนที่จะมามากกว่า เรื่องกระบวนการจัดการมีการปรับเปลี่ยนให้รวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี การเลื่อนลงทะเบียนจองวัคซีนทาง “หมอพร้อม” เข้าใจว่าเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการการกระจาย
วัคซีน ให้แต่ละจังหวัดมีการบริหารจัดการกันเอง คนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนในหมอพร้อมแล้ว ก็ยังคงได้ฉีดวัคซีนตามคิวที่ได้ แต่ถ้ามีการปรับเปลี่ยนไปช่องทางอื่น คนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ชื่อจะตามไปที่ช่องทางตัวใหม่ด้วย
ทางหอการค้าไทยได้ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร ออกมาในชื่อว่า “ไทยร่วมใจ” เพื่อจัดเตรียมสถานที่รองรับการฉีดวัคซีน โดยให้ประชาชนลงทะเบียนการฉีดวัคซีนผ่านทางเว็บไซต์ ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจให้เป็นโมเดลตัวอย่างว่าเมื่อมีวัคซีนจำนวนมากแล้วจะบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงได้เร็ว เชื่อว่าในต่างจังหวัดจะนำระบบนี้มาใช้เหมือนกัน
ช่องทางไทยร่วมใจที่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 1.4 ล้านคน ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ประชาชนตอบรับออกมาในทางที่ดี ลงทะเบียนได้ครบ ระบบไม่ล่ม ไม่ได้ติดขัดอะไรมากมาย สามารถเลือกวัน เวลา สถานที่
ในการฉีดวัคซีนได้ตามความสะดวก ทำให้ภาพรวมขั้นต้นเป็นไปได้ด้วยดี ต่อมาในขั้นกลางการบริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ตรวจประวัติ ฉีดวัคซีน นั่งพัก ยังคงมีการติดตามดูกระบวนการอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ประชาชนลดความกังวล กล้าออกมาใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะกลับมาในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประชาชนมีความตื่นตัวในการฉีดวัคซีนเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนช่วงเดือนที่แล้วที่ประชาชนมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ตามข่าวที่ออกมาว่าเมื่อฉีดแล้วจะมีอันตรายถึงชีวิต เป็นการออกข่าวในด้านลบ แล้วประชาชนหลงเชื่อได้ง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วจะเกิดอันตรายต่อชีวิตได้เพียงหนึ่งในล้านเท่านั้น ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแก้ไขข่าว สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับประชาชน ถึงตอนนี้เห็นว่าประชาชนยอมรับการฉีดวัคซีน ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้เดินหน้าต่อได้
ส่วนการเลื่อนส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คิดว่ายังอยู่ตามกรอบการส่งมอบภายในเดือนมิถุนายน ถ้าเลื่อนการส่งมอบวัคซีนไป 1-2 สัปดาห์ คิดว่ายังไม่ติดขัดอะไรมาก แต่ถ้าเลื่อนออกไปมากกว่านั้นก็ต้องเพิ่มความเร่งในการฉีดวัคซีน เพิ่มสัดส่วนในแต่ละจุดแทน ทำให้ไม่เสียเวลากันมาก แต่ขอให้ส่งวัคซีนมาได้ตามแผนหลังจากนี้ที่วางไว้ เพราะกระบวนการในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมีความพร้อมมากแล้ว
บุคลากรที่จะมาฉีดวัคซีนมีความพร้อมอย่างมาก เป็นความร่วมมือระหว่างจุดบริการฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลต่างๆ ทางโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อม แพทย์ พยาบาล พร้อมทั้งรับอาสาสมัคร แพทย์ พยาบาล ที่ได้เกษียณอายุทำงานไปแล้ว มาช่วยฉีดวัคซีนได้ ถือว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะร่วมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image