รายงานหน้า2 : ความเห็นถก‘พรก.กู้เงิน’ โหวตคว่ำ-ต้องยุบสภา

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หาก “พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน” ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาอาจต้องยุบสภา ในสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลถูกพรรคฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนักเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในบทกฎหมายจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีบทบัญญัติในข้อกฎหมายใดที่เขียนว่า รัฐบาลต้องยุบสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา แต่เป็นนิติธรรมเนียม หรือเรียกกันว่าประเพณีปฏิบัติของระบบรัฐสภา เพราะหลักการสำคัญของรัฐสภาคือ ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสมาชิกรัฐสภา และการสร้างความไว้วางใจในรัฐสภามีอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งกระบวนการพิจารณาเรื่องงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความ และเป็นเครื่องมือ
ในการบริหารประเทศชาติที่สำคัญของคณะรัฐบาล
ทั้งนี้ ในเรื่องของ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ซึ่งถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญของงบประมาณที่รัฐบาลต้องจัดการ โดยธรรมเนียมปฏิบัติ หากไม่ผ่าน สิ่งที่ตามมาคือ “รัฐบาลต้องลาออก” เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาให้บริหารเงินส่วนนั้นแล้ว ดังนั้น การที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดอะไรแบบนั้น คงไม่ได้เป็นการขู่อะไร คงพูดตามหลักการ
แต่เผอิญว่าช่วงนี้มีกระแสความไม่ลงรอยของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้มีการโยงความและอาจเกี่ยวข้องกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามถ่วงดุลพรรคร่วมรัฐบาล พูดเพื่อให้รัฐบาลมีความได้เปรียบเรื่องของแกนนำพรรค ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสามารถลดการต่อรองลงได้
ทั้งนี้ ความไม่ลงรอยกันของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลมาจากปมขัดแย้ง อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความคิดเห็นต่างกัน ผมก็ไม่ทราบว่าจะมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงออกว่าไม่พอใจการกำหนด การวางตัวรัฐมนตรีแต่ละฝ่ายในการดูแลราชการ แต่หลักๆ ของปมขัดแย้งคงเป็นความเห็นที่ต่างกันเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด ทุกส่วนก็ยังคงเดินหน้าไปด้วยกันได้ เพราะแต่ละพรรคมีเป้าหมายเป็นการเฉพาะของตัวเอง ในการร่วมรัฐบาลครั้งนี้ อาจเพราะเพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงทำให้เป็นสิ่งที่ทุกพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นไปกันได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในตอนนี้เป็นเรื่องของประเด็นปัญหาโควิด-19 ที่อาจทำให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล และคณะรัฐบาลหมดเสถียรภาพลงได้
โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อมั่นเกินกว่า 70% ที่ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้จะผ่านได้อย่างง่ายดาย ไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน ทั้งในส่วนที่ต้องเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ และใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็เป็นในส่วนที่ต้องเข้าที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา ก็ 3 วาระ และใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเมื่อผ่านทั้ง 2 สภาก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้
แต่สิ่งที่น่ากังวลใจ หาก พ.ร.ก.กู้เงินนี้ผ่านเป็นกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดูได้จากกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตอนนี้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมา 58% และเกือบที่จะถึง 60% แล้ว นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาระยะยาวในเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
นอกเหนือจากที่กล่าวไปทั้งหมด หลายภาคส่วนอาจมีความกังวลในเรื่องของการลากระยะเวลาในการพิจารณาให้เกิน 105 วัน ก็อาจเป็นไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี’60 เขียนกลไกต่อฝ่ายบริหารไว้ค่อนข้างเยอะ และมีการกำหนดไว้ว่า ถ้าเกิน 105 วัน ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้นก็เท่ากับว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และส่งไปที่สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภาก็มีกรอบพิจารณาเพียง 20 วันเท่านั้น ซึ่งถ้า 20 วัน ยังไม่ได้มีการพิจารณาอะไรอีกก็จะถือว่าเห็นชอบ

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

Advertisement

เป็นการพูดในลักษณะมัดมือชก สร้างแรงกดดันไปยังนักการเมือง และบอกทุกคนว่า ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วหาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่าน เป็นเรื่องสปิริตที่แสดงออกง่ายมากด้วยการที่รัฐบาลลาออก ไม่ต้องไปยุบสภา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป
ดังนั้น การพูดเช่นนี้จึงเป็นการโยนภาระให้ ส.ส. เพื่อให้สังคมเห็นว่าหาก พ.ร.ก.ผ่านไปได้ก็มาจากนักการเมือง จาก ส.ส.ทั้งสิ้น รัฐบาลไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ นี่คือนัยยะของความหมายที่รองฯ วิษณุ เครืองาม พยายามย้อนกลับไป และเบี่ยงเบนกระแสความสนใจต่างๆ ในรายละเอียดของงบประมาณที่หลายคนกำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ โดยเฉพาะงบกระทรวงกลาโหม ซึ่งแน่นอนว่ายังได้มากกว่า “กระทรวงสาธารณสุข” ในเวลานี้
เท่ากับว่า รองฯวิษณุเอาตนเองเป็นหนังหน้าไฟ ยอมรับต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว คนที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศอย่างรองฯวิษณุนั้น คงไม่ยอมเอาตัวเองมาให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ฟรี โดยไม่มีนัยยะทางการเมือง
ผมคิดว่ายังไม่ถึงภาวะที่จะต้องไปสู่การยุบสภา ทุกคนบอกว่าสภาวะตรงนี้รัฐบาลต้องหาทางผลักดัน เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา หรือหาวัคซีนเพื่อรองรับตอบสนองประชาชนเสียก่อน
เป็นที่น่าสนใจว่า ณ เวลานี้ สายตาของคนไทยโฟกัสไปที่เรื่องของวัคซีนมากกว่าเรื่อง พ.ร.ก.หรืองบประมาณกู้เงินทั้งหมด แม้จะมีการออกมาโจมตีหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่กระแสตรงนี้ไม่สามารถหันเหความสนใจไปจากเรื่องมาตรการแก้ปัญหาโควิด โดยที่รัฐบาลจะต้องรีบผลักดันแก้ไขปัญหาให้ได้เสียก่อน
ผมเชื่อว่า อย่างไรแล้วคงผ่านไปอย่างง่ายดาย อาจจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง ในเรื่องสัมพันธภาพระหว่างการหาวิธีแก้ไขปัญหาโควิด พรรคภูมิใจไทย หรือพลังประชารัฐ ที่ออกมาวิวาทะผ่านกันไปมาตามสื่อ แต่ทั้งหลายทั้งปวงคิดว่ายังไม่มีใครพร้อมจะนำไปสู่การแตกหักถึงขั้นยุบสภา คิดว่าภาพตรงนี้จะไม่เกิดขึ้น
คุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างประคับประคองภาวะตรงนี้ไปก่อน แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ควรจับตามองในขณะนี้คือ ในเรื่องสัมพันธภาพ ระหว่าง “พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์” ในลักษณะความสัมพันธ์สามเหลี่ยมเช่นนี้ โดยเฉพาะพลังประชารัฐ แน่นอนว่าในภาวะแบบนี้จะต้องประคับประคองไปก่อน แต่อาจจะมีการหยิกแกมหยอกทางการเมืองพอหอมปากหอมคอ คิดว่าคงไม่มีอะไรน่ากังวล
อย่างไรก็ดี ประโยชน์มากที่สุดของประชาชนคือการติดตามดูการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านที่จะมาตีแผ่ เปลือยงบประมาณ และข้อมูลโครงการบางอย่างที่รัฐพยายามออกโดยไม่มีความจำเป็น ดังที่ฝ่ายค้านเคยตักเตือนก่อนหน้านี้แล้วว่า เหตุใดงบประมาณกระทรวงกลาโหมจึงมีมากกว่างบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในภาวะแบบนี้งบสาธารณสุขควรจะได้รับเพิ่มให้มากที่สุด เพราะมีความจำเป็นมากที่สุด แต่ฝ่ายค้านได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะอภิปรายเรื่องอะไร
นี่ต่างหาก ประชาชนจึงต้องคาดหวังการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน เพื่อตีแผ่ข้อมูลความจริง โดยไม่มีเฟคนิวส์ อารมณ์ หรือจินตนาการมาประสม หากมีข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อมีกระแสสังคมที่ประชาชนตัดสินไปแล้วว่าข้อมูลฝ่ายค้านน่าจะมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ ก็จะเกิดการกดดันไปที่รัฐบาล ในการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image